Saturday Playground: ชวนศิลป์-วิทย์ คิดข้ามสาย

วิทย์และศิลป์ เป็นคำจำกัดความของสายการเรียนในระบบการศึกษาที่เราคุ้นชินกันดี ในความคุ้นชินที่แทรกซึมในชีวิตและความเข้าใจที่มีอยู่ เรามักจะเข้าใจว่า วิทย์และศิลป์เป็นสายการการเรียน สายอาชีพ สายการทำงาน ไล่ไปจนถึงสายธารของความรู้ที่แตกต่างและเป็นคู่ตรงข้ามของกันและกัน ภาพจำของความรู้ฝ่ายวิทย์และฝ่ายศิลป์ไม่สามารถสอดประสานเดินไปด้วยกันได้แม้แต่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การแบ่งแยกวิทย์และศิลป์ในระบบการศึกษา พึ่งเกิดขึ้นในยุคใหม่ของยุโรปเมื่อ 150-200 ปีที่แล้ว จุดประสงค์ของการแบ่งแยกในอดีตที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากความต้องการเห็นมนุษย์มีพัฒนาการไปเป็นมนุษย์ที่เชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งที่แตกต่างกัน ระบบการศึกษาจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นวิทย์และศิลป์ นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

โลกในศตวรรษที่ 21 ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนโลกอย่างเป็นนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกอย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นการดัดแปลงพันธุกรรม ตัวอย่างเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่กล่าวให้เห็นนี้ มากพอที่จะยืนยันได้ว่าโลก สังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของมนุษย์ต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในแง่ที่ส่งเสริมและทำลาย หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ในศตวรรษที่ 21 ชีวิตมนุษย์ได้ผูกติดกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรมไปแล้วโดยปริยาย ประกอบกับความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มพูนความซับซ้อนอย่างทวีคูณในการทำความเข้าใจ รวมถึงความซับซ้อนทางสังคมที่ประสานอยู่ในเครือข่ายของโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คงเป็นไปไม่ได้ หากจะอาศัยเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเพื่อใช้เป็นฐานคิดในการอธิบายปรากฏการณ์และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันและเพียงพอ จริงอยู่ที่ว่าความรู้ที่ขับเคลื่อนโลกอย่างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีนัยสำคัญ แต่หากไร้ซึ่งการทำความเข้าใจมนุษย์และสังคมอย่างลึกซึ้งแล้ว ความรู้มหาศาลที่มีอยู่ในมือมนุษย์ก็ไร้ซึ่งความหมายเช่นกัน

คำถามที่เกิดขึ้น คือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของคนข้ามศาสตร์ นับเป็นเรื่องดีไม่น้อย หากมีนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ความเชิงเทคนิค (technical) และทักษะแบบแข็ง (hard skill) แต่มีความเข้าใจมนุษย์และสังคมในระดับที่ลึกซึ้ง และมีนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เปิดกว้างและพร้อมเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างพื้นที่สำหรับชักชวนกันขบคิดถึงความเป็นไปได้ของปัญหา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และเครือข่าย STS Cluster Thailand จึงได้ร่วมมือกันจัดงาน Saturday Playground: ชวนศิลป์-วิทย์ คิดข้ามสาย ขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 13.00-16.00 น. ห้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ชั้น 14 อาคารจตุรัสจามจุรี ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ

ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ บุคลากรหน่วยงาน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มบุคลากรหน่วยงาน ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และ ศิลปกรรมศาสตร์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานข้ามศาสตร์ หรือ สนใจการทำงานข้ามศาสตร์

งานนี้เริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดยเจ้าภาพร่วมคือ ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อํานวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และ รศ.ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ ‘มุมมองข้ามสาย’ โดย ดร. แทนไท ประเสริฐกุล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Witcast และ ดร. ธารทอง แจ่มไพบูลย์ นักภาษาศาสตร์ภาษาไทย และสำหรับกิจกรรมโดดเด่นของงานนี้ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยก็คือกิจกรรมเวิร์คชอป World Café ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อระดมสมอง ร่วมกันขบคิด และทลายกำแพงวิทย์-ศิลป์ และในกิจกรรมเวิร์คชอป World Café กลุ่มเป้าหมายได้เสนอและเชื่อมความคิดสู่หนทางก้าวข้ามสายใน 3 ประเด็น

World Café ศิลป์-วิทย์ ทำไมต้องคิดข้ามสาย

ประเด็นแรก:

“งาน” กับ “ความเข้าใจข้ามศาสตร์” และวาระการพัฒนาที่ต้องการของการทำงานต่างศาสตร์

ผู้เข้าร่วมเริ่มต้นประเด็นแรกด้วยการล้อมวงขบคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง งาน และ ความเข้าใจข้ามศาสตร์ ประเด็นแรกนี้เริ่มต้นด้วยคำถามสุดท้าทายอย่าง

ในการทำงานต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจต่างสายอย่างไร หรือในลักษณะใดบ้าง?

ต่างคน ต่างคิด ต่างเขียน จนพบว่า ลักษณะงานในปัจจุบัน บังคับให้เราต้องเชื่อมโยงความรู้จากหลากหลายสาขามากขึ้น เช่น ความแตกต่างทางกระบวนการระหว่างวิทยาศาสตร์ กับสังคมวิทยา โดยวิทยาศาสตร์อาจมีอุปสรรคที่ขั้นตอนการปฏิบัติ ที่ต้องอาศัยเหตุผลเชิงตรรกะ แต่ด้านสังคมวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องเชิงบุคคล ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาในการอ่านพฤติกรรมมนุษย์ หรืองานของนักแปลภาษา ที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือขยายกรอบความรู้ ไปตามโจทย์ของงานที่ได้รับมา และ ผู้ร่วมเสวนายังเล็งเห็นตรงกันว่า การบูรณาการข้ามศาสตร์ไม่ใช่ปัญหา เพราะในความเป็นจริงหลายอย่างต้องการความรู้หลายๆศาสตร์มาช่วยกันแก้ไขอยู่แล้ว แต่เป็นที่กลไกและระบบที่ยังไม่อำนวยพื้นที่ หรือสนับสนุนให้การข้ามศาสตร์ เกิดขึ้นได้อย่างเป็นหลักแหล่งและต่อเนื่อง จึงนำไปสู่คำถามที่สอง

กลไกและแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ข้ามศาสตร์สหวิทยาการในระดับต่าง ๆ ควรเป็นอย่างไร?

ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันจนได้มาซึ่งปัญหาของกลไกและระบบเห็นว่ากลไกในระดับโครงสร้างของหลาย ๆ ระบบ (ในที่นี้คือระบบการศึกษา) คือตัวปิดกั้นไม่ให้มีพื้นที่ในการข้ามศาสตร์ เช่น การกำหนดว่างานนี้ต้องการแค่คนศาสตร์นี้เท่านั้น การใช้เกณฑ์จากส่วนกลางมาชี้วัดตัวผู้ศึกษา ซึ่งกลายเป็นการสร้างกรอบมาครอบตัวผู้ศึกษา ให้เรียนรู้ตามแบบแผนที่กำหนดโดยอาจารย์ผู้สอน และใครที่ทำผิดไปจากแบบแผนนั้น ๆ จะถูกตีตราจากระบบว่าเป็นผู้ล้มเหลวทางการศึกษา โดยอิงจากผลลัพธ์จากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ปิดโอกาสในการค้นหาวิธีใหม่ ๆในการเรียนรู้ ของทั้งตัวผู้ศึกษาเอง และตัวอาจารย์ กับระบบการศึกษาทั้งหมด

เมื่อพบต้นตอของปัญหา ผู้เข้าร่วมไม่รอช้า ร่วมกันหาทางออกจนได้ข้อเสนอใหม่ 6 ข้อ เพื่อทลายกรอบกลไกและระบบเดิม:

  • 1. ให้เปลี่ยนรูปแบบการสอนตามขนบเดิม ให้เป็นรูปแบบเกม โดยใช้เนื้อหาของศาสตร์นั้นๆ สร้างระบบจำลองของวิชาชีพนั้นๆขึ้น ซึ่งให้ผู้เรียนได้สัมผัสศาสตร์นั้นจากการเล่น
  • 2. สร้างระบบการเรียนที่มีสมดุล ระหว่างการเรียนกับชีวิต ให้ผู้เรียนได้มีเวลาค้นหาตัวเอง สิ่งที่ตัวเองสนใจ และบทบาทที่ตัวเองเลือกที่จะรับผิดชอบ
  • 3. ส่งเสริมการเรียนจากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน ได้เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมจริงๆ 
  • 4. ให้ผู้เรียนใช้ประสบการณ์ชีวิต ค้นหาความสงสัยใคร่รู้ของตน เพื่อสร้างเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง และสุดท้ายคือแบ่งปันประสบการณ์นั้นให้กับผู้อื่นได้เรียนรู้เพื่อสร้างเส้นทางของตัวเองต่อไป
  • 5. วิธีการสอนแบบ Unschooling ที่สอนจากความสนใจของผู้เรียนตรงๆ 
  • 6. รื้อระบบการสอบ Entrance และแก้ไขนโยบายการศึกษาในระดับโครงสร้าง

แนวทางในการกำหนด R&I Agenda เพื่อส่งเสริมการทำงานข้ามศาสตร์ควรเป็นไปในทิศทางใด?

เมื่อได้ทางออกของปัญหาแล้วก็มาขยับกล้ามเนื้อสมองกันต่อในการหาแนวทางส่งเสริมการทำงานข้ามศาสตร์ ด้วยการกำหนด R&I Agenda คำตอบที่ได้ คือ การสร้าง Platform ให้คนต่างศาสตร์ได้มาทำงานร่วมกัน เช่นการกำหนดงานวิจัยบน Issue Based โดยมีคนเป็นแกน คอยประสานให้คนจากแต่ละศาสตร์ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยผู้ที่เป็นแกนต้องเปิดรับความหลากหลายของความเห็น และวิธีการแก้ปัญหาจากแต่ละศาสตร์ ซึ่งต้องใช้ความไว้วางใจระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ ในการเปิดใจรับฟังศาสตร์ที่ต่างจากตน

ประเด็นที่สอง:

ความกล้าที่จะก้าว แรงบันดาลใจ คอมฟอร์ทโซน และอุปสรรค

ความท้าทายของความกล้าที่จะก้าวซึ่งเป็นอีกประเด็นสำคัญที่พาให้ผู้เข้าร่วมพากันบริหารความคิดของตนเอง คำถามย่อยในประเด็นที่สองถูกถามขึ้น ผู้เข้าร่วมใช้เวลาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนทรรศนะและข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ความกล้าที่จะก้าวข้ามสาย อะไรเป็นปัจจัยสนับสนุน หรืออุปสรรคในการทำงานข้ามศาสตร์?

เมื่อเสวนาพาทีกันจนได้ที่ ผู้เข้าร่วมรวบยอดความคิดจนได้ปัจจัยสนับสนุนในการทำงานข้ามศาสตร์ พบว่าการข้ามศาสตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในตัวเราที่มีอยู่แล้ว ผนวกกับประสบการณ์ที่ได้รับมาในแต่ละช่วง ณ ขณะนั้น ดังนั้น เมื่อมีการแบ่งศาสตร์ ทำให้เราข้ามกลับมาที่เดิม และ สิ่งที่ทำให้ต้องกลับมาข้ามศาสตร์ เพราะ ระบบการศึกษาที่เข้ามาอิทธิพล

ปัจจัยสนับสนุนในการทำงานข้ามศาสตร์

ปัจจัยภายใน (Internal) ที่พบคือ ปัจจัยด้านความใฝ่รู้กับการเผชิญปัญหาจริง แบ่งตามประสบการณ์ออกเป็น 3 เรื่อง:

Sense and life experience

จุดใหญ่ที่มีและต้องสร้าง คือ เรื่องการมองให้ข้ามประโยชน์สูงสุดในแบบที่ทุนนิยม หรือ สังคมแบบเศรษฐกิจปัจจุบันบอก หรือ กำหนดให้มนุษย์เราคิดได้แค่นี้ เพราะฉะนั้น การมองข้ามไปสู่มุมมอง หรือ ความเข้าใจเชิงนามธรรม เช่น ประเด็นเรื่องปีแสง = กัลป์ พบว่า เป็นเรื่องของการอธิบายเชิงนามธรรมของเวลา ในรูปแบบที่เป็นอนันต์ หรือเรื่องนามธรรม เช่น สิ่งที่กว้างกว่ากาแล็คซี่ คือ ความคิดมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่าความยาว ไม่ใช่ ฟุต หรือ นิ้ว เวลา ไม่ใช่ นาฬิกา โดยประเด็นความคิดเชิงนามธรรม คือ สิ่งที่ต้องใช้ หรือ อาศัยการอธิบายซึ่งหากต้องการความเหนือกว่า (beyond) สิ่งที่เรียกว่า เป็นประโยชน์ (utility) จะต้องพาคนไปคิดแบบนี้ให้ได้ ซึ่งอันนี้ต้องการสิ่งที่เรียกว่า sense/imagine/and life experience

Lost of human value/Question in human value

หากมองอย่างตรงไปตรงมา จะเห็นว่าสังคมในปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่เรียกว่า “ประสบการณ์ที่มนุษย์ไม่สร้างผลิตภาพ (productivity)” ในสังคมที่มนุษย์แต่เดิมเราเป็นสังคมเกษตร ปัญหา burden ของมนุษย์ คือ การทำงานหนัก พอมนุษย์เรามีสังคมที่มีความสะดวกสบาย burden ของมนุษย์ตรงกันข้าม คือ มนุษย์เราขาดประสบการณ์จริง (real experience) ขาด product ของการผลิตด้วยมือ ขาดการตระหนักว่า สิ่งที่เรามี ประสบการณ์ที่เราทำและสร้างขึ้นมาจากมือของเรามันสร้างคุณค่าได้ เพราะฉะนั้นประเด็นของการ lost value มันกลับกันกับอดีตซึ่งอันนี้เป็นปัญหาความท้าทายที่จะต้องเอาหลายๆศาสตร์มารวมกัน และการที่มนุษย์มี burden ของสิ่งที่เรียกว่าการทำความเข้าใจด้วยภาษาและวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งนี้ใช่ และสิ่งนี้ไม่ใช่ thinking domain ทั้งหมดหรือองค์ความรู้ของมนุษย์เราถูกสอนมาตลอดว่า ถ้าอะไรไม่ใช่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ก็คือ ใช่ อันนี้คือวิธีคิดแบบปรัชญากรีกที่ปฏิเสธ (ใช่/ไม่ใช่) เพราะฉะนั้น กรอบแนวคิดแบบนี้จะทำให้เรา experiment ได้มากขึ้นซึ่งเป็นทางที่จะช่วยให้ทลายออกจาก domain นี้

การแบ่งปัน

การแบ่งปันเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก sense ของสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์ไม่รู้จักแบ่งปันและไม่เรียนรู้ที่จะให้” ก็จะไม่เกิดการข้ามศาสตร์ที่ฉันจะไปสัมพันธ์กับอีกคนหนึ่ง แล้วฉันจะคุยกับเขารู้เรื่อง แล้วแบ่งปันและให้กัน เพราะฉะนั้น ตอนนี้ความรู้ของเราเป็น silo (ไม่แลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน) ถ้ามันไม่ crossover กัน ก็จะไม่เกิดการแบ่งปัน

ปัจจัยภายนอก (External) ที่พบได้แก่ วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ หรืออาจกล่าวได้ว่า ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งใช้แก้ปัญหาในโลกนี้ไม่ได้ ทางออกอย่างหนึ่งคือ มนุษย์ควรศึกษาประวัตินวัตกรรมต่าง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบทางสังคม โฟกัสไปยังจุดเปลี่ยน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

จากบริบททางประวัติศาสตร์ในอดีตกาลที่ผ่านมา มนุษย์เราไม่ได้เริ่มจากการสอนเป็นวิชา แต่เราเริ่มจากของจริงหรือปรากฏการณ์จริงอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น การสอนวิชานอกกรอบ ผู้สอนพยายามให้นักศึกษาดูว่าเวลาที่มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องดูว่า เกิดจากการเข้าไปแก้ปัญหา เช่น ทำเครื่องตัดขนมปังให้เป็นแผ่น ๆ แต่เดิมผลิตมาเป็นก้อน การที่จะตัดให้เป็นแผ่นได้ เป็นปัญหาคือเวลาตัดเองที่บ้านมันยุ่ย การพัฒนาเครื่องตัดขนมปัง มีความเป็นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ พอตัดเสร็จแล้วต้องห่อ ทำให้เก็บขนมปังได้นานขึ้น เวลาก้าวไปหนึ่งขั้น ก็จะมีปัญหาตามขึ้นมาใหม่ แทนที่เราจะเรียนเป็นวิชา เราลองศึกษาจากกระบวนการแก้ปัญหา จนกระทั่งตอนหลังมาทำเป็นเครื่องปิ้งขนมปัง เกิดจากการที่คนเขาเบื่อที่มันร้อน ตอนแรกไม่มีตัว timer ตัดไฟ จึงมีการพยายามแก้ปัญหาให้ปิ้งขนมปังได้สองด้านมันเกิดจากการปิ้งด้านเดียวแล้วเสียเวลา ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นดูจากนวัตกรรมแต่ละชิ้น มันไม่มีการแบ่งสายทั้งนั้น มันเกิดมาจากการมองปัญหาเป็นหลัก แล้วทำอย่างไรกับปัญหานั้น แล้วเมื่อถูกนำไปใช้ในสังคม ก็จะมีผลลัพธ์กลับมาว่ามันมีปัญหาอะไรอีก คนต้องการเรียกร้องอะไรเข้ามาอีกเทคโนโลยีทั้งหมด จนมาเป็นของที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่ของสำเร็จรูป มันมีประวัติศาสตร์ที่ค่อย ๆ เป็นมา ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่มีการแบ่งสาย แต่เกิดจากการพบเจอปัญหา แล้วจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับบริบททางสังคมและศึกษากระบวนการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ รวมถึงยังต้องอาศัยองค์ความรู้ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (evidence-based practice)

อุปสรรคในการทำงานข้ามศาสตร์

ในโลกแห่งความเป็นจริงการแบ่งแย่งระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์นั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ดังนั้นไม่ควรมีการแบ่งแยกสองศาสตร์นี้ออกจากกัน เพราะเหมือนเป็นการแบ่งแยกชนชั้น อุปสรรคที่พบคือการหาทางเชื่อมระหว่างศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการประสานและขับเคลื่อนงานต่อไปได้

เรื่องการเปิดใจซึ่งกันและกัน

เรามักติดกรอบว่า “เรามาทางสายศิลป์เราจะต้องเชี่ยวชาญด้านนี้แล้วคนอื่นจะสู้เราไม่ได้” ซึ่งอาจจะไม่จริงเสมอไป คนที่ไม่ได้อยู่สายเดียวกับเรา เขาอาจจะมีมุมมองที่ เราอาจจะมองไม่เห็น เพราะเรามองจากแค่มุมของเรา การมีอคติของมนุษย์ที่มักจะเชื่อในสิ่งที่ตนรู้อย่างสุดโต่ง จะทำให้เราไม่เปิดใจรับฟัง ทำให้เราพลาดความเห็นและมุมมองที่น่าสนใจ ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ได้นั้นอาจไม่ชัดเจนหรือไม่น่าเชื่อถือ

การขาดวัฒนธรรมในการรับฟัง

ในมหาวิทยาลัยมักจะเจออุปสรรคในเรื่องของการปรับหรือทำความเข้าใจในวิธีการทำงานของในแต่ละสาย ดังนั้น วิธีในการทำงานของแต่ละสายไม่เหมือนกัน ซึ่งเราขาดวัฒนธรรมในการรับฟังความเข้าใจว่าแต่ละสายทำงานไม่เหมือนกัน ความรู้ในแต่ละแบบอาจจะไม่เหมือนกัน มีมากมายหลายมิติ

ทรรศนะแบบสุดขั้ว

หนึ่งในปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของ อคติ หรือ ความเข้าใจผิดว่า วิทย์คือวิทย์ ศิลป์คือศิลป์ เป็นทัศนะสุดขั้ว เพราะฉะนั้น คนที่ชอบวิทยาศาสตร์ จะถูกอนุมานว่า เขาต้องไม่ชอบ สายศิลป์ หรือว่าถ้าเราไม่ชอบวาดรูป แสดงว่าเราก็จะไม่ชอบสายศิลป์ทั้งหมด หรือว่า คนชอบสายศิลป์ ถ้าเกิดพูดถึงวิทย์ต้องเป็นฟิสิกส์ ต้องไม่รู้เรื่องแน่ เรารู้สึกโง่ เพราะฉะนั้น อคติหรือความเข้าใจผิดเช่นนี้ถือว่าเป็นทัศนคติที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจแบบข้ามศาสตร์

นอกจากนี้อุปสรรคที่พบรวมถึงความไม่คุ้นชินหรือความไม่รู้จักกับศาสตร์นั้นนั้นและความรู้ที่เรามีต่ออีกศาสตร์หนึ่ง อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เราเลือกใช้เครื่องมือ อีกทั้งความรู้ที่จำกัดทำให้เรามีอคติ เราไม่มีความรู้ต่อศาสตร์เขาจริง เราจึงมีอคติ อุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ วิธีคิดของคนไทยส่วนใหญ่ที่ชอบคิดแบบเหมารวม (stereotype)

จากคำถามแรกที่ทำให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคในการทำงานข้ามศาสตร์ กิจกรรมดำเนินต่อด้วยยังคำถามที่กระตุ้นเร้าและชวนขับเคลื่อนตนเองให้ออกจากเซฟโซนกันบ้าง

แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้รู้สึกว่า การรู้และเข้าใจเฉพาะศาสตร์ไม่พอ และหนทางก้าวออกออกจาก comfort zone และสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ข้ามสาย (formal/informal)?

การเปิดมุมมองพาให้เราเข้าใจเข้าใจทั้งตนเองและคนอื่น

ในวงสนทนา นักจิตวิทยาท่านหนึ่งได้กล่าวถึงแรงจูงใจของตนในการตัดสินใจหรือเลือกที่จะก้าวข้ามศาสตร์โดยได้อธิบายเสริมว่า ตัวเขาทำงานสายจิตวิทยา คนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่คนเดียวก็ครอบครัว แต่ว่าพอเห็นในระดับสังคม คือก่อนที่คนไข้จะมาหาเรา ปัญหาอะไรในสังคมที่ทำให้สุขภาพจิตเขาแย่จนมาถึงจุดนี้ แล้วพอรักษาคนไข้ไปเรื่อย ๆ พบว่าไม่ใช่ต้องแก้ที่คนแล้ว ต้องแก้ที่อื่น เช่น เศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างก่อนที่เขาจะมาถึงเรา เพราะฉะนั้นการข้ามศาสตร์ช่วยให้เราเห็นอะไรกว้างขึ้นจากการเปิดมุมมองและสามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือควรให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม

วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่พอ

อีกท่านหนึ่งเสนอแลกเปลี่ยนว่า ตนเองพยายามหาวิธีรักษาโรคมะเร็ง แต่พบว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการรักษา ต่อให้มียาดีหรือเจอยาดี แต่ถ้าคนไข้ไม่สามารถเข้าถึงยานั้นได้ ก็ไม่มีประโยชน์ จึงกล่าวว่า “วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่พอ” แต่ยังเป็นเรื่องของ “การเข้าถึง/การแบ่ง/การกระจาย/ความยุติธรรมทางสังคม” เป็นต้น

First Impression

อีกหนึ่งมุมมองกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการย้ายสายเกิดมาจากความกดดัน ความเครียดที่จะต้องอยู่กับสิ่งนั้นเป็นเวลานาน และไม่เห็นถึงความสำคัญจำเป็นในการเรียนรู้เรื่องนั้น ณ ขณะนั้นจึงเปลี่ยนจากสายวิทยาศาสตร์มาสายสังคมศาสตร์แต่พอทุกครั้งที่กลับไปจับงานสายวิทย์ first impression ที่เป็นแรงบันดาลใจ คือ มันสนุก มันน่าอัศจรรย์ น่าประหลาด และที่สำคัญวิทยาศาสตร์บางทีมันไม่ได้มีถูก-ผิดชัดเจน มันเป็นเรื่องที่ based on fact/evidence ซึ่งพอตัวของ innovative/innovation พัฒนาได้ดีมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้ fact พวกนี้มีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

แล้วข้อดีของการศึกษาข้ามศาสตร์มีอะไรบ้าง?

วงสนทนาถกกันไปมา ขับเคลื่อนความคิดกันไปมา จนรวบยอดสรุปข้อดีของการข้ามศาสตร์ทั้งหมด 13 ข้อ

  • เปิดโลกทัศน์ คือ การได้ทรัพยากร ได้ข้อมูล ได้แง่มุมต่าง ๆ ได้ความร่วมมือต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้เราสามารถแก้ปัญหานั้นได้ โดยเป็นวิธีที่เราไม่เคยรู้มาก่อน จากการที่เราได้มีศาสตร์อื่น ๆ มาร่วมกัน
  • สังเกตว่าคนทำงานวิจัยและคนทำงานหลาย ๆ คน พอเขาไปได้สุดทาง หลายคนชอบ บอกว่าถ้ารู้อะไรรู้ให้ลึกไปด้านเดียว เป็นผู้เชี่ยวชาญ (expert) ด้านนั้นไปเลย แต่กลับค้นพบว่า ถ้าเขาไปมีการร่วมมือกับศาสตร์อื่น คือ ตนเองไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญทุกสาย แต่ใช้วิธีการร่วมมือกันก็ได้ สุดท้ายเหมือนกับติดเล็บ ติดเขี้ยว ติดอาวุธให้เขา กลายเป็นที่สุดของด้านนั้นไปเลย
  • บางทีเราไม่อาจเรียกว่าข้ามศาสตร์ได้ แต่มีความเชื่อว่าหลาย ๆ ศาสตร์มาด้วยกัน โดยที่ตนเองไม่ต้องเป็นผู้รู้ด้านนั้นก็ได้ เพียงแต่เปิดใจคุยกัน
  • คิดว่า ศาสตร์ คือ ความเชี่ยวชาญ จะต้องมีอยู่หรือคงไว้ ยังคงต้องมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์เฉพาะของตน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดมุมมองรับศาสตร์อื่น ๆ เช่นกัน
  • แรงบันดาลใจสำคัญ คือ คนนั้นถ้าอยากจะรู้ศาสตร์ของตนเอง เพียงแต่ว่าดีที่สุดในศาสตร์ของตน รู้ดีในศาสตร์ของตนและจะไม่เสียเวลากับศาสตร์อื่น ในที่สุดเขาก็เก่งในวิชานั้นมันจะมี moment หนึ่งที่เขาจะรู้ว่า “รู้แค่ศาสตร์ตัวเองไม่ได้” เช่น คนหนึ่งที่เขาเรียนเอกกวีนิพนธ์ ต่อมาเขาไปเรียนวิชา logic เขาคิดแบบคณิตศาสตร์ ซึ่งเขาเกลียดวิชานี้มาก เพราะ วิชา logic มันบีบบังคับความคิด ทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่มีอิสระที่จะคิดแบบที่กวีนิพนธ์ที่เขาอยากเรียน ปรากฏในที่สุดเขากลับมาเขียนหนังสือวิชา logic และเขาเขียนสารภาพว่าเขาเคยเกลียดวิชานี้ แต่ตอนนี้ฉันรักวิชานี้ เพราะฉันรู้ว่าการที่จะเป็นกวีที่ดีได้ ฉันก็ต้อง logic ดี กลับกลายเป็นว่าเขามี moment หนึ่งที่เขารู้ว่าของพวกนี้จริง ๆ มันมีส่วนที่เกี่ยวพันกัน มันไม่ใช่ว่าอิสรภาพในการได้แต่งโคลง กลอน ให้เกิดความคล้องจอง สละสลวย คือ สุนทรียะ มันไม่ได้เกี่ยวกับเลขเลย แต่จริง ๆ เกี่ยวได้

“แรงบันดาลใจ อาจจะต้องเริ่มด้วยการที่เธอต้องรักที่จะเก่งในทางของเธอ และเดี๋ยวเธอจะต้องมี moment หนึ่ง ถ้าเธอโชคดีไม่ตายเสียก่อน moment หนึ่งที่เธอจะรู้ว่าเธอจะต้องรู้ศาสตร์อื่นด้วย”

  • แรงบันดาลใจในมุมมองเชิงปรัชญา: เป็นความต้องการที่จะค้นหาสัจธรรมที่ละเอียดอ่อน ไม่หยาบกระด้าง กับอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นความต้องการที่จะสร้างสรรค์ให้สมจริง คือ เหมือนฝั่งวิทย์ ฯ ถ้าจะมีแรงบันดาลใจ ด้านศิลป์ ก็คือต้องการค้นพบหรือแสวงหาสัจธรรม คือข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่มันมีมิติของความเป็นมนุษย์แฝงเข้าไป เป็นความคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคม ถือเป็นความละเอียดอ่อนไม่หยาบกระด้าง ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง ฝั่งศิลป์ก็อาจจะเป็นเรื่องของการที่จะต้องการสร้างสรรค์อะไรบางอย่างที่สมจริงที่สอดคล้องกับธรรมชาติในบางอย่าง คือ จะมีมุมมองหรือเป็นแบบนี้ได้ จะต้องเป็นคนที่เห็นความงามในความหลากหลาย ทั้งสองฝั่ง
  • การสร้างแรงบันดาลใจ: ควรทำความเข้าใจว่า มันไม่ได้มีการแบ่งเส้นขั้วแยกขนาดนั้น มันไม่ได้ขจัดอคติหรือความเข้าใจผิดต่าง ๆ ถ้าไม่มีการกั้นมาแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่า เราอยากรู้ในศาสตร์หรือสายตรงข้ามที่เรายืนอยู่ ก็จะมีความสนใจใคร่รู้ และพร้อมที่จะก้าวข้ามศาสตร์ไปเรียนรู้มากขึ้น และสุดท้ายค้นพบว่า เส้นที่แบ่งเป็นมายาคติ คือ หลายคนจะชอบคิดว่ามันตรงข้ามกัน ด้วยสิ่งถูกปลูกฝังว่าสายวิทย์-สายศิลป์ คนจึงไม่สนใจที่อยากจะข้ามสาย
  • แรงบันดาลใจ คือ ไม่ว่าจะศาสตร์ไหน หรือ สายวิทย์หรือสายศิลป์ ขอเพียงสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ ก็พร้อมที่จะนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเช่น เรื่องนี้ผิด ethics หรือไม่/การทดลองนี้ผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งหลาย ๆ ครั้งวิทยาศาสตร์ก็ให้คำตอบไม่ได้ว่าผิดหรือไม่ผิดจริยธรรม เพราะ วิทยาศาสตร์ให้ผลที่แน่นอน แต่ไม่ได้ให้เกณฑ์การตัดสินว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดจริยธรรม เราจึงต้องหันมาใช้เครื่องมืออื่นแทน

“เชื่อว่าการบูรณาการข้ามศาสตร์สามารถแก้ปัญหาได้/วิทยาศาสตร์ไม่ได้มีมุมมองแบบ ethics ดังนั้น ควรอาศัยมุมมองทาง ethics ของนักปรัชญามาช่วย เพื่อให้เกิดมุมมองข้ามศาสตร์”

  • เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราพร้อมที่จะแก้ปัญหา ด้วยการอาศัยศาสตร์อื่น
  • แต่ละคนเขาจะมีศาสตร์ของตนเอง ความเป็นผู้เชี่ยวชาญนั้นสำคัญ pure science ก็สำคัญ แต่ก็พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เราตั้งต้นที่ปัญหา แล้ว pure science มองว่าศาสตร์อื่นสามารถแก้ปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องข้ามไปมองศาสตร์อื่น
  • การที่เราเลือกที่จะไม่ข้ามศาสตร์ อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะว่าหลายครั้งการที่เราเลือกจะข้ามศาสตร์ ความสามารถในแต่ละศาสตร์ของเราอาจจะไม่เท่ากับคนที่ pure ด้านนั้นโดยตรง เพราะฉะนั้น การเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ของตนนั้นยังสำคัญอยู่ แต่การข้ามศาสตร์ได้ก็ถือเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน
  • มีความใฝ่รู้ส่วนตัว ว่าตัวเองอยากรู้ ไม่ได้เกี่ยวกับโลกภายนอก ไม่เกี่ยวกับสังคม ไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอะไร แค่อยากรู้อะไรให้มากขึ้น หรือแสวงหาความเป็นเลิศ ประกอบด้วยสองปัจจัย; หนึ่ง: ปัจจัยภายใน; สอง: ปัจจัยภายนอก (เรื่องการแก้ปัญหา) ถ้าการข้ามศาสตร์แก้ปัญหาได้ก็จะทำ
  • ความเป็นผู้เชี่ยวชาญยังสำคัญอยู่ แต่เราแค่เปิดโลกทัศน์ เพื่อเข้าใจคนอื่น และเพื่อลดอุปสรรคในการก้าวข้ามศาสตร์ เพราะอุปสรรค คือ อคติ

ประเด็นที่สองปิดท้ายด้วยคำถามย่อยที่ว่า:

ปัจจัยภายนอกใดบ้างที่ส่งเสริมความสนใจศาสตร์อื่น ๆ และเป็นอุปสรรคในการทำงานข้ามศาสตร์?

จริงอยู่ที่ว่า การอยู่ในฝั่งของตนเองที่ตนมีความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญมาก เพียงแต่เราควรเปิดใจรับฟังทัศนะหรือมุมมองของฝั่งอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้นการข้ามศาสตร์ไม่ใช่การก้าวออกไปที่อื่น แล้วทิ้งที่ที่ตัวเองอยู่ แต่เป็นการเปิดใจรับฟังศาสตร์อื่น ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงการแบ่งแย่งระหว่างสายวิทย์กับสายศิลป์นั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ดังนั้น ไม่ควรมีการแบ่งแยกสองศาสตร์นี้ออกจากกัน เพราะ เหมือนเป็นการแบ่งแยกชนชั้น การแบ่งแยกสายวิทย์และสายศิลป์ ก่อให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนในระบบการศึกษา ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคม เป็นการขัดขวางไม่ให้คนได้เรียนรู้อย่างเปิดกว้างและรอบด้าน และพบว่าอุปสรรคหนึ่งจากการแบ่งสายก่อให้เกิดคนที่มีทัศนะที่ว่า “ศาสตร์ของฉันดีกว่าของเธอ

ประเด็นที่สาม:

พื้นที่ร่วมต่างศาสตร์

กิจกรรมเวิร์คช็อป World Café พาผู้เข้าร่วมเดินทางมายังประเด็นขบคิดที่มุ่งเน้นการหาพื้นที่อันเป็นจุดร่วม เพื่อให้ศาสตร์ที่ต่างกันได้ขยับเข้ามาเปลี่ยนย้ายถ่ายโอนองค์ความรู้ หรือ สร้างพื้นที่ให้เกิดการสานองค์ความรู้ต่อกัน

พื้นที่แบบ formal สำหรับการเรียนรู้ศาสตร์ต่างสายเป็นอะไรได้บ้าง และควรมีการสนับสนุนแบบใด?

พื้นที่ว่างบนกระดาษ post it ที่ผู้เข้าร่วมได้รับไปถูกแทนที่ด้วยหมึกสีน้ำเงินของปากกาลูกลื่น หลายความคิดเชื่อมต่อกัน กลายเป็นแผนที่ความคิด จนได้มาซึ่งข้อเสนอ 8 ข้อเสนอ

  • เปิดหลักสูตรที่มีความหลากหลาย เช่น หลักสูตรที่เป็น Double Major หรือ Triple Major ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้เลือกเรียนและได้ปริญญาข้ามหลักสูตร
  • เปิดให้มีวิชาศึกษาทั่วไปเพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น GEN ED
  • ได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือหลายภาคส่วนในการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ เช่น การทำ Training Course
  • ส่งเสริมนิสิต นักศึกษา ให้ออกไปเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันการทำงานจริงต้องการความรู้ที่มีความหลากหลายศาสตร์ไว้ใช้ในการประกอบการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้อาจมีความเชื่อมโยงของการเปิดพื้นที่เป็นแบบ informal นอกมหาวิทยาลัย
  • ปรับปรุงหลักสูตรใหม่โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรในระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากในระดับมัธยมศึกษาก็มีการเลือกสายการเรียนแยกศาสตร์กัน และการปรับปรุงหลักสูตรในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถเลือกเรียนสาขาวิชาที่ต้องการเลือกเรียนได้ในภายหลัง
  • ควรมีองค์กรหรือหน่วยงานที่สนับสนุนการข้ามศาสตร์ หรือการข้ามสายวิทย์-ศิลป์ เช่น สอวช. ที่สนับสนุนให้เกิดการร่วมกลุ่มในการ share ความรู้ร่วมกันในหลากหลายศาสตร์หรือการข้ามสายวิทย์-ศิลป์ โดยให้มีพื้นที่ตรงกลาง หรือพื้นที่ภายนอกมหาวิทยาลัย
  • อำนวยการเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษา โดยการสนับสนุนงบประมาณให้
  • เปิดหลักสูตรการศึกษาที่ไม่มี discipline หลักสูตรที่ไม่ได้มีความตายตัวของการบังคับเลือกเรียนวิชา หรือสามารถเลือกเรียนวิชาเลือกที่มีความหลากหลายได้คือเป็น

พื้นที่แบบ informal สำหรับการเรียนรู้ศาสตร์ต่างสายเป็นอะไรได้บ้าง และควรมีการสนับสนุนแบบใด?

ได้ข้อเสนอที่มีความเป็นไปได้ในพื้นที่ formal แล้ว ก็ขยับมายังพื้นที่ informal ต่อ ในคำถามข้อนี้ผู้เข้าร่วมพากันเสนอว่า ควรเปิดให้มีชุมชนหรือชมรมเพื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมการร่วมกลุ่มที่มีหลากหลายศาสตร์ ทางหนึ่งคือคิดค้นกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจใน Space ต่าง ๆ ควรส่งเสริมให้มีการสร้าง Virtual Community หรือพื้นที่บนสื่อออนไลน์ พวก Digital Platform ให้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ควรให้มีการพัฒนาหลักสูตรพิเศษของคนที่มีความต้องการข้ามสายให้สามารถ access ได้ และสุดท้ายส่งเสริมเอกชนและมหาวิทยาลัยให้จัดกิจกรรมร่วมกันของการพูดคุยข้ามสาย หรือความต้องการรู้ในหลายศาสตร์ (อาจเป็นการสร้างกลไก)

การสร้างพื้นที่ ปัจจัยสนับสนุน ระบบการติดตามและประเมินผล

การทำงานข้ามสาย?

ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมอาจเหนื่อยล้ากันบ้าง แต่ก็ขมีขมันตั้งใจเสวนาพาทีกันจนได้ขอเสนอในคำถามสุดท้ายของประเด็นนี้ กล่าวคือ ในการสร้างพื้นที่มีด้านที่เกี่ยวข้อง คือ

ด้านงบประมาณของบุคลากร ในการจัดสรรงบประมาณ ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่มีความไม่คล่องตัว เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณอื่น ๆ

ในด้านโครงสร้างการบริหารควรปรับปรุงกฎระเบียบของโครงสร้างงานให้สร้างแรงบันดาลใจของคนทำงาน (อาจารย์) มากขึ้น และลดภาระงานเอกสาร รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาวิสัยทัศน์ของผู้บริหารด้วย

ในด้านการประเมินผลควรให้มีการส่งเสริมการประเมินผลเชิงคุณภาพ กำหนด Issues เพื่อกำหนดวิธีการประเมินหรือตัวอย่างการประเมินในอนาคต มีตัวชี้วัดให้ตระหนักถึง Human Value ให้กับสังคม การสร้างการประเมินผลอาจเป็นภาพระยะยาว ซึ่งจะมีคุณค่ามากกว่าการวัดแบบ ROI, SROI หรือพวก Economic Value และ Parameter ในการวัดคุณภาพของคนจบการศึกษา เช่น การวัดเชิงปริมาณคือการจ้างงานในระบบ การจ้างงานของคนที่จบการศึกษาในสายวิทย์ สายศิลป์ ที่แบ่งแยกเป็นไซโลอยู่ในระบบ ซึ่งคุณภาพการศึกษาควรวัดจากการถูกจ้างงานเป็นศาสตร์ต่าง ๆ หรือไม่ หรือสามารถวัดจากส่วนที่เป็น Internal Factor ได้หรือไม่ เช่น คนทำ Freelance

เวลาร่วมสองชั่วโมงของกิจกรรมเวิร์คช็อป World Café ผ่านพ้นไปได้อย่างราบรื่นตามกำหนดการ เสียงกล่าวสรุปประเด็นและปิดงานดังขึ้น เสียงปรบมือดังตามมาไม่เว้นช่วง ดวงไฟดวงแรกของการสร้างสรรค์เพื่อประสานความคิดข้ามศาสตร์ ต่างสาย ถูกจุดติดขึ้นแล้ว.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s