เทคโนเครซี่กับการกำหนดนโยบายสาธารณะ: สภาพการณ์และการก้าวพ้น

มิติการเมือง มิติสังคม และมิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบกันขึ้นเป็นองคาพยพของสังคมมนุษย์ มิติทั้งสามด้านนี้ต่างปฏิสัมพันธ์กันจนเป็นกรอบคิดสำคัญอันเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจโลกของมนุษย์ ในการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการนี้มีรากฐานการคิดที่วางอยู่บนฐานคติของธรรมชาติความรู้แบบวิทยาศาสตร์ซึ่งการคิดนำมาซึ่งวิธีการ และวิธีการนำไปสู่รูปแบบของการเมืองและนโยบายสาธารณะภายใต้ระบอบที่ชี้นำโดยผู้เชี่ยวชาญและความรู้แบบเทคนิค (technocracy) อันมีความเชี่ยวชาญเป็นกลไกอ้างอิงการตัดสินใจสำคัญ จากฐานคิดทำให้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคนิควิธีการกลายเป็นรูปแบบหลักในการวางแผนและพัฒนานโยบายรวมถึงแก้ไขปัญหาสังคม การปกครองและการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะจึงอยู่ภายใต้อิทธิพลของ “เทคโนแครต (หรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ)” (technocrats)

แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะได้มาซึ่งผลิตผลในรูปแบบหลักในการวางแผนและพัฒนานโยบายรวมถึงแก้ไขปัญหาสังคม ขณะเดียวกันทำให้บทบาทและคุณภาพของประชาธปิไตยลดลง เพราะทักษะทางเทคนิคและสมรรถนะทางความเชี่ยวชาญกลายมาเป็นคุณสมบัติสำคัญของ ความเป็นผู้นำทางการเมืองโดยละเลยมิติอื่น ๆ มันจึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจถึงปฏิสัมพันธ์ของการวิเคราะห์เชิงเทคนิควิธีการบนความสมเหตุสมผลแบบวิทยาศาสตร์กับการเมือง และการกำหนดนโยบายสาธารณะของไทย เข้าไปชำแหละว่าในการปฏิสัมพันธ์ของขั้ววิธีการและแนวคิดทั้งสองในความสัมพันธ์นั้นมันได้ส่งผลหรือก่อให้เกิดอิทิพลมากน้อยเพียงไรในแง่การเมืองและนโยบายสาธารณะ และที่สำคัญที่สุดคือ ความสามารถในการคิดที่ก้าวข้ามพ้นวิธีคิดที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่ตอนนี้

ในค่ำคืนวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา STS Cluster Thailand และ เครือข่ายนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ ได้ร่วมกันยกขบวนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและมีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ทั้ง ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์ จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. พัชราภา ตันตราจิน จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมกันนี้ยังมี ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นกับวิทยากรทั้งสองท่านอีกด้วย

ต้นกำเนิดและพัฒนาการของการศึกษานโยบายสาธารณะ

อาจารย์ธีรพัฒน์เริ่มต้นคำถามแรก: “ผมอยากขอรบกวนให้ อาจารย์ปิยะพงษ์ เริ่มต้นเล่าว่าวิธีคิดแบบความสมเหตุสมผลแบบวิทยาศาสตร์หรือที่เรียกว่า Technocratic Approach / Technocrat มันมีพัฒนาการกำเนิด รูปร่างหน้าตามันในการศึกษานโยบายสาธารณะอย่างไร?”

อาจารย์ปิยะพงษ์: “อาจจะเป็นประวัติศาสตร์โลกนิดหนึ่งนะครับ ในช่วงประมาณปี 1887 มีงานชิ้นหนึ่งที่ผมคิดว่าหลายคนพูดถึงในฐานะที่เป็นเหมือนต้นกำเนิดของวิชาทางด้าน Public Administration ชื่อว่า The Study of Administration เขียนโดย Woodrow Wilson หากสังเกตดี ๆ แล้ว งาน The Study of Administration ชิ้นนี้เป็นงานที่พูดถึงการวิเคราะห์นโยบายในเชิง Technocratic อย่างชัดเจนและเป็นงานที่โปรโมทการศึกษานโยบายไม่น้อยไปกว่าการโปรโมทเรื่องการศึกษาและเรื่องการบริหารภาครัฐเลย และหลังจากนั้นไม่นานทาง Woodrow Wilson ผู้เขียนงานชิ้นนี้ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1913-1921 ซึ่ง Wilson เองก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรมากเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ แต่ว่าสิ่งที่ Wilson ทำคือ ทำตัวอย่างของการทำนโยบายที่เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือในเชิงเทคนิคเข้ามาวิเคราะห์ ในยุคนั้นต้องเรียกว่าเป็นยุคที่ทุกคนต้องรู้จัก Cost Benefit Analysis หรือว่าการวิเคราะห์แบบที่เรียกว่าเป็น Instrumental Rationality ซึ่งจริง ๆ จะว่าไปในช่วงเวลาดังกล่าวเทียบเท่ากับช่วงของการปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 ของประเทศไทย ซึ่ง Idea เรื่อง Policy Analysis โดยเฉพาะในลักษณะที่เป็น Comparative ซึ่งแน่นอนการ Comparative Approach ในตัวของมันเองมีความเป็น Technocratic เพราะเป็นความรู้ที่วางอยู่บนการเชื่อในเรื่องของ Knowledge Transfer ที่เชื่อใน The Best Way เชื่อในสิ่งที่เรียกว่าเป็น Maximize Profit หรือเรียกว่า Maximize Social Gains ซึ่งก็เป็นฐานสำคัญของการคิดเรื่อง Rational Choice

ตรงนี้ถ้าตั้งข้อสังเกตดี ๆ การปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 ในช่วงเวลาดังกล่าวมันมีฐานการคิดเรื่อง Policy Science ก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีงานของ Harold Lasswell บิดาการศึกษานโยบายสาธารณะที่งานเขียนของ Lasswell ถูกตีพิมพ์ออกมาปี 1951 แต่ว่าร่องรอยความคิดเรื่อง Policy ในฐานะที่เป็น Science เบื้องหลังของมันเป็นการพูดถึง Instrumental Rationality ซึ่ง Instrumental Rationality เบื้องหลังลงลึกไปอีกก็หนีไม่พ้นการพูดถึง Scientific และ Economic Mode of Rationality”

อาจารย์ปิยะพงษ์ (ต่อ): “สำหรับสถานการณ์ที่ผมคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เรื่องของ Instrumental Rationality มันสุกงอมมาก ๆ ก็คือในช่วงที่ Lyndon B. Johnson เป็นประธานาธิบดี ในช่วงปี 1964 ต้องเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งจะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปไม่นาน และเริ่มเข้าสู่ช่วงต้นของสงครามเย็น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เกิดปัญหาเรื่องความยากจนอันเป็นผลพวงมาจากช่วงท้ายของสงครามมันเลยเกิดโปรแกรมที่เป็น Policy ที่ใหญ่มาก ภายใต้ Umbrella ของ War On Poverty หรือว่าการทำสงครามกับความยากจน (จากสงครามที่รบพุ่งกันกลายมาเป็นสงครามความยากจน) ปนะกอบกับในช่วงนั้นก็มีการกำเนิดขึ้นของ School Public Policy หลายแห่งด้วยกัน School Public Policy เกิดขึ้นด้วยเหตุที่ว่ามันเหมือนการปรับทิศของสภาวิจัย ทำให้หน่วยวิจัยปรับตัวตามไปด้วย ในช่วงนั้นพองบประมาณลงไปในโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ War On Poverty หรือว่าสงครามกับความยากจนเยอะ เลยทำให้พวกที่เป็น Engineer พวกที่เป็น Economist พวกที่เป็น Legal Study พวกที่เป็น Law ด้วย รวมไปถึง Political Science หรือว่า Public Administration ในสายที่เป็น Positivism มาก ๆ ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมดซึ่งมันมีทั้งส่วนที่จะต้องไปพูดถึงการ Initiate ตัวนโยบายที่ค่อนข้างที่จะคาดหวังว่ามันจะต้องเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ขายฝัน ในการแก้ไขปัญหา War On Poverty จุดเน้นที่ Johnson เสนอไว้ และผมคิดว่ามันสำคัญมากก็คือ เราไม่ได้ต้องการการขายฝันอีกต่อไปแล้ว คล้ายการไปติงแนวคิดของคนอย่าง Lasswell ที่พูดเรื่อง Full Freedom ที่มีแนวโน้มไปในทาง American Dream แต่ว่าพอในช่วงสงครามมัน Real มาก ความยากจนมันเกิดขึ้นจริง เพราะฉะนั้น Johnson ก็เลยต้องการให้มีการศึกษา Initiate ตัวนโยบายที่จะไปรบกับความยากจนที่เป็นรูปธรรมสุด ๆ แล้วก็นำมาซึ่งการตั้ง Research Unit รวมไปถึงการศึกษา

ผมเคยฟังจากนักวิชาการท่านหนึ่งที่เป็นนักวิชาการร่วมสมัย เล่าให้ฟังเลยว่าคนยุคนั้น Popular มากเลยกับการที่จะไปเรียนทางด้าน Public Policy มันการันตีได้ว่าคุณมีงานแน่นอน ในระหว่างที่เรียนคุณก็ได้ Funding ไปด้วย ในการที่จะไปทำตัวโครงการต่าง ๆ หรือว่าไปประเมินโครงการต่าง ๆ ซึ่งมันมีเยอะแยะเต็มไปหมด เหมือนเป็น Priority หลักของสังคมอเมริกันในช่วงนั้น ความน่าสนใจก็คือ ถ้าเราลอง Reflect กลับมาที่บ้านเรา มันเป็นช่วงเดียวกันเลยกับที่มันเริ่มมีสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น ‘กองทางด้านนโยบายและแผนหรือว่าสำนักทางด้านนโยบายและแผน’ เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าได้รับ Influence ของอเมริกันมันก็สูงมาก เพราะมันเป็นช่วงสงครามเย็น อย่างในปี 1966 ที่มีการตั้ง NIDA ขึ้นมา และในช่วงที่เราเริ่มเห็นนักวิชาการหลาย ๆ คนที่ถูกจับไป Train ที่อเมริกา แล้วกลับมาเป็นอาจารย์และเป็นนักวิจัยอยู่ที่ประเทศไทย เป็นยุคที่เขาเรียกว่า School Public Policy ที่การศึกษาทางด้าน Policy มันเกิดขึ้นเต็มไปหมด อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของ School Public Policy มีที่มาจากการที่ไม่มีการ Establish ความเป็น Science ของตัวเองอย่างจริงจัง อยู่ที่ว่ามันมี Funding ลงมา แล้วคนเรียนรู้สึกว่าฉันต้องได้ Funding นี้ ผู้เรียนก็เลยกระโดดเข้าไป และอีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจมากคือการตั้งสภาวิจัยของไทย ถ้าเราไปศึกษาประวัติศาสตร์ดูก็คือสภาวิจัยของประเทศไทยถูกตั้งขึ้นในปี 1956 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับยุค School Public Policy และการ Establishment ของสภาวิจัย ผมคิดว่ามี Sense ของเรื่องนโยบายสูงมาก ถ้าเราไปอ่านบันทึกการเริ่มต้นของ Idea เรื่องสภาวิจัย จะพบว่ามันคือการหา Knowledge เพื่อที่จะไป Support การคิดเรื่องนโยบายเลยด้วยซ้ำไป และแน่นอนหลังจากนั้นไม่นาน เราก็ได้เห็นการเกิดขึ้นของสภาพัฒน์ ฯ (สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นในปี 1961”

อาจารย์ปิยะพงษ์ (ต่อ): “สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่านโยบายสาธารณะมันเกิดขึ้นมาจากความจำเป็นของยุคสมัย โจทย์ของยุคสมัย แต่ว่ามันไม่ได้  well established เลย อย่างที่มีคนพูดถึงงาน Classic ปี 1951 ของ Harold Lasswell เยอะ ที่เชื่อว่า The Policy Sciences: Recent Developments in Scope and Method ที่บอกว่ามันควรจะมี Policy Science แต่ว่าถ้าคนไปอ่านงาน Lasswell จริง ๆ ตัว Content มันก็ยังไม่ได้มีอะไรจับต้องได้มากนัก ทำให้กลายเป็นว่า Policy Science จริง ๆ แล้ว โดยสรุปก็อยู่ในเงื้อมมือของ Engineer อยู่ในเงื้อมมือของ Economist และอยู่ในเงื้อมมือของ Legal Study อยู่ดี ก็คือเรื่องของ Law ซึ่งแน่นอนก็เป็น Positivism มาก ๆ ในแต่ศาสตร์ก็มีเครื่องมือของตัวเองอยู่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์ก็พยายาม Apply เครื่องมือของตัวเองโดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์แบบที่เป็น Macroeconomics เขาก็ Apply เครื่องมือของเขามาใช้ในการคิดเรื่องนโยบาย ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจอะไรที่โลกของนโยบายสาธารณะที่ไม่มีความเป็น Subject ของตัวเองตั้งแต่ต้น จะถูก Dominate โดยศาสตร์ที่มีอยู่ก่อน และในสังคมที่บริบทมันต้องการอะไรที่มันเป็นรูปธรรมมาก ๆ มันเลยทำให้ลืมไปได้เลยเรื่องในทางปรัชญาและเน้นให้ความสำคัญ Policy ที่กินได้เป็นการแสดงออกหรือเห็นผลออกมาในเชิงประจักษ์ชัดเจนมากกว่าการวาดฝัน

ผมคิดว่านโยบายสาธารณะมันเกิดขึ้นมาจากความจำเป็นของยุคสมัย โจทย์ของยุคสมัย … อยู่ในเงื้อมมือของศาสตร์ที่เน้นการปฏิบัติการมาก ๆ … ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องแปลกใจอะไรที่โลกของนโยบายสาธารณะที่ไม่มีความเป็น Subject ของตัวเองตั้งแต่ต้น

ผศ.ดร. ปิยะพงษ์ บุษบงก์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทีนี้คำว่า Technocracy ในตัวมันเองเป็นคำถามในลักษณะที่เป็น Epistemological  Question ก็คือคำถามในเชิงญาณวิทยา ก็คือ What kind of knowledge? ที่คุณจะรู้สึกว่ามัน Valid เนื่องจาก Empirical Knowledge เป็น Knowledge ที่มีความเป็น Objective ไม่ว่าคุณจะเป็น Scientific หรือไม่ Scientific ในความหมายที่ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือไม่วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าคุณจะเชี่ยวชาญสาขาใดก็ตาม แต่ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่คุณกำลังจะป้อนเข้าไป มันคือ Objective Fact นะ ผมยังถือว่าเป็นลักษณะของ Technocracy อยู่ ก็คือคุณตัดเรื่องของ Value เรื่องของ Dream เรื่องของ Normative ทั้งหมดออกไป เพราะฉะนั้นในยุคนั้นลืมไปได้เลยที่จะไปพูดเรื่องความเพ้อฝันของใครหรือว่าเรื่องของ Value ของผู้คน โดยเน้น Measurement หรือการวัดว่า

ถ้าโครงการนี้มันลงไปแล้วก่อนและหลังการทำโครงการเป็นอย่างไร ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายที่เชื่อมโยงกับเรื่องของ Housing เป็นอะไรที่รูปธรรมมาก ๆ รวมถึง Architect ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่ Engineer ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นนักนโยบายสาธารณะในยุคก่อน ถ้าจะ Define กันจริง ๆ ไม่ได้นักนโยบายสาธารณะที่เป็นสายสังคมศาสตร์แบบ Social Science ที่ก้าวข้ามการคิดแบบปฏิฐานนิยม และตัวของนักนโยบานสาธารณะเป็นแบบนี้มานานจนผ่านมาถึงช่วงเวลาที่ผมคิดว่าน่าตื่นเต้นของยุคสมัย ก็คือ ยุคของการตั้งคำถามหลัง Johnson ทำนโยบาย War On Poverty เสร็จ ที่ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าการวัดผลเชิงประจักษ์ของโครงการหลาย ๆ โครงการประสบความสำเร็จ Housing Education แต่ว่าไม่ได้ไป Touch Upon ตัว Structure เพราะฉะนั้น พวก Critical Policy Studies จริง ๆ ก็เกิดขึ้นจากสถานการณ์ หรือว่าจากยุคสมัยเหมือนกัน พอหลัง War On Poverty ได้เผยร่างตัวเองออกมา มีงบประมาณเต็มไปหมด มีหน่วยวิจัยเต็มไปหมด Think Thank เต็มไปหมด เป็น Technocrat เต็มไปหมด แล้วตัวชี้วัดก็ออกมาดีมาก ๆ เลย แต่ว่าผู้คน Perceive ว่าความยากจนมันไม่ได้หายไป เพราะฉะนั้นมันเปิดบาดแผลของตัวมันเอง”

อาจารย์ปิยะพงษ์ (ต่อ): “การใช้นโยบายสาธารณะเปิดบาดแผลของตัวมันเองให้เห็น อย่างในช่วงเวลาที่เราเคยตั้งคำถามประมาณปี 1997 ก็คือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เราตั้งคำถามกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ว่าทำไมแผนพัฒนาเศรษฐกิจพาเรามาถึงจุดของการเกิดต้มยำกุ้งได้ แต่ของไทยเราอาจจะตั้งคำถามช้ากว่าของต่างประเทศก็คือในช่วงประมาณทศวรรษตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมา พบว่าเริ่มมีงานหลายชิ้นมากที่  Challenge Approach ของการศึกษานโยบายสาธารณะในแบบที่จับพลัดจับผลูมาจากไหนไม่รู้ แต่ว่า Dominate By Technocracy For Sure แล้วคนก็เริ่มตั้งคำถามว่ามันมองไม่เห็นความยากจนในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นความยากจนในฐานะที่มันเข้าไม่ถึงโอกาส ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่อง Housing แล้วก็เรื่องของความเหลื่อมล้ำ มันเริ่มเผยร่างขึ้นมา ตั้งแต่ 1980 ตัวอย่างที่ว่าแสดงชัดเจนว่า Technocracy มันเกิดมาพร้อมกับความจำเป็นของยุคสมัยเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เปิดบาดแผลขึ้นมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน คือ ตัว Social Word มัน Reflect ตัว Policy Study พอสมควร”

อาจารย์ธีรพัฒน์ชวนคุยต่อ: “กลายเป็นว่าวิธีคิดแบบ Technocratic Approach ได้เข้าไปลดทอนวิธีคิดเรื่องการแก้ปัญหาสังคม การทำนโยบาย ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นบาดแผลชิ้นใหญ่ที่ทำให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าข้อดีของ Approach แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็นำมาสู่การปกปิดสาเหตุของปัญหาจริง ๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามองยุคของการจัดการโควิดที่ผ่านมา เราก็จะเห็นว่ามันก็ยังมีความผสมปนเปกัน เราอยู่ในยุคปี 2010, 2020 แล้ว Technocratic Approach ก็ยังเป็นเหมือนแนวคิดหลักในการจัดการนโยบาย ผมขออนุญาตให้อาจารย์ขยายความตรงนี้นิดหนึ่งครับ?”

อาจารย์ปิยะพงษ์ตอบ: “อาจารย์ธีรพัฒน์พูดถึงนโยบายโควิดก็ดีครับ ผมว่าเป็น Contemporary Policy Issue มาก แล้วมันก็ชัดเจนมากเลยว่า แม้กระทั่งนโยบายที่เป็น Current Issue ขณะนี้ กรอบคิดก็เป็น Technocracy มาก ๆ เราแทบจะวิเคราะห์นโยบายเรื่องโควิด เหมือนการวิเคราะห์ตลาดหุ้นเลยนะครับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการนำเสนอกันแรก ๆ ก็คือ เอากราฟไปเสนอ แล้วทุกอย่าง Base On กราฟที่ว่าเลย เหมือน ​Assume เลยว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะเปลี่ยนจากที่เป็น Linear เป็น Exponential อะไรอย่างนี้เลย แต่ว่าในภาพของคนที่มานำเสนอ ผมคิดว่าเขาเป็น Medical Science หรือว่าคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ซึ่งด้านการแพทย์แทบจะเรียกว่าเป็น Father ของคำว่า Science เลยด้วยซ้ำไป ไม่มีใครที่คุณจะรู้สึกว่ามี Image ของความเป็น Science เท่ากับคุณหมอแล้ว พอคุณหมอออกมาพูดเรื่องนโยบายสาธารณะก็เลยดูน่าฟังมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ที่ผมพูดประเด็นนี้ เพราะว่าผมคิดว่ามันมีคนตั้งคำถามเรื่อง Balance ระหว่างเรื่องของ Safety กับ Economic Efficiency

กลุ่มหนึ่งต้องการ Safety First แต่อีกกลุ่มหนึ่ง Concern เรื่องของ Economic Efficiency โดยกลุ่มที่ Concern เรื่องของ Economic Efficiency เป็นกลุ่มที่ Dominate เรื่องของนโยบายสาธารณะมาโดยตลอด เช่น สภาพัฒน์ ฯ  ถ้าไปตั้งข้อสังเกตดี ๆ สภาพัฒน์ ฯ มีความ Concern เรื่องของ Economic Efficiency มากเป็นพิเศษ ความต้องการที่จะ Balance ระหว่างเรื่องของ Safety กับ Economic Efficiency ของคนสองกลุ่ม ทำให้เราเห็นความเป็น Technocracy 2 แบบ แบบที่ 1คือ Scientific Rationality เป็นกลุ่มของสายการแพทย์ มีคุณหมอเป็นตัวแทน และแบบที่ 2 คือ Economic Rationality มีบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ Dominate อย่างสภาพัฒน์ ฯ เป็นตัวแทน การ balance ทำให้เกิด Technocracy Crash กันเอง นำไปสู่ Policy Paradox การเกิด Policy Paradox ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าจากเครื่องมือการคิดแบบ Instrumental Rationality ต้องตอบให้ได้ว่าสิ่งไหนคือ Maximization ของสังคมระหว่าง Scientific Rationality หรือ Economic Rationality การตอบคำถามคำตอบจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ข้อเสนอของคำตอบต้องเป็นทางออกที่ดีที่สุด

Technocracy Crash ขณะเดียวกันมันบอกกับเราว่าผลผลิตจากวิธีการเดียวกันในการสร้างนโยบายสาธารณะ อาจได้ Technocracy จริง แต่ก็ยังเกิด Crash กันเองเลย แล้วทางออกที่ดีที่สุดด้วยการใช้นโยบายสาธารณะจะมีอยู่จริงหรือไม่ บางความคิดเห็นเสนอว่า ถ้าไม่มีทางออกที่ดีที่สุดด้วยการใช้นโยบายสาธารณะแล้ว ทำไมเรายังไป Rely On แค่ Fact ในแบบที่เป็น Objective Fact โดยมองข้าม Subjective Fact

ตัวอย่างเช่น เคสที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ เชียงราย ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อในตอนนี้นะ ผมคิดว่าคนไทยมันมี Norm มี Value  มี Emotion คือมันเป็น Dramatic Society แล้วมัน Beyond ไอ้ตัวเลขและมีผลจริงต่อสังคม ทำให้การ Respond โดยนโยบายสาธารณะ มันต้องไม่ใช่แค่ Respond ตัวเลข มันต้อง Respond Feeling ผู้คนด้วย ก็คือเรื่องของ Fear เรื่องของ Panic แล้วก็เรื่องของ Fluctuation ที่เกิดกับความรู้สึกของผู้คน ในกรณีนี้ในฝั่ง Economic Rationality อย่างกลุ่มผู้ประกอบการในเชียงใหม่ กลุ่มนี้มีความต้องการให้รัฐบาลนำร่องเปิดเชียงใหม่ให้โรคเข้ามาด้วยซ้ำ ทั้งเห็นว่าเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว และทางผู้ประกอบการก็เตรียมการรับรักท่องเที่ยวไว้แล้ว เคสที่ได้ยินข่าวมาเห็นว่า กลุ่มผู้ประกอบการทั้งหลายถึงขั้นลงขัน หากมีนักท่องเที่ยวติดโควิดจะจัดการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แต่ถ้าเป็นฝั่งของ Scientific Rationality กลุ่มนี้จะเห็นว่าไม่ควรเปิดการท่องเที่ยว เพราะช่วงนี้มันมีเคสผู้ป่วยเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเกิดการแพร่ระบากระลอก 2 ควรหยุดการท่องเที่ยว ตัวอย่างที่ยกมานี้ผมกำลังจะชี้ให้เห็นว่า เวลาเราพูดถึง Social World หรือ Policy World มันไม่ได้สามารถที่จะไปพูดเรื่องขาว เรื่องดำได้อีกต่อไปแล้ว ด้วยความที่มันเป็น Complexity มากๆ Complex Issue เป็นวิกฤต Issue มากมันไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งเป็นเครื่องมือที่น่าเชื่อถือที่สุด Beyond เครื่องมืออื่น ๆ มันเคลมแบบนั้นไม่ได้แล้วภายใต้โลกที่มัน Risky มากขึ้น มัน Uncertainty มากขึ้น”

ผู้ชมฟังอาจารย์ปิยะพงษ์เล่าจนเพลิน อาจารย์ธีรพัฒน์จึงชวนอาจารย์พัชราภาแลกเปลี่ยนความเห็นบ้าง

อาจารย์ธีรพัฒน์: “จากที่อาจารย์ปิยะพงษ์ เล่าว่านโยบายสาธารณะเริ่มต้นสร้างความเป็นสมัยใหม่มาตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 พอไทยเรามีความเป็นสมัยใหม่เกิดขึ้น ทั้งวิธีคิด ทั้งเรื่องการวางแผน การคิดเรื่องโครงสร้าง ทั้งระบบต่าง ๆ ในเมืองไทย อยากทราบว่าในไทยเรามีวิธีคิดเรื่องนโยบายสาธารณะเป็นมาอย่างไร คนกลุ่มไหนหรือใครที่เป็นคนที่กำหนดและใช้แนวคิดพวกนี้มากที่สุด?”

อาจารย์พัชราภา: “ในประเทศไทยก่อน 2475 ถ้าเกิดจะย้อนไปดูเรื่องของการกำหนดนโยบาย เราพบว่าอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย อย่างเช่น ในยุครัชกาลที่ 5 ก็มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากฮอลันดามาดู มาศึกษาเรื่องการชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และรัชกาลที่ 7 เองก็มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากอเมริกามาสำรวจเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจของชนบทสยาม แต่ว่าเราอาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องนี้เท่าไหร่นัก คมักนจะพูดถึงเรื่องของเทคโนแครตที่เชื่อมโยงกับการตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติในยุคของจอมพล ป. ช่วงหลัง 2475 มีการตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติในปี 2493 เพื่อที่จะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะนั้น และเทคโนแครตมาชัดเจนอีกครั้งในยุคของจอมพลสฤษดิ์ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้เทคโนแครตกลายเป็นสถาบันและมีอิทธิพลในกระบวนการกำหนดนโยบาย และในสมัยของพลเอกเปรม ช่วงปลาย ๆ ปีทศวรรษที่ 70 แล้วก็เริ่มปี 80 นับเป็นยุคทองของเทคโนแครต สถาบันเชิงเทคโนแครตที่สำคัญได้แก่

  1. สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ (2493) สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พัฒนามาเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (2502) สมัยจอมพลสฤษดิ์ เพื่อศึกษาข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจ จัดทำแผนพัฒนาประเทศ มีทั้งเทคโนแครตไทย และจาก world bank เป้าหมาย มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การเกษตร พัฒนาชุมชน
  2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  3. สำนักงบประมาณ
  4. ธนาคารแห่งประเทศไทย
  5. TDRI (2527) อาณัติ อาภาภิรม

สถาบันทั้งหมดนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อทำงานในเชิงเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายการเงิน การคลัง หนี้สาธารณะ ยุทธศาสตร์การพัฒนา นโยบายที่เกิดขึ้นวางอยู่บนเป้าหมายของการพัฒนาเรื่องของการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาชนบท การเกษตร การสื่อสาร เน้นในเรื่องของข้อมูลทางเศรษฐกิจ เอามาทำแผน แต่ไม่เน้น Value หรือความยากจน เรื่องของสังคม และสิ่งแวดล้อมเลย ทั้งนี้สถาบันได้รับอิทธิพลของธนาคารโลกจากฝั่งตะวันตก

  • การกำหนดนโยบายรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์: ยุคสร้างเทคโนแครตให้เป็นสถาบัน

รัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นยุคที่ทำให้เทคโนแครตมีความเป็นสถาบัน ในกระบวนการกำหนดนโยบายมี Actor ที่เรียกว่าเป็นแกนหลักอยู่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น คือ เป็นการเมืองแบบปิด จะมีบางกลุ่มเท่านั้นที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย อย่างเช่น หลัก ๆ ก็คือ พวกข้าราชการ ทหาร พลเรือน และเทคโนแครต ประกอบกันกับอิทธิพลจาก World Bank ด้วย อันนี้เป็นพลังหลัก แล้วก็จะมีคนที่อยู่รอบนอกวงการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย ก็คือเป็นพวกผู้ประกอบการ พวกกลุ่มนายทุนซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลคัดเข้ามาแล้ว เป็นทุนธนาคารเชื้อสายจีน เป็นพันธมิตรของพลังหลักวงข้างใน แต่ส่วนที่หายไปคือพลังจากข้างนอก ได้แก่ พรรคการเมือง หรือภาคประชาสังคม เป็นไปตามลักษณะของการเมืองที่เป็นระบอบการเมืองแบบปิด ไม่เปิดช่องของการมีส่วนร่วมของภาคสังคมเข้ามา

  • การกำหนดนโยบายรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์: ยุคทองของ Technocrat

ในช่วงของพลเอกเปรม เริ่มมีการให้กลุ่มทุนอื่น ๆ เข้ามาผ่านการคัดกรองผ่าน ก.ร.อ. มีกลุ่มเทคโนแครตซึ่งเป็นยุคทองของเทคโนแครตที่เราพูดถึง คือ สถาบันที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ ฯ  มีบทบาททั้งในการวางแผน ทั้งคิด แล้วก็ติดตามผลของนโยบายของรัฐบาล ทหาร พลเรือน ข้าราชการ ที่มีตำแหน่งที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองเริ่มขยับเข้ามามีบทบาท เริ่มมีพื้นที่ให้ NGOs มีข้อเสนอจากความต้องการของ Mob บ้าง แต่หลัก ๆ แล้วอิทธิพลก็จะอยู่แค่วงใน ยุคทองที่ว่านี้เกิดจากการที่รัฐบาลมีการใช้คณะที่ปรึกษาจาก ทหาร นักวิชาการ เช่น TDRI / NIDA มีกลไกร่วมมือรัฐ เอกชน ก.ร.อ. มีสภาพัฒน์ ฯ เป็นตัวแสดงหลักในการคิด ขับเคลื่อน ติดตามผล มีการเน้นประเด็นของการสร้างความมั่นคง การพัฒนา ผลงานสำคัญในยุคนี้ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (ESB)

  • การกำหนดนโยบายในสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ: กลุ่มบ้านพิษณุโลก

ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงยโยบายระหว่างประเทศและมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการใช้ที่ปรึกษาในการกำหนดนโยบาย รัฐบาลชุดชาติชายมีกลุ่มของคณะที่ปรึกษา ชื่อ “บ้านพิษณุโลก” มี 7 ท่าน ได้แก่

นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์                             ประธานที่ปรึกษา
ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร                           ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี                            ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ
ดร.ชวนชัย อัชนันท์                                   ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ (ไม่มีรูป)
ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ                            ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย                           ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ                             นักวิจัย ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักของคณะที่ปรึกษา

กลุ่มบ้านพิษณุโลกเป็นผลมาจากบริบททางการเมืองทั้งภายนอกและภายในประเทศ กล่าวคือ บริบทการเมืองภายนอกประเทศเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของสงครามเย็น สหภาพโซเวียตปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ฯ จีนและสหภาพโซเวียต มีการปรับความสัมพันธ์กันไปในทางที่ดีขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ของโลกจากสงครามเย็นไปสู่แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย รัฐบาลชาติชายจึงเน้นการแข่งขันทางการค้าแทนความมั่นคงทางการทหาร ส่วนการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลชาติชายมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ขยายบทบาทให้กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและภาคธุรกิจเข้ามาเติมเต็มมิติทางสังคม จากเดิมที่มาจากทหารและราชการ

กลุ่มบ้านพิษณุโลกทำหน้าที่เสนอข้อมูลทางเลือกที่อยู่นอกเหนือจากของหน่วยงานภาครัฐ คัดกรองข้อเสนอและ ตรวจสอบข้อมูลจากภาครัฐที่ส่งมา นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ระดมความเห็นและเปิดช่องทางให้ภาคประชาสังคม NGO มาให้ความเห็นหรือเสนอข้อมูลโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี กลุ่มบ้านพิษณุโลกจะทำงานโดยการค้นคว้าเอกสาร จัดประชุมกลุ่มย่อย และประชุมรับความคิดเห็น ตัวอย่างผลงาน เช่น การทำคณะรัฐมนตรีสัญจร เพื่อแก้ปัญหาข้าราชการประจำที่รวบรวมข้อมูลฝ่ายเดียวที่ข้อมูลไม่สอดคล้องกับความจริงในพื้นที่ เปิดช่องให้มวลชนเข้าสู่ศูนย์อำนาจ และ นโยบายการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า การสร้างสันติภาพในกัมพูชาโดยรัฐบาลชาติชายเป็นเจ้าภาพในการเจรจาในประเทศไทย โดยใช้บ้านพิษณุโลกเป็นกลไกไปเจรจากับกัมพูชา สหรัฐ ฯ  และจีน โดยไม่ให้ความสำคัญกับกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นกลไกหลัก

ผลจากการตั้งกลุ่มบ้านพิษณุโลก ทำให้ภาคประชาสังคมมีพื้นที่ในกระบวนการกำหนดนโยบายมากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสวัสดิการสังคม สิ่งแวดล้อม การเข้าถึงทรัพยากร ผ่านช่องทางคณะที่ปรึกษา นอกจากหน่วยงานรัฐ เกิดการเชื่อมโยงของความต้องการของภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบาย สร้างการทำงานแบบนักวิจัย ทำให้นักการเมืองมีองค์ความรู้ สามารถแสดงความคิดเห็น นักการเมืองมีอิทธิพลกำหนดทิศทางนโยบายได้มากกว่าเดิม สามารถทำงานเชิงรุกได้ ไม่ต้องรอระบบราชการ หรือสภาพัฒน์ ฯ เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีผลเสียคือไม่สามารถควบคุมปัญหาบางประการ เช่น คอรัปชั่น รัฐประหาร เพราะเป็นเรื่องการเจรจาในวงพรรคร่วมรัฐบาล และไม่มีองค์ความรู้และเครือข่ายด้านความมั่นคงทางการทหารมากพอ และทำให้การผลักดันนโยบายไม่คล่องตัว เนื่องจากปะทะกับพรรคร่วมรัฐบาล มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบราชการ กองทัพและพรรคร่วมรัฐบาล”

อาจารย์ธีรพัฒน์ชวนอาจารย์ปิยะพงษ์แลกเปลี่ยน: “พอมาถึงจุดหนึ่งแล้วเราเห็นความหลากหลายของเทคโนแครตที่ก้าวมาเรื่อย ๆ รวมถึงสะท้อนวิธีคิด การทำ การจัดสถาบัน ของเทคโนแครตแล้ว ไอเดียเรื่องการกำหนดนโยบายแบบวางอยู่บนข้อมูล ชุดข้อมูลหลักฐานพวกนี้ มันมี Impact อะไรบ้าง แล้วก็ถ้าเราจะก้าวพ้นมันหรือชวนมองไปในอนาคต มันมีความท้าทายหรือข้อค้นพบอะไรใหม่ ๆ บ้าง?”

อาจารย์ปิยะพงษ์ตอบ: “ผมคิดว่าช่วงที่อาจารย์พัชราภานำเสนอ มันสะท้อนให้เห็น Dynamic อย่างที่ อ.ธีรพัฒน์ พูดได้ดีมาก โดยที่ผมอยากจะเสริมนิดหนึ่ง ก็คือ พอหลังจากช่วงที่เราเริ่มเลิกฝันเรื่อง NIC แล้ว เรื่องประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งแน่นอนต้องขับเคลื่อนไปด้วย Economic Rationality เป็นหลัก มาสู่ ยุคที่ไม่มีใครฟังสภาพัฒน์ ฯ แล้ว ก็คือหลังยุคทักษิณเป็นต้นมา แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันที่เราชอบเชื่อว่ารัฐบาล คสช. กลับไปใช้เทคโนแครต แต่ถ้าไปนั่งคุยกับคนในสภาพัฒน์ ฯ จริง ๆ เขาจะไม่ได้มองแบบนั้นเลย และหากดูนโยบายจริง ๆ ก็ยังเป็นนโยบายที่วางบน Political Rationality ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนสำคัญ ผมว่าในรายละเอียดมันคงมี Dynamic เยอะ แต่ว่า Turn ที่มีความสำคัญมาก คือ Turn จากการที่เราคิดเรื่อง Economic Worth มาสู่ยุคที่มัน Political Polarization จุดสังเกตสำคัญของผมก็คือมันมี Dynamic ของ Policy Technocrat ซึ่งเชื่อมโยงกับ Policy Landscape ด้วย แต่ว่าภาพหนึ่งที่ไม่เคยที่จะเปลี่ยนเลย ก็คือ Nexus ที่อยู่ร่วมกันมาตลอดระหว่าง Science Politic แล้วก็ Citizen เพียงแต่มันจะเป็นแบบที่อาจารย์พัชราภาพูด บางยุค Science มันเด่นมาก บางยุค Politic มันเด่นมาก บางยุค Citizen มัน Dominate พอสมควร อย่างตอนนี้ผมว่า Citizen กำลังโดดเด่น แต่ Point ก็คือ Nexus 3 อันนี้ มันอยู่ตลอดในทุกช่วงของประวัติศาสตร์

ก่อนที่จะกระโดดไปต่อในประเด็นที่พูดเรื่องลักษณะที่อาจจะ Beyond ข้อจำกัดตรงนี้ไปสู่แนวทางอะไรได้บ้าง ผมคิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวเลยว่าคุณกำลังพูดถึง Data Analytics ไหม คุณกำลังพูดถึง Big Data หรือว่าคุณไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของตัวเลข หลักฐานที่เป็น Fact หรือว่าเป็น Objectivity หรือไม่ สิ่งที่มันสำคัญที่สุดมันไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณกำลังที่จะใช้ Big Data ที่สำคัญที่สุดเนี่ยมันอยู่ที่ว่าเทคโนแครตยังมีนิยามที่สำคัญที่สุด ที่ผมคิดว่าอยากจะเน้น ที่ผมเน้นไปตั้งแต่ตอนต้น ก็คือ การมี Mindset เรื่องของการที่คุณเชื่อว่าคุณกำลังหาแค่ Objective Fact อยู่ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คุณยังเชื่อใน Instrumental Rationality โดยใช้เครื่องมือที่เป็น Objective แล้วคุณปฏิเสธ Subjective แต่ Point ก็คือ ใน Policy Lab หลาย Policy Lab มากผมตั้งข้อสังเกต ที่ผมตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเนี่ยเป็นเพราะว่ามี Professor คนหนึ่งที่ผมก็ค่อนข้างที่จะเคารพแก แกถือเป็น Founder ของ School of Though อันหนึ่ง ชื่อว่า Hendrik Wagenaar แกก็เป็นหนึ่งในคนที่ไป Establish ไอเดียเรื่อง Policy Lab อยู่ที่ King College ผมเคยมี Mindset มาโดยตลอดว่า Policy Lab ก็ Metaphor ก็รู้อยู่ว่าคุณกำลังพูดเรื่อง Scientific Rationality เพราะคุณใช้คำว่า Lab ในการมาคิดเรื่อง Policy แต่ประโยคหนึ่งที่แกอธิบายให้ผมฟัง และผมอยากจะแบ่งปันตรงนี้ก็คือ คุณจะไปอยู่ใน Lab หรือคุณจะไปเรียกว่า Data Analytic คุณจะไปอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ Mindset ของคุณมองว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่คุณเสนอมันคือ Narrative อันหนึ่ง อยู่ใน Narrative อีกจำนวนมากเลย คุณแค่เป็น Narrative หนึ่ง ข้อเสนอของคุณ ผลการวิเคราะห์ของคุณ คุณ Perceive มันว่าเป็นแค่ Narrative คุณไม่ได้ Perceive มันว่าเป็น The Best Way ผมว่านี่คือ Critical Point เลยในการที่จะจำแนกระหว่างอะไรคือ Technocracy แบบเดิม กับ อะไรคือ Neo Technocracy หรือว่า New Expertise หรืออาจจะเรียกว่าเป็น Critical Policy Study ได้ หรือว่าเป็น Boundary ที่ Beyond เรื่องของ Traditional Technocracy แบบที่เราคุยกันก่อนหน้านี้”

“Evidence Based Policy จริง ๆ มันมี Journal หนึ่งชื่อว่า Evidence and Policy ซึ่งเจ้าภาพก็เป็น King College แต่ถ้าไปดูงานจริง ๆ จะเจอว่ามีข้อมูลแม้กระทั่งคนที่พูดเรื่อง Subjective Evidence แสดงว่าคุณก็พูดเรื่อง Evidence Based เหมือนกัน แต่ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนแครตแบบเดิม คุณสามารถที่จะพูดถึง มันอยู่ที่ Mindset จริง ๆ ว่าคุณเปิดกว้างสำหรับสิ่งที่มันเป็น Value ด้วย ในฐานะเป็นหลักฐานแบบหนึ่ง หรือ Meaning ด้วยซ้ำไป หรือ Discourse ด้วยซ้ำไป แต่คุณ Perceive Discourse ในฐานะที่เป็น Evidence อันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ภาษาทั้งหมดทั้งมวลที่เป็น Big Data Data Analytic อะไรต่อมิอะไร ในมุมผม ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งเขากระโดดเข้ามา เพราะเขารู้สึกว่านี่มันคือ Rule of the game ของยุคสมัย แต่ว่ามันมี Critical Policy Scholar จำนวนมาก Critical Policy Scholar ขออนุญาตพูดถึงเค้าในความหมายที่ว่า คนที่พยายามที่จะ Beyond Technocracy ในแบบที่เป็น Traditional หรือว่า Conventional ที่เขาก็กระโดดเข้ามาใน Boundary แบบนี้ แต่เขากำลัง Position ตัวเองว่าเขามองมันเป็นแค่ Discourse แบบหนึ่ง Policy Lab Big Data Data Analytic หรือว่า  Whatever แต่ในหัวเขาคิดตลอดเลยว่ามันไม่ได้ Reflect ภาพทั้งหมด มันมีข้อจำกัด เราจำเป็นที่จะต้องนึกถึง Normative Evidence ด้วยนะ เราจำเป็นที่จะต้องนึกถึงเรื่องของความคาดหวังของผู้คน เรื่อง Hope เรื่อง Fear เรื่อง Emotion ด้วย อันนั้นต่างหากที่ผมคิดว่าน่าสนใจ” อาจารย์ปิยะพงษ์เสริม

จากนั้นอาจารย์ธีรพัฒน์ขยับเวทีมายังอาจารย์พัชราภา: “เราเห็นพัฒนาการ Approach ความหลากหลายของเทคโนแครตในการเมืองไทย พอเราหันมามองการเมืองไทยร่วมสมัยมากขึ้น ยุคที่เราอยู่ในรัฐบาลที่ยากเหลือเกินที่จะให้คำนิยามว่าสุดท้ายแล้วเราอยู่ในระบอบอะไร มีการกำหนดนโยบายแบบไหน บางครั้งก็ดูมีระบบ บางครั้งก็ดูเหมือนจะไม่มี เท่าที่คิดแบบเทคโนแครตมันคงทนมาอยู่ทุกแบบ ทุกสมัย ทุกรูปแบบการปกครอง แต่ในปัจจุบันอาจารย์ลองมองว่า เราสามารถจะอธิบายภาพพวกนี้อย่างไรได้บ้าง?”

Technocracy ที่ไม่มีประชาชน เหมือนกับว่าเป็นเทคโนแครตที่แบบไม่ค่อยมีหัวใจ … Technocracy แบบนี้มันไปกันได้กับระบอบที่มันไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย

ดร. พัชราภา ตันตราจิน คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

อาจารย์พัชราภาชี้ว่า: “ดิฉันแบ่งเทคโนแครตออกเป็นสองประการ คือ Technocracy ที่ไม่มีประชาชน เหมือนกับว่าเป็นเทคโนแครตที่แบบไม่ค่อยมีหัวใจ ดิฉันก็มองในเชิง Emotion ก็คือว่า Technocracy แบบนี้มันไปกันได้กับระบอบที่มันไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย เพราะว่าเขาต้องการ Technocracy เทคโนแครตพวกนี้มาทำงาน ในขณะที่พรรคการเมืองมันไม่ได้รับความไว้วางใจ คือไม่ไว้วางใจนักการเมือง มองว่าพรรคการเมืองอ่อนแอ แล้วก็มองว่าประชาชนก็ยังขาดความรู้ แล้วก็จำเป็นจะต้องให้รัฐชี้นำอยู่เสมอ ผลก็คือว่ามันก็จะเป็นนโยบายสาธารณะที่มันกันประชาชนออกไปเหลือแค่เป็นผู้รับบริการอย่างนโยบายที่ออกมา เช่น นโยบายแจกเงิน 5000 บาท นโยบายคนละครึ่ง พอคนละครึ่งเริ่มสำเร็จ คนละครึ่งใช้ได้ ก็มีเฟส 2 ต่อ เฟส 3 ต่อ อะไรอย่างนี้ มันเป็นการทดลอง คือเขาไม่ได้เช็คดูว่าเอาเข้าจริงแล้วประชาชนต้องการอะไร อีกอย่างคือ คนที่เข้ามามีส่วนในกระบวนการตัดสินใจก็มีภาคธุรกิจที่รัฐก็คัดเอามาด้วย คัดเอามาแล้วเป็นทุนขนาดใหญ่อีกต่างหาก คัดมาเพื่อให้การดำเนินงานมันราบรื่น

กับอีกประเภทหนึ่งที่ดิฉันคิดว่ามันทำได้ ก็คือ เป็น Technocracy ที่มันสนับสนุนประชาธิปไตย ดิฉันก็มองในเชิงแบบนักรัฐศาสตร์ ก็เลยจะโยงมาที่ระบอบการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยกลุ่ม Technocrat ก็สำคัญเหมือนกัน แล้วก็ยิ่งเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่มันก็ทำให้เกิดกลุ่ม Technocrat ที่มันมีความหลากหลายกันมากขึ้น แล้วก็มีโอกาสที่ได้แข่งขันกัน มันก็จะมีหลายกลุ่มที่เข้ามาแข่งขัน ได้มีโอกาส ได้ถกเถียงว่าอันไหนมันคือเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับสาธารณะ ซึ่งไม่รู้มีจริงหรือเปล่าด้วย แต่อย่างน้อยมันก็คือได้เข้ามาเสนอ มาถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะ แล้วก็มาทำให้การกำหนดนโยบายเนี่ยมันเป็นระบบเปิดบนฐานของข้อมูลด้วย แต่ว่ามันก็จะมีปัญหากับกลุ่ม Technocrat เก่า ๆ ที่จะไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ เพราะว่า Technocrat เก่า ๆ ก็เข้าไปผลักดันนโยบายได้โดยตรง แล้วก็เป็นวงแคบที่รู้จักกัน แต่ถ้าเป็นระบบประชาธิปไตย มันจะเปิดกว้าง แล้วก็รับเอากลุ่มนักเทคนิค นักวิชาการต่าง ๆ ภาคประชาสังคมได้หลากหลายขึ้น มันก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้น อันนี้ความสำคัญก็คือว่าจุดที่เป็นจุดสำคัญจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ใช่แค่เรื่อง Technocrat หรือไม่ Technocrat แต่มันอยู่ที่ว่าข้อมูลที่เลือกเอามานำเสนอกับภาครัฐมันมาอย่างไร มันมาจาก Map ไหน อาจจะเป็น Scientific มาก ๆ หรือว่ามันมาจากอารมณ์ ความรู้สึก ความหวัง ของผู้คน มันควรจะมีข้อเท็จจริงจากพื้นที่เข้ามาด้วย เข้ามา Joint กันกับข้อมูลจากส่วนที่มันเป็นแค่เชิงสถิติ ตัวเลข แล้วก็ข้อมูลที่เอามามันสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทางการเมือง หรือเศรษฐกิจ สังคมในโลกด้วยไหม อันนี้คิดว่าน่าจะเป็นจุดสำคัญที่ว่า จุดต่างที่ควรจะเน้น ก็คือ เรื่องของข้อมูลเนี่ยแหละที่จะเอามาใช้ ว่ามันมาอย่างไร ทำให้การกำหนดนโยบายมันอยู่บนฐานข้อมูลความรู้ให้มากขึ้น แต่ว่าเป็นข้อมูลแบบไหน อันนี้ต้องพิจารณากัน”

เวลาล่วงเลยมาพอสมควรอาจารย์ธีรพัฒน์ฝากข้อคิดเห็นสำคัญไว้จากวงเสวนาวันนี้: “วิธีคิดเรื่อง Technocracy มันลงไปทุกหย่อมหญ้าเลย ซึ่งอันนี้มันทำให้เราเห็นว่าคำ ๆ นี้ หรือภาษาตัวนี้ มันยังเป็นภาษาที่คนยังพูดถึงอยู่ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรผ่านภาษาตัวนี้ ผมว่าเราน่าจะอยู่ในสังคมหรือในยุคที่เรามาร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้เราขับเคลื่อนไปสู่ยุค Technocracy แบบใหม่ ที่ใส่ใจประชาชนมากขึ้น เป็นประชาธิปไตย ใส่ใจ Input ที่หลากหลาย แล้วนี่เองมันก็คือฐานคิดของ STS นั่นแหละ กลับมาจุดตั้งต้นของงานวันนี้ ก็คือ เรากำลังมองว่า Science มันไม่ได้เป็นแค่รูปแบบ ผลผลิต แต่มันคือวิธีคิดที่เป็นนามธรรมมากกว่านั้น มันคือการให้เหตุและผลที่วางอยู่บนสิ่งที่พิสูจน์ได้ จับต้องได้ วัดผลได้ แล้ววิธีคิดเหล่านี้เอง มีผลกระทบและปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับการก่อตัวและพัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรม พร้อมกันนั้นสังคมและวัฒนธรรมเอง ก็มีผลกระทบในการ Shape รูปร่างของ Technocracy และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เช่นกัน ดังนั้นแล้วการเข้าใจในพลวัตและปฏิสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการมอง การกำหนดนโยบายก็ตาม Technocrat ก็ตาม หรือ STS ก็ตาม”.

ดูคลิปเสวนาได้ที่ >>> https://fb.watch/3K2OOxYpIj/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s