ในโลกโลกาภิวัตน์ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนารวดเร็วอย่างก้าวกระโดด เมื่อรู้ตัวอีกทีวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งสมาร์ทโฟน ปัญญาประดิษฐ์ ความจริงเสมือน (Virtual Reality) เครือข่าย 5G รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Driving) วิศวกรรมชีวการแพทย์ การจ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสด ไล่ไปจนถึงการให้บริการสตรีมมิ่งบนจอมือถือ ตัวอย่างของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากพลังของการจินตนาการของมนุษย์ที่ผ่านกระบวนการคิดและกรอบโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น จากพลังจินตนาการของมนุษย์สู่เทคโนโลยีที่กลับมารับใช้ผู้จินตนาการ ความใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีที่แนบแน่นกันเช่นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์
ในอนาคตอันใกล้นี้ คำถามที่เกิดขึ้นคือ การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในสังคม จะมีความหมายและคุณค่าอย่างไร หรือจะดำเนินไปในทิศทางไหน อำนาจอันมากมายมหาศาลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะขับเคลื่อนสังคมไปอย่างไร หรือคำถามที่ง่ายดายที่สุด มนุษย์เรามีความเข้าใจต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อร่วมกันหาคำตอบและสร้างแนวทางในการสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสังคมไทย STS Cluster Thailand จึงได้จัดงานเสวนา “Sci-Fi: พลังการสื่อสารแง่คิดวิทยาศาสตร์กับจินตนาการทางสังคม” ขึ้น เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 19:00 – 21:00 น. ผ่านทาง Zoom Webinar ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ เลิศเสถียรชัย นักวิจัยด้าน STS (สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ด้วยภาพยนตร์และวรรณกรรม Sci-fi สามารถเป็นตัวกลางในการสื่อสารข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์และสื่อสารจินตนาการถึงข้อท้าทายและคุณค่าของมนุษย์และสังคม ประชาชนผู้รับชมและผู้อ่าน Sci-Fi สามารถได้รับแง่มุมทั้งสองไปพร้อม ๆ กันขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะจับจองตีความ Sci-Fi ที่กำลังอ่านหรือชม ในงานเสวนาครั้งนี้ STS Cluster Thailand จึงเลือกหยิบเอาภาพยนตร์และวรรณกรรม Sci-fi ถึงพลังในการสื่อสารมาร่วมพูดคุยกับวิทยากร 3 ท่าน คือ อาจวรงค์ จันทมาศ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ น้ำพราว สุวรรณมงคล ผู้บริหารและก่อตั้งสำนักพิมพ์โซลิส (Solis Books) และ ณัชพล บุญประเสริฐกิจ นักวิจัยด้านบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์
นิยามของคำว่า Sci-Fi หรือ นิยายวิทยาศาสตร์ หรือบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ คืออะไร?
อาจวรงค์: หลายคนเวลานึกถึง Sci-Fi จะนึกถึงพวกหนังที่เป็นอวกาศ ซึ่งน่าจะเป็นภาพ Sci-Fi ที่ชัดเจน เช่น Star Wars, Star Trek เป็นต้น ส่วนตัวแล้วคิดว่า Sci-Fi เป็นเรื่องที่พยายามเล่าด้วยตรรกะที่เป็นวิทยาศาสตร์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายว่ามันสมจริงหรือแฟนตาซีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าตรรกะของเรื่องเป็นวิทยาศาสตร์ก็เพียงพอ ส่วน Sci-Fi ที่ชอบมากที่สุด คือ เรื่อง Jurassic Park เพราะว่าหนังชวนให้เราเรียนรู้ด้วยซ้ำว่าไดโนเสาร์สรุปมันโคลนนิ่งได้จริงหรือเปล่า สำหรับหนัง Sci-Fi ยุคใหม่ดูหมด เพราะดูง่ายและสนุก ถ้าเป็นตอนเด็ก ๆ ชอบโดเรมอนมากที่สุด

ณัชพล: ในแง่มุมของนักวิชาการ Sci-Fi ไม่จำเป็นต้องเป็นอวกาศเท่านั้น ในการนิยาม “นิยายวิทยาศาสตร์หรือว่าบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์” ในคำว่า “นิยาย” มีความเป็นเรื่องแต่งอยู่ แต่ในเรื่องแต่ง ในกรอบที่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ ทุกคนก็จะคาดหวังถึงหลักการที่พูดถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อะไรบางอย่างในเรื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้ว โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เราเริ่มเห็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกหนึ่งจุดเด่นที่มีความน่าสนใจอยู่ในแนวโน้มของนิยายวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ นักเขียนบางคนที่มีผลงานการเขียนมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10-20 ปีให้หลัง นักเขียนเริ่มที่จะเปลี่ยนฉาก เปลี่ยนการดำเนินเรื่องจากโลกอนาคตที่ไกล ๆ หันกลับมาเล่าโดยใช้ฉากที่เป็นโลกร่วมสมัย หรือว่าเป็นอนาคตที่ไม่ได้ไกลมาก เทคโนโลยีที่ปรากฏในเรื่องเป็นเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้มีความซับซ้อน แล้วก็ไปสำรวจประเด็นเรื่องของผลกระทบกับการดำเนินชีวิต ผลกระทบกับการที่สังคมเกิดอะไรขึ้นในเทคโนโลยี ซึ่งแท้จริงแล้วมันก็มีความเป็น Utopia และ Dystopia อยู่ในการเล่า อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์หลายคนหันกลับมาใช้ฉากที่เป็นโลกร่วมสมัยเหมือนกับจะสื่อสารหรือเปล่าว่าแท้จริงแล้วโลกในนิยายวิทยาศาสตร์ คือ โลกที่เรากำลังอยู่กัน เรากำลังอยู่ในโลกที่เป็นสังคมของนิยายวิทยาศาสตร์แล้วหรือเปล่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเรา ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มากขึ้นแล้วหรือเปล่า สำหรับหนัง Sci-Fi ที่ชอบมากที่สุด คือ เรื่อง Neuromancer ของ William Gibson แท้จริงแล้วมันมีความเป็นนิยายวิทยาศาสตร์อยู่ ที่เราทำกันอยู่ (การใช้ zoom Webinar) สมัยก่อน 3 ปี 5 ปี ที่แล้ว ใครจะไปคิดว่าเราจะได้มาสัมมนากันผ่าน zoom online อีกอย่างคำว่า Cyberspace พื้นที่ที่เราอยู่หรือกำลังเจอกันอยู่นี้ มันเป็นคำที่ปรากฏครั้งแรกในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Neuromancer

น้ำพราว: เสน่ห์ของ Sci-Fi คือไม่ว่าเรื่องจะเกิดขึ้นในอวกาศ นอกโลก หรือเกิดขึ้นในโลก มันคือสิ่งที่ทำให้เกิดความอยากรู้ ทำให้กระตุ้นต่อมอยากรู้ของมนุษย์ เรื่องแรก ๆ ที่ทำให้ชอบ Sci-Fi คือ เรื่อง Alien ความรู้สึกแรกตอนดู เหมือนเป็นสิ่งที่มนุษย์เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เหมือนกับว่าอยู่ในยานอวกาศ และมีตัวมนุษย์ต่างดาว มันคือสิ่งที่ทำให้เราอยากค้นหา

ในหนังหรือนิยาย Sci-Fi มีการปรากฏความหลากหลายในด้านใดบ้าง?
ณัชพล: มี แต่ก็ต้องยอมรับก่อนว่าในอดีต ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ตั้งแต่ยุค Enlightenment ตั้งแต่ตอนนั้น Sci-Fi ถูกเขียนโดยภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของการขับเคลื่อนวงการนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ว่าในช่วงหลัง เราเริ่มเห็นนักเขียนจากประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าหรือผู้นำเทคโนโลยี แต่เป็นประเทศของผู้ใช้ ไม่ใช่เป็นผู้สร้าง เป็นนักเขียนในประเทศที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เป็นโลกกำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา แล้วเขาเล่าประเด็นที่มันเกี่ยวข้องกับผลจากเทคโนโลยีที่ไม่ได้เป็นของเขา แต่เขาถูกบังคับ ถูกเจ้าเทคโนโลยีบังคับให้ใช้ ในพื้นที่ที่อาจจะมีความไม่พร้อมหลาย ๆ อย่าง ดังนั้น ถ้าตอบความหลากหลาย หลากหลายมากหรือมากกว่าเดิมด้วย หลากหลายทั้งทางเพศ หลากหลายทางเชื้อชาติ มีนักเขียนที่เป็นเชื้อชาติอื่น ๆ เยอะขึ้น แล้วก็หลากหลายในเรื่องของทางเศรษฐกิจ ความพร้อมทางสังคม มีครับมี โดยเฉพาะในยุคหลัง 2000 เราเห็นความหลากหลายตรงนี้เยอะมาก ๆ มากกว่าเรื่องเพศ
น้ำพราว: ขอยกตัวอย่างนักเขียนคนที่ชอบ พอพูดถึงเรื่องคนที่หลากหลาย นึกถึงเรื่อง Ninefox Gambit ของ Yoon Ha Lee ( 1979 -) เขาเป็น Transman เป็นผู้หญิงที่ข้ามเพศไปเป็นผู้ชาย เขาเป็น Korean-American ในเนื้อหาของเขาก็มีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลีเยอะมาก คืออยู่บนยานอวกาศ แต่ว่ากินข้าวแบบใช้ตะเกียบกัน กินแบบหลาย ๆ จาน คล้ายวัฒนธรรมเกาหลี เป็นการเอาวัฒนธรรมของบ้านเกิดตัวเองเข้ามาเขียนเอาไว้หนังสือ ในหนังสือสังเกตเห็นความเปิดกว้างมากในประเด็น Gender เหมือน Gender ไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือ เรียกได้ว่าเป็น Genderless ก็คือ ผู้ชายแต่งงานกันก็ได้ ผู้หญิงก็ได้ หรือ ครอบครัวหนึ่งมีพ่อสองคนก็ได้ อาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนเองเป็นคนที่ Identify ว่าเขาเป็น Trans ด้วย

Sci-Fi มันโยงเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเราพยายามจินตนาการโลกของเราให้มันไปข้างหน้ามากขึ้นไหม
อาจวรงค์: ถ้าคิดว่า Sci-Fi เป็นเรื่องของจินตนาการหรือวิทยาศาสตร์มาก่อน น่าจะเป็นจินตนาการงอกออกมาก่อน แล้วก็ค่อยพยายามไปอธิบายพื้นฐานของจินตนาการนั้นด้วยวิทยาศาสตร์ ถ้าถามว่าเรื่อง Sci-Fi จำเป็นต้องสมจริงไหมในทางวิทยาศาสตร์ คิดว่าไม่จำเป็นเลย อย่างเช่น เรื่องของ Star Wars ถ้าจะเอาโดยหลักฟิสิกส์แล้ว การยิงปืนในอวกาศแล้วมีเสียง เลเซอร์ออกมาเป็นลำ หรือแม้แต่มนุษย์ต่างดาวในภาพยนตร์แทบทุกเรื่องยกเว้นเอเลี่ยน (ซึ่งเอเลี่ยนคิดว่าสมจริงที่สุด) มีคนวิจารณ์ว่ามันมีความไม่สมจริงหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น มันมีรยางค์คล้ายมนุษย์เกินไป ซึ่งจริง ๆ แล้วมนุษย์ต่างดาวมันน่าจะมีความแตกต่างมากกว่านั้น หรือตัวอย่างเช่น Star Trek กัปตันสป็อค ก็คือคนตัดผมม้าที่หูยาว เลยคิดว่าเรื่อง Sci-Fi แทบทุกอย่างที่ได้สัมผัสมา คือการอธิบายสิ่งต่าง ๆ ด้วยทฤษฎีที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ Setting ของเขาอาจจะไม่ต้องมีความสมจริงมากก็ได้ แต่ตรรกะของเรื่องต้องมีวิทยาศาสตร์นำ หรืออย่างเรื่องลิฟต์อวกาศ (Space elevator) เคยอ่านในแง่ของความเป็นไปได้ ในอ่านการ์ตูนหรืออะไรก็ตาม ก็จะเห็นเรื่องลิฟต์อวกาศโผล่ออกมาในแบบใหม่ ๆ มากขึ้น ก็พบว่าพอมันมีสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา มันดูมีความเป็น Sci-Fi แล้วก็มีความน่าสนใจ แต่ว่าในทางปฏิบัติ ถามว่ามันเป็นไปได้ไหม คำตอบคือ เรื่อง Sci-Fi ส่วนใหญ่เท่าที่ดู มันมีความเป็นไปได้ แต่ว่าวิศวกรรมของเราแค่ยังไปไม่ถึงมัน
ความไม่สมจริงของ Faster Than Light Travel หรือความเร็วกว่าแสงที่ปรากฏในหนังหรือนิยาย Sci-Fi มีผลกับอรรถรสในการอ่านด้วยหรือเปล่า? (น้ำพราวถาม)
อาจวรงค์: โดยทฤษฎีฟิสิกส์ อะไรที่เร็วกว่าแสง มันจะทำให้เกิดเรื่องแปลก ๆ คือหมายความว่า อะไรที่เร็วกว่าแสง มันมีอยู่สองอย่าง คือ ของที่จากเดิมไม่เร็วกว่าแสง แล้วเร็วกว่าแสง กับของอย่างที่สองคือ มันเร็วกว่าแสงมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางไหนก็ตาม สุดท้ายมันจะเร็วกว่าแสง ดังนั้น อะไรก็ตามที่เร็วกว่าแสงมันจะก่อให้เกิดความประหลาดบางอย่างในเอกภพ คือ จะมีคนบางคนเห็นเหตุเกิดก่อนผลได้ คือหมายความว่า เหตุมันเกิดก่อนผล ซึ่งมันฟังดูไม่ make sense เท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น ผมโทรบอกให้เพื่อนช่วยเอารองเท้าที่ยืมไปมาคืนหน่อย แต่ถ้าหากมีการเคลื่อนไหวหรือการส่งสัญญาณที่เร็วกว่าแสงเกิดขึ้นได้ มันจะมีคนบางคนในเอกภพ ที่เห็นเพื่อนผมเอารองเท้ามาให้ผมแล้ว แล้วผมยังไม่ทันโทรบอกด้วยซ้ำ การโทรบอกดันเกิดทีหลัง ซึ่งถามว่าทำไมมันดูไม่สมเหตุสมผล คำตอบคือ นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่ง เขาก็เชื่อว่าเอกภพ ไม่ว่าจะเป็นกฎฟิสิกส์ที่แข็งแกร่งแค่ไหนก็ตาม สุดท้ายมันวางอยู่บนตรรกะของสิ่งที่เป็น เหมือนเป็นกฎที่แกร่งกว่ากฎฟิสิกส์ นั่นก็คือกฎของตรรกะ ก็คือเหตุผล ถ้าผลเกิดก่อนเหตุ มันเหมือนไปไหนไม่ถูก
ณัชพล: Sci-Fi น่าจะมีสองจุดยืน คือ ซีเรียส และ เบา ๆ สบาย ๆ ถ้าในมุมมองนักฟิสิกส์ก็คงมีความหงุดหงิด ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เป็นแฟนตาซี มันกลายเป็นเหมือนกับไม้กายสิทธิ์ของแฮรี่พอตเตอร์ที่ทำให้คนสามารถที่จะลอยได้ โดยที่ใช้คาถาเวทย์มนต์ ไปเปรียบเทียบซะว่าการเดินทางเร็วกว่าแสงเป็นเหมือนกับเวทย์มนต์ เป็นแฟนตาซี แต่ถ้าในขณะเดียวกันถ้าสวมหมวกนักอักษรศาสตร์ลงไป ก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้สนใจความเป็นไปได้ อย่างที่ อ.อาจวรงค์บอกว่า ความเป็นไปได้มันอาจจะเป็นรองในพื้นที่ที่เป็นจินตนาการ ในพื้นที่ที่มันเป็น Fiction แต่ว่าเรามาสนใจถึงผลของมัน สนใจถึงการเดินทางเร็วกว่าแสงนั้นเป็นกระบวนการที่ทำให้เราได้ไปค้นเจอปรากฏการณ์อะไรมากกว่าหรือเปล่า ถ้าเกิดว่าการเดินทางเร็วกว่าแสงมันทำให้เราค้นพบอะไรมากขึ้น ในแง่ของมนุษย์ ในแง่ของสังคม หรือผลกระทบของเทคโนโลยีขั้นสูงกับมนุษย์และสังคม อันนี้ก็น่าจะดีกว่ากับการที่เราปิดกั้นไม่รับมันซะเลย เพียงแค่ โดยให้เหตุผลว่าการเดินทางเร็วกว่าแสงนั้นเป็นไปไม่ได้
หนังหรือนิยาย Sci-Fi ช่วยส่งเสริมเสริมให้ผู้ชมหรือผู้อ่านเกิดการทดลองทางความคิด หรือ Though Experiment หรือไม่?
อาจวรงค์: นิยายวิทยาศาสตร์หลายเรื่องเป็น Thought Experiment แน่นอน เช่น จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมเอาปืนใหญ่ไปยิงบนภูเขา แล้วลูกกระสุนมันแรงมาก จนกระทั่งเราควบคุมเท่าไหร่ก็ได้ แล้วสุดท้าย Thought Experiment หรือการจินตนาการโดยตรรกะ มันนำไปสู่ความคิดที่ว่า ลูกปืนใหญ่มันสามารถที่จะเดินทาง ถ้าแรงมาก มันก็จะตกอีกฝากหนึ่ง แต่ถ้ามันแรงมากจริง ๆ มันจะวิ่งไปเรื่อย ๆ คือมันจะตก แต่ว่าโลกมันดันโค้งหนีไปเรื่อย ๆ เหมือนกระสุนบอกจะตกแล้ว ๆ โลกบอกไม่ให้ตก จึงโค้งหนี ดังนั้น แนวคิดจินตนาการตรงนี้ นำไปสู่การสร้างดาวเทียม อันนี้คือ Thought Experiment ของไอแซคนิวตัน นิวตันเป็นคนจินตนาการถึงปืนใหญ่ตัวนี้ขึ้นมา หากถามว่า Thought Experiment ใน Sci-Fi มีไหม ตอบได้ว่ามีเยอะแยะหลายเรื่องเลย จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเป็นอย่างนั้นจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเข้าไปในฝันคนอื่น แล้วเราสามารถขโมยเอาความรู้ในความฝันพวกนี้ได้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าโลกที่เราอาศัยอยู่เป็นแค่ความฝัน แล้วตัวจริงเรากำลังหลับอยู่ในที่เหมือนเป็นวุ้นเลี้ยง จริง ๆ ต้องบอกว่ามีคนเคยถามคำถามนี้ไว้ตั้งแต่สมัยของ René Descarte (1596 – 1650) เขาบอกว่า เขาไม่อาจพิสูจน์ บางทีเขาอาจจะไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ด้วยซ้ำ แต่ที่เขาพูดคำว่า I think; therefore I am หมายถึงว่า ฉันคิดฉันจึงมีอยู่ เพราะว่า ถ้าฉันไม่มีอยู่ แล้วความคิดมันจะงอกมาจากไหน ดังนั้น สิ่งที่เขารู้แบบชัวร์ที่สุดเลย ไม่ว่าเราจะอยู่ใน Simulation หรืออยู่ในความฝันของผีเสื้อของจวงจื้อ หรืออะไรก็ตาม เดสการ์ตบอกว่าไม่รู้ล่ะ มันอาจจะไม่มีอะไรจริงสักอย่างด้วยซ้ำ แต่ว่าตัวตนของเขามีแน่ ๆ ไม่งั้นความคิดเขามาจากไหนล่ะ แต่ถ้าถามว่าเราอยู่ใน Simulation หรือเปล่า ผมไม่ทราบ แต่ว่ามันมีสาขาฟิสิกส์หนึ่ง ชื่อ Digital Physic ซึ่งไม่ใช่การศึกษา Digital แต่หมายความว่าแทนที่เราจะมองอะตอมว่าเป็นสิ่งที่พื้นฐานที่สุดในเอกภพ เรามองว่า Information หรือพวกข้อมูล หรือพวกบิทต่างหากที่เป็นสิ่งที่พื้นฐานยิ่งกว่าอะตอมก็มี ซึ่งอันนี้ผมเองไม่เคยเรียน แต่ว่าอ่านคร่าว ๆ ก็พบว่า มันเหมือนเรามองว่าทุกอย่างนี่คือ Simulation อย่างหนึ่ง แล้วก็กฎต่าง ๆ ที่ใช้ในการอธิบายธรรมชาติ เป็นแค่ Information มันพยายามไปตอบคำถามว่าหินมันรู้ได้อย่างไร ว่าตัวมันต้องตกตามกฎแรงโน้มถ่วงอะไรพวกนี้ คือนิวตันรู้ว่ามันมีกฎแรงโน้มถ่วงอยู่ แต่เขาไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้ มันฝังอยู่ในก้อนหินสักก้อนหนึ่งได้อย่างไร แต่ Digital Physic เหมือนจะพยายามอธิบายของพวกนี้

ณัชพล: Cyberpunk คือ แขนงหนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นสักปี 1980 ตอนนั้นเกิด Apple คอมพิวเตอร์ของสตีฟ จอบส์ พอคนเริ่มเห็นว่ารอบตัวเรา คอมพิวเตอร์เริ่มมามีอิทธิผลกับ
หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การผลิตไฟฟ้า การสื่อสาร ก็เกิดจินตนาการว่าถ้าเกิดเทคโนโลยีมันพัฒนาก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จนสามารถสร้างโลกอีกโลกหนึ่งในคอมพิวเตอร์ได้ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ มนุษย์จะเป็นส่วนหนึ่งของโลก ๆ นั้นไหม ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสใหม่ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า “Cyberpunk” Cyber ก็คือมาจาก Cyberspace การที่มนุษย์ต้องเข้าไปอยู่ใน Cyberspace แล้วก็ Punk นี่แปลว่า แปลกแยก ก็เท่ากับคำว่า เอเลี่ยน ก็คือ มันเป็นความแปลกแยก เป็นความที่รู้สึกว่ามนุษย์ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ตัวเองอยู่รอบตัว ดังนั้น เมื่อเกิดความสงสัย เกิดความไม่สบายอกสบายใจ
กับการที่ว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มจะมีบทบาทอะไรมากมายขึ้นมา มันจะส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษย์
ต่อตัวเองต่อไปในอนาคต ก็เหมือนกับเป็น Thought Experiment เป็น Social Experiment ผ่านหน้ากระดาษนิยายวิทยาศาสตร์ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อคอมพิวเตอร์พัฒนาตัวเองมากขึ้นไปเรื่อย ๆ
เวลาที่พูดถึงในแง่ของความเป็นไปได้ Sci-Fi เปิดช่องที่ว่าจะให้เราไปค้นต่อหรือเปล่า?
อาจวรงค์: จริง ๆ ต้องบอกว่าทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ตัวมันก็เอื้อต่อ Sci-Fi ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น เวลาเราดูหนังเกี่ยวกับโรคระบาด จริง ๆ หนังโรคระบาดแทบทุกเรื่อง ถ้าจะมองจริง ๆ มันเป็น Sci-Fi เราไม่มองว่าโรคเกิดจากอากาศเป็นพิษ เราไม่ได้มองว่าโรคภัยไข้เจ็บเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย เราไม่ได้มองว่าโรคเกิดจากวิญญาณที่มาขี่คออาฆาตเรา แต่การที่เราพูดว่าโรคเกิดจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก สิ่งที่ประหลาดมากเลย คือเราอาจจะรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา เราชอบใช้คำว่าเชื้อโรค แต่จริง ๆ แม้แต่ยุคแรกที่มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ เขายังไม่คิดเลยด้วยซ้ำว่ามันจะก่อโรคได้ คือตอนที่คุณเลเวินฮุก (Antonie van Leeuwenhoek: 1632 – 1723) คนประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ แล้วส่องเจอพวกจุลินทรีย์ คนก็เออตัวอะไรเนี่ยน่ารักดี ดูมันเล็กเหลือเกิน ถามว่ามดกัดแล้วเราเป็นไข้มันเป็นไปได้หรือ แล้วจุลินทรีย์ที่เล็กขนาดนี้มันทำให้เราป่วย คือพูดในยุคโบราณคือคนไม่เชื่อ เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอย่างแรง แต่พอปาสเตอร์พิสูจน์ได้ว่าจุลินทรีย์ ทำให้เกิดการเน่าของสารได้ มีการพิสูจน์ในระยะเวลาต่อมาว่าจุลินทรีย์เป็นเหตุของโรคได้ หลังจากนั้นทำให้ Mindset ของมนุษย์มันเปลี่ยนจากที่หนึ่งมาอีกที่หนึ่ง เลยกลายเป็นว่าเราเล่าเรื่องโรคภัยต่าง ๆ ด้วย Mindset ใหม่ได้ Sci-Fi มันจึงขยับขอบของมนุษย์ไปไกลอยู่แล้ว และบางทีตัววิทยาศาสตร์เองมันขยับ โดยที่เราไม่รู้ตัวเหมือนกัน

จินตนาการของ Sci-Fi มันบ่งบอกได้ไหมว่าเราสัมพันธ์กับเทคโนโลยีอย่างไรในอนาคต มันจะเป็นสิ่งเตือนใจเราได้ไหม หรือว่ามันเป็นลางบอกเหตุอะไรได้ไหม?
ณัชพล: Sci-Fi ในอดีตก็มีแขนงหนึ่งที่เขาพยายามจะแสดงตัวเองว่า การที่เขาเขียน Sci-Fi ขึ้นมา เขาเรียกตัวเองว่าเป็น Literature of Warning วรรณคดีคำเตือนเลย หลาย ๆ เรื่อง ก็เป็นสิ่งที่เป็นที่นิยมในยุคหนึ่ง ก็คือ สงครามนิวเคลียร์ เมื่อพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ที่มันถูกไปผนวกกับการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองในประเทศหรืออะไรก็ตาม แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ มันก็ตั้งคำถามแหละว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ควรจะถูกนำมาใช้โดยใคร ใครควรจะเป็นผู้ถือครอง การที่จะนำมาใช้กับมนุษย์ด้วยกันสมเหตุสมผลไหม ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏในนิยายวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่เรื่องโรคระบาด หลาย ๆ เรื่องก็เป็นสิ่งที่ถูกจินตนาการขึ้นแล้วในอดีตเหมือนกัน แล้วก็โรคระบาดในวรรณกรรมก็ไม่ได้มาเป็นแค่โรคระบาดเฉย ๆ ไม่ได้เหมือนกับเป็นแค่หนังซอมบี้ ที่คนมาฆ่ากันเท่านั้น แต่มันมีมิติของการหาผลประโยชน์ โดยผู้มีอำนาจ การใช้โรคระบาดเป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่กลุ่มธุรกิจที่ทำธุรกิจผ่านการที่ทำให้เกิดโรคระบาดขึ้น แล้วทำให้เกิดผลประโยชน์ ผลกำไรทางธุรกิจ ดังนั้น ในแง่หนึ่งเชื่อว่าในนิยายวิทยาศาสตร์ มีการเตือนอยู่ว่า พัฒนาการทางเทคโนโลยีจะส่งผลอะไรกับมนุษย์ได้บ้าง หรือในทางที่อาจจะไม่คาดคิดก็ได้ ในทางที่คนอื่นไม่กล้าคิด แต่ว่านักเขียนคนหนึ่งที่อาจจะเป็นคนที่มีความสงสัยอยู่ หรือว่าเป็น มีความอัดอั้นอะไรบางอย่างอยู่ที่ต้องการจะนำเสนอออกมา ก็เลือกพื้นที่วรรณกรรมนี่แหละ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง หน้ากระดาษที่เปิดกว้าง ในการที่จะนำเสนอความคิดของตัวเองออกมา
Sci-Fi กับความท้าทายในประเด็นทางจริยธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ณัชพล: อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เราเริ่มเห็นการพูดถึงเทคโนโลยีในประเด็นของการที่ว่ามันมีเทคโนโลยี แต่ว่าพัฒนาการทางเทคโนโลยี มนุษย์ยังเข้าถึงกันไม่ได้เท่ากัน หรือว่าอำนาจ ในการควบคุมเทคโนโลยีอะไรบางอย่าง มันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของพัฒนาการหรือเปล่า ก็มีนวนิยายหลาย ๆ เรื่องที่พยายามที่จะเสนอว่าเทคโนโลยีแบบเดียวกัน เมื่อถูกนำไปใช้ในพื้นที่ต่างกัน มันทำให้เกิดผลดี ผลเสียไม่เหมือนกัน ดังนั้น วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในกลุ่มนิยายวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง มันไม่ได้พูดถึงแค่ตัววิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแล้วในปัจจุบัน ไปพูดถึงผลกระทบของจากการที่พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แล้วมันมีผลกระทบที่หลากหลาย อย่างหนังเรื่อง Water World โดยเราจะเห็นว่ามีการถือครองเทคโนโลยีอะไรบางอย่าง มีกลุ่มคนที่เข้าถึงน้ำมันกับกลุ่มคนที่ไม่เข้าถึงน้ำมัน มีการสร้างอาณานิคมบนเรือบรรทุกน้ำมัน ซึ่งอันนี้ก็ทำให้เห็นว่ามันมีประเด็นอะไรบางอย่างที่พูดถึงผลกระทบของ Global Warming ซึ่งตอนนั้นคนอาจจะไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ถึงขนาดนี้ แต่พอมันใกล้ตัว ดูเหมือนว่าคนจะตระหนักมากขึ้น และ Cli-Fic โตขึ้นเยอะจริง ๆ แต่ถ้าประเด็นในเรื่องของความขัดแย้งอำนาจทางการเมือง ใน Water World ต้องบอกว่าตอนนี้ถูกกลับมาดูใหม่ ในแง่ของประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เรื่องของการขาดน้ำ และอีกเรื่องหนึ่งที่นึกขึ้นได้ คือ The Water Knife ของ Paolo Bacigalupi (1972 -) นี้พูดถึงเรื่อง สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ที่มีน้ำจำกัด แล้วก็ต้องมีการเปลี่ยน มีการบริหารจัดการเรื่องของน้ำในประเทศ เพราะว่าน้ำในธรรมชาติมีจำกัด
น้ำพราว: หรืออย่างเรื่อง เมล็ดฝันวันสิ้นโลก (Parable of the Sower) ของ Octavia E. Butler (1947 – 2006) ที่เหมือนกับโลกร้อน แล้วก็เหมือนกับว่าไม่มีน้ำ คือเป็นโลกที่แบบแย่มาก ประธานาธิบดีก็เหมือน Make America Great Again พยายามจะใช้ศาสนามาคุมคน ความเหลื่อมล้ำก็สูงมาก เนื้อหารวม ๆ ฟังดูแล้วมันใกล้ตัวเรามากเลย เพราะว่าด้วยความ Climate Change, Global Warming ตอนนี้ น้ำก็ไม่มี อย่างในเนื้อเรื่องถึงขั้นที่สมมติว่ามีโจรมาปล้นบ้านเรา เราต้องการเรียกตำรวจ เราก็ต้องจ้างตำรวจ ดับเพลิงก็ถ้าจะให้มาก็ต้องจ้างเขา จ่ายเงินให้เขามาดับเพลิงบ้านเรา จ้างตำรวจมาจับผู้ร้ายให้เรา แล้วน้ำนี่ก็คือแพงมาก หาซื้อกันแทบไม่ได้ น้ำมีค่ายิ่งกว่าเงิน แล้วจะมีบริษัทที่เหมือนกับว่า พอคนที่จนมาก ๆ เขาก็จะต้องไปทำงานให้บริษัท ซึ่งบริษัทก็บอกว่ามา เข้ามาอยู่ในบริษัทฉันนะ แล้วก็เหมือนกับว่าใช้แรงงานเยี่ยงทาส หลาย ๆ คนอ่านก็บอกว่าคล้าย ๆ กับอเมริกาในปัจจุบัน แต่ก็เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมานานแล้ว
Sci-Fi กับความเป็นไปได้ของวิทยาศาสตร์ในอนาคต
อาจวรงค์: เวลาที่ถามว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูว่าเป็นไปได้ในแง่ไหน น่าจะมี 3 level 1: มันผิดกฎแห่งตรรกะหรือเปล่า หมายถึงว่าโดย Logic มันผิดหรือเปล่า ถ้ามันไม่ผิดมันก็อาจจะเกิดขึ้นในเอกภพใดเอกภพหนึ่ง ทีนี้เราต้องไปดูต่อว่า ถ้าโดยตรรกะมันถูกต้อง เหตุเกิดก่อนผล ลำดับต่าง ๆ มันถูกต้อง; 2: ก็ต้องไปดูต่อว่ามันผิดกฎฟิสิกส์หรือเปล่า ถ้ามันไม่ผิดกฎฟิสิกส์ สิ่งที่เราพูดถึงกันอยู่ มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ที่จะสร้าง กฎฟิสิกส์ที่ไม่ได้ห้ามการปั่นจักรยานขึ้นไปบนยอดเขาด้วยความเร็วมาก ๆ หรือว่า Hovercraft ก็ไม่มีกฎฟิสิกส์ห้าม แต่ว่าทำอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นเรื่องที่สามถ้ากฎฟิสิกส์ไม่ได้ห้ามไว้ มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้; 3: คราวนี้เป็นเรื่องของคำถามที่สามแล้วว่า เราจะทำอย่างไร แนวคิดเชิงวิศวกรรม หรืออะไรต่าง ๆ ได้ตอบคำถามสิ่งเหล่านี้ ก็คือว่า นักฟิสิกส์คิดกฎขึ้นมา คิดทฤษฎีขึ้นมา แล้วเราจะเอาทฤษฎีเหล่านี้มาสร้างโลกได้อย่างไร เรื่อง Sci-Fi หลาย ๆ เรื่อง ส่วนใหญ่มักจะไม่ผิดกฎฟิสิกส์เลย สิ่งที่เราขาดก็แค่คำถามที่ว่าเราจะสร้างมันขึ้นได้อย่างไร จะมีพื้นฐานวิศวกรรม หรือวิถีทางทางเศรษฐศาสตร์อย่างไรในการจะระดมสรรพกำลังของมนุษย์มาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งเรื่องนี้ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ซึ่งน่าจะเข้าใกล้นิยายวิทยาศาสตร์เข้าไปทุกที
สุดท้ายปกรณ์ขมวดปมให้กับวงเสวนาว่า วงเสวนาพาเราไปไกลกว่าแค่การอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เอาสนุก ความสนุกเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าไม่สนุก ก็ไม่อ่าน เพราะมีทั้งเรื่องของจินตนาการ เรื่องของการ Thought Experiment อย่างไร และ Thought Experiment ที่ว่าเชื่อมโยงมนุษย์กับเทคโนโลยี แล้วก็มนุษย์กับสังคมที่มันเปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยี รวมทั้งกับว่านิยายวิทยาศาสตร์มันชวนให้เราสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วย ความเป็นไปได้ของวิทยาศาสตร์ นิยายวิทยาศาสตร์อาจจะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เชื่อมโยงระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์กับเรื่องของจริยธรรมก็ยิ่งเห็นแล้วว่านิยายวิทยาศาสตร์ไม่ใช่แค่อ่านเอาสนุกอย่างเดียว แต่ถ้าคุณอ่านเอาจริงเอาจัง มันจะพาเราไปตอบปัญหาที่มันยิ่งใหญ่กว่านั้นได้.


ดูคลิปเสวนาได้ที่ >>> https://fb.watch/3K2pFGtLkK/