สังคมความเสี่ยงและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่

ในชีวิตของเราแน่นอนว่าต้องเคยเผชิญหน้ากับความไม่ปลอดภัย ความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิต อย่างการพบเจอรถติดในยามเช้าจนเกิดกลัวว่าจะเดินทางไปที่ทำงานสาย หรือในระดับใหญ่ ๆ อย่างเช่น ปัญหาความปลอดด้านมลภาวะอากาศ ที่ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน จะต้องไม่ลืมหยิบหน้ากากกรองอากาศขึ้นมาสวมก่อนผ่านประตูบ้านออกไป ความไม่ปลอดภัยและกังวลกับข่าวของการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน การเกิดภาวะสงครามที่ระอุร้อน ความกลัวจากการต่อรองอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ หรือความกลัวที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานจนทำลายชีวิตปกติเดิมของเราอย่างโรคระบาดชนิดใหม่เชื้อไวรัสโคโรน่า (Coronavirus) 2019 หรือที่เรียกในเวลาต่อมาว่า COVID-19

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่กล่าวนำไปนี้เป็นตัวอย่างของ “ความเสี่ยง” ที่ อุลริช เบ็ค (Ulrich Beck, 1944-2015) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันได้อธิบายไว้ว่าเป็นเสมือนด้านมืด (dark side) ที่ค่อย ๆ แสดงตัวให้มนุษย์เห็น เป็นด้านมืดของสังคมซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนผ่านจากสังคมสมัยใหม่เข้าสู่สังคมความเสี่ยงที่ยากต่อการรับมือ เบ็คเห็นว่าความเสี่ยงเหล่านี้มันกำลังฝังรากลึกเข้าไปในจิตสำนึกของผู้คนตลอดเวลา จนทำให้คนในสังคมมองโลกในแง่ร้าย

STS Cluster Thailand ถือโอกาสพาทุกท่านมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นสังคมความเสี่ยง รวมความไปถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่ เพื่อโยงใยความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์ในการจัดการปัญหาของสังคมความเสี่ยง และประการสำคัญที่สุด คือ การอยู่ในสังคมความเสี่ยงโดยที่เราทุกคนในสังคมสามารถรับมือกับความเสี่ยงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดสายได้ จากความเสี่ยงนำมาสู่งานเสวนาวิชาการที่ได้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้ง ดร.ปัญจภา ปิติไกรศร (เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง Disinformation, Science Communication and Trust: Food Rumours in Thailand)  อ.ดร. ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ดร. กุลพธู ศักดิ์วิทย์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมกันแลกเปลี่ยนทัศนะอันน่าสนใจและสำหรับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการเสวนา STS Cluster Thailand ยังคงได้รับความอนุเคราะห์จาก อ.ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างเช่นเคย

ประเด็นของวงเสวนาออนไลน์เริ่มต้นจากอาจารย์ธีรพัฒน์

อ.ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: ผมอยากจะรบกวนให้อาจารย์ปัญจภา เริ่มเล่าถึงมุมมองและงานวิจัยที่อาจารย์ทำมาเกี่ยวกับเรื่องสังคมความเสี่ยงและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ แล้วจากนั้นเราก็จะเข้าสู่การแลกเปลี่ยนกันครับ

อ.ดร. ปัญจภา ปิติไกรศร เริ่มต้นเล่าว่า: ขอเริ่มจากความหมายของความเสี่ยงก่อนนะคะ ถ้าถามว่าความเสี่ยงคืออะไร คำตอบคือ ความเสี่ยงเป็นการคาดการณ์ว่าจะเกิดความรุนแรงหรือมีความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยระดับมากน้อยของความเสี่ยง และระดับของความเสียหายจากความเสี่ยงจะขึ้นกับพื้นที่ เวลา และข้อจำกัดทางสังคม เช่น กรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลก เราใช้เวลานานมากกว่าเราจะยอมรับว่าปัญหานี้มันมีอยู่จริง เพราะว่าปัญหานี้เคยถูกยกประเด็นจากเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แม้ว่ามีข้อมูลความจริงแต่การทำให้สาธารณะยอมรับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นสื่อจึงมีบทบาทเป็นตัวช่วยที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปยังสู่สาธารณะ แล้วอยู่ที่ว่าสาธารณะเนี่ยจะยอมรับมากน้อยแค่ไหน ความเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีความชัดเจน อย่างเช่น กรณี 911 เป็นกรณีชัดเจนเลยว่า มีภาพ มี Media มี Video Clip ที่ทุกคนจำได้ว่าเป็นการก่อการร้ายที่เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึก หลังจากเหตุการณ์นั้น ทำให้มีมาตรการใหม่ ๆ ในการโดยสารเครื่องบินขึ้นมา เช่น ห้ามนำของเหลวเกินปริมาตรขึ้นเครื่องบิน ห้ามนำของมีคมขึ้นเครื่องบิน มาตราการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่เราถอดจากเหตุการณ์ความเสียหายนั้น ๆ และเป็นการแสดงความกังวลชัดเจนเลยว่าการก่อการร้ายมันอาจจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้อีก แล้วมาตรการการบินนี้ มันก็ถูกปรับใช้กับทั่วโลก

ที่มาและความหมายของสังคม ความเสี่ยง

อ.ดร. ปัญจภา ปิติไกรศร (ต่อ): สำหรับที่มาที่ไปของสังคมความเสี่ยง เริ่มจากยุค Pre-Modern ซึ่งเป็นยุคที่ชุมชนมีขนาดเล็ก มีความใกล้ชิดกัน ศาสนายังมีบทบาทสูงต่อวิถีชีวิตและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สภาพครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย มนุษย์มองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ต่อมาในยุค Early Modernity หรือยุค Enlightenment มีความเปลี่ยนแปลงจากชุมชนกลายเป็นรัฐชาติ ยุคนี้ศาสนามีอิทธิพลต่อมนุษย์น้อยลง และครอบครัวเริ่มกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ถัดมาเป็นยุค Late Modernity หรือ Reflexive Modernity ก็คือเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ยุคโลกาภิวัฒน์ที่บริษัทข้ามชาติมีอิทธิพลมากขึ้น ศาสนา ครอบครัว มีรูปแบบที่หลากหลาย ยืดหยุ่นขึ้น ผลจากการพัฒนาโลกของเราในยุคนี้มีสิ่งที่ตามมาอย่างไม่คาดคิดเลยคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรงไฟฟ้า สารเคมี โลกร้อน มลภาวะ ลักษณะที่มีการพัฒนาและส่งต่อผลพวงของยุคสมัยที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า สังคมเสี่ยงภัย (Risk Society) โดยอุลริช เบ็คได้เสนอไว้ โดยเบ็คคิดอยู่บนฐานที่เขาเชื่อว่า ความทันสมัยจากการพัฒนาของมนุษย์ยังคงมีอยู่ในทุกยุคสมัย แต่มนุษย์มักลืมไปว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรในการพัฒนาความสะดวกสบาย พัฒนาโลกของเราไป แต่สิ่งที่ตามมาอย่างไม่คาดคิดเลยก็คือปัญหาที่ทำให้เกิดสังคมเสี่ยงภัยซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มนุษย์สร้างขึ้น และคนรุ่นถัดไปก็คือผู้ได้รับผลกระทบนั้น และทุกคนก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงนี้ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น Social Suffering มากขึ้น ทั้งนี้ความเสี่ยงในอดีตมีความแตกต่างจากปัจจุบัน ในฐานะมนุษย์สร้างความเสี่ยงขึ้น มนุษย์จึงเป็นผู้ให้ความหมายกับความเสี่ยงที่ตนสร้าง เพราะฉะนั้น เบ็คจึงบอกว่ามนุษย์เราจะต้องมาคิดย้อนมาสะท้อนกลับว่าสิ่งที่เราได้ทำไปมันทำลายตัวเองหรือไม่

อ.ดร. ปัญจภา ปิติไกรศร (ต่อ): จากงานวิจัยของดิฉันชื่อ Disinformation, Communication and Trust: Food Rumours in Thailand ที่เกิดจากความสนใจในข้อมูลเรื่องอาหารที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับสุขภาพ ความกังวลเรื่องสุขภาพของคน และยังเกี่ยวเนื่องกับบทบาทหรือการใช้ Social Media ของแต่ละบุคคล ในตัวงานได้ทำการสะท้อนว่าบทบาทของ Platform Social Media มันมีผลกับการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัน โดยเราแทบไม่ทันรู้ตัวว่าเราได้รับปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นในแต่ละวัน และตัวข้อมูลที่เราได้รับก็ไม่ได้มีการกลั่นกรองเหมือนในสื่ออื่น ๆ รวมไปถึงหลาย ๆ บ้าน อาจจะมีผู้สูงอายุที่เริ่มใช้ Smartphone และเริ่มส่งต่อข้อมูลให้เรา ซึ่งบางทีข้อมูลเหล่านั้น ก็เป็นข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า จริงแค่ไหน Social Media สร้างวัฒนธรรมการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตหรือผู้กระจายเนื้อหาได้ ถ้าคิดภาพไม่ออก ตัวอย่างเช่น เวลาเราเจอคลิป Viral บางอย่าง ที่มาจากคนธรรมดาเนี่ยแหละ เขาถ่ายคลิปไว้ได้ทัน แล้วเขาก็เป็นคน Post คน Share เพราะฉะนั้น คนธรรมดา ซึ่งไม่ใช่สื่อเลย คนคนนั้นก็สามารถที่จะเป็นผู้ผลิต Content หรือคนธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็กระจายเนื้อหา Share เนื้อหาได้ สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของอาหารที่สนใจนั้นมันเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะกินหรือไม่กินซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจ และพฤติกรรมของเราได้

ในงานวิจัยดิฉันแบ่งข้อมูลลวงทางอาหาร (Food Rumours) เป็นสองอย่างใหญ่ ๆ ก็คือ;

1) เป็นสิ่งที่อ้างว่าทานแล้วจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือ ข้อมูลลวงจากการอ้างถึงความอันตรายของอาหารต่อความเสี่ยงต่อสุขภาพ) และ

2) สิ่งที่ทานแล้วจะช่วยรักษาโรคภัย หรือป้องกันสุขภาพได้ หรือ ข้อมูลลวงจากการอ้างถึงคุณประโยชน์ของอาหารต่อการป้องกันสุขภาพ)

ตัวอย่างข้อมูลลวงทางอาหาร ทุกคนอาจจะเคยได้ยินว่า มะนาวโซดารักษามะเร็งซึ่งไม่เป็นความจริง แค่มะนาวผสมโซดาไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งได้ อีกตัวอย่างคือ ไข่ปลอมที่แพร่ระบาด จะว่าไปแล้วในตระกูลอาหารปลอมมีค่อนข้างเยอะ ไม่ได้มีแต่ไข่ปลอมอย่างเดียว ไข่ปลอมก็เป็นที่ถกเถียงกันว่ามันมีจริงไหม หรือมันอย่างไร แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกว่าการทำอาหารปลอมมีต้นทุนที่สูงกว่าไข่จริงก็ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่าจะทำปลอมขึ้นมาหลอกชาวบ้าน เพื่ออะไร ตัวอย่างที่สามก็คือ ทุเรียนเทศรักษามะเร็ง ทุเรียนเทศยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่ารักษามะเร็งได้จริงไหม เพราะมีคนอ้างว่าทานแล้วหายจากโรคมะเร็ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีทางแพทย์ออกมาเตือนว่า มันทำลายเซลล์มะเร็งก็จริง แต่มันก็ทำลายอวัยวะภายในต่าง ๆ ของเราด้วย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากข้อมูลลวงทางอาหารมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ สุขภาวะ พฤติกรรมการใช้ Social Media ของเรา ผลสรุปในงานวิจัยของดิฉันได้เก็บข้อมูลของข้อมูลลวงทางอาหารในช่วงกรอบระยะเวลา 4 ปี ก็คือ 2013-2016 ซึ่งช่วงนี้ดิฉันสังเกตว่ามันเป็นช่วงที่จำนวนผู้ใช้งานใน Facebook ของคนไทยพุ่งขึ้นสูง ทุกคนกำลังตื่นเต้นกับแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ตื่นเต้นกับการแชร์ และมีการครีเอทข้อมูลมากมาย มีการแชร์ข้อมูลมากมาย รู้สึกว่าเป็นช่วงที่น่าสนใจ หลังจากเก็บมา 73 ชุด/รายการ นำมาทำ Content Analysis เพื่อดูว่ามันมีจุดเด่นตรงไหน ดิฉันพบว่า

ประการแรก พบว่าผู้สร้างข้อมูลลวงทางอาหาร มีความต้องการอยากจะทำให้คนเชื่อ มีการสร้างความน่าเชื่อถือ (The Making of Reliability) โดยใช้วิธีการสร้างความน่าเชื่อถือ เริ่มจากการอ้างถึงสถาบันสักสถาบันหนึ่งว่าสถาบันนั้นนั้น ได้ให้ข้อมูลบางอย่างไว้ (ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลลวง) สถาบันที่มักถูกนำมาอ้าง เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ที่ทุกคนรู้จัก

ต่อมาผู้สร้างข้อมูลลวงทางอาหารจะใช้คำพูดที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้รับสาร เช่น ข้อความนั้นอาจจะบอกว่า เพื่อนของเพื่อน ลูกสาวเพื่อน พี่ชายเรา ค้นพบเจอเรื่องนั้น เรื่องนี้ เป็นเป็นการเชื่อมโยงว่าต้นกำเนิดของข้อมูลนี้อาจมาจากคนรู้จักของคนรู้จักของเราอีกทีหนึ่ง

ขั้นตอนที่สาม คือ การใช้สถิติ (แต่ไม่มีที่มาของสถิติที่ชัดเจน) คือ ใช้ตัวเลขมาทำให้เรารู้สึกตื่นตระหนกได้ อย่างเช่น ตอนนี้ไทยติดอันดับหนึ่งผู้ป่วยมะเร็ง แต่ไม่รู้ว่ามาจากไหน อาจจะ Top 5 Top 10 ซึ่งมันเป็นตัวเลขที่แบบดูสูง ดูใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้

 ประการที่สอง คือ การอ้างหลักการ แนวคิด ข้อความ หรือ คำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ (The Use of Scientific Statements) ซึ่งความหมายของคำที่ใช้ไม่ได้มีความซับซ้อน บางทีเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษธรรมดา แต่เป็นชื่อสารเคมีที่มันสร้างความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างได้ เช่น น้ำแข็งยูนิตใส่ฟอร์มาลีน ปกติทุกคนจะมีเข้าใจว่าฟอร์มาลีนใช้แช่ศพ แต่พอฟอร์มาลีนมาเชื่อมโยงกับอาหารจึงเกิดความตื่นตระหนกขึ้น

ประการที่สาม คือ การใช้ข้อความที่สร้างความรู้สึกว่า “ต้องระวัง” (Caution) แบ่งเป็น;

1) อ้างถึงความอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การปนเปื้อนหรือสารพิษจากการรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง

2) อ้างถึงความเจ็บป่วยต่อสุขภาพ เช่น ก่อให้เกิดโรคไต โรคมะเร็ง อย่างที่สอง หรือ อาหารที่ทานแล้วเจ็บป่วยต่อสุขภาพ

ประการที่สี่ ก็คือ ข้อมูลลวงที่ให้ความหวัง เป็นการใช้ข้อความที่สร้างความรู้สึก “มีความหวัง” (Hope) ความเด่นประการที่สี่นี้มีบทบาทพอสมควร เพราะว่า หากคนป่วยกำลังสิ้นหวังกับโรคภัยของเขาได้อ่านขึ้นมา มันอาจจะไปตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาอยากฟังได้ อย่างเช่น การมีสูตรอาหารวิเศษ หรือยาวิเศษ ที่อาจจะช่วยรักษาอาการอะไรต่าง ๆ อย่างรูปผักเขียว ๆ อันนั้นก็คือ ตะไคร้ใบเตย แก้โรคเก๊าท์ บอกว่าให้มาต้มแล้วกินเพื่อช่วยรักษาโรคได้ หรือ กล้วยมีจุดดำเป็นยาอายุวัฒนะ

ประการที่ห้า การใช้ข้อความหรือสัญลักษณ์ที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ (Emotional Play) ส่วนตัวมองว่าบทบาทของภาษาไทยมันค่อนข้างส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของคนไทย อย่าง อัศเจรีย์ หรือ เครื่องหมายตกใจ (!) ตัวเดียวมีผลให้เรารู้สึกตระหนก หรือตื่นกลัว หรือว่าต้องรีบบอกต่อเพื่อน บอกต่อคนรักของเรา และการใช้ข้อความที่แสดงถึงการค้นพบความจริงที่ถูกปิดซ่อนไว้

 ผลลบที่เกิดขึ้นจากข้อมูลลวงเหล่านี้ บางทีมันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่มันอาจจะไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ แต่ว่ามันมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จากข้อมูลที่เก็บมาทั้ง 73 ข่าว พบว่ามีเพียงบางเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง มีบางเรื่องไปถึงรัฐบาล หรือมีเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกมาโต้แย้งให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ส่วนตัวดิฉันมองว่าในทุก ๆ การโต้แย้งข้อมูลลวงจำเป็นที่จะต้องมีการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นผู้คนที่รับข่าวสารจะไม่รู้ว่าอะไรคือข้อมูลที่แท้จริง ถูกต้อง การโต้แย้งต่อข้อมูลลวง (Debunking) ขณะเดียวกันจึงถือว่าเป็นการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง

ผลลบที่เกิดขึ้นจากข้อมูลลวงเหล่านี้ บางทีมันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่มันอาจจะไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ แต่ว่ามันมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง … การโต้แย้งข้อมูลลวงจำเป็นที่จะต้องมีการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย ไม่เช่นนั้นผู้คนที่รับข่าวสารจะไม่รู้ว่าอะไรคือข้อมูลที่แท้จริง ถูกต้อง การโต้แย้งต่อข้อมูลลวง (Debunking) ขณะเดียวกันจึงถือว่าเป็นการสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง

ปัญจภา ปิติไกรศร

.ดร. ปัญจภา ปิติไกรศร (ต่อ): การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นการสร้างความตระหนักรู้ การเสนอความเห็น และเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในข้อเท็จจริง และเป็นการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่น่าสนใจซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนนิยามของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ถูกนิยามไว้หลาย ๆ ความหมาย แต่ที่อัปเดตที่สุดเป็นของ The National Academies of Sciences, Engineering and Medicine (2017)  ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการนำเสนอข้อค้นพบใหม่ ๆ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สนับสนุนให้สาธารณะเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ สร้างบทบาทต่อนโยบายและพฤติกรรมของคน และเน้นย้ำเรื่องการตอบรับมุมมองที่หลากหลายภาคส่วนต่อการแก้ปัญหาสังคม เพราะฉะนั้นดิฉันอยากสรุปว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์ ก็คือ การทำให้เรื่องราวของวิทยาศาสตร์ ถูกนำมาคิด นำมาพูดถึง  แล้วก็ถกเถียงในสังคม ดิฉันขอเสนอการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่ที่ควรจะเป็นไว้ดังนี้

1. การสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่จึงต้องเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับสังคม กล่าวคือ ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เป็นสิ่งที่สาธารณะรับรู้ได้ ไม่ให้คนในสังคมรู้สึกว่ามันยากเกินไป ตามข้อเสนอนี้แล้วดิฉันคิดว่าเราคงไม่สามารถที่จะไปพูดถึงเนื้อหาของฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หรือความรู้วิทยาศาสตร์เพียว ๆ ได้ เราอาจพูดประเด็นที่สาธารณะได้เจอ รู้สึกกังขา แล้วถ้าเราอธิบายแบบวิทยาศาสตร์

2. การแข่งขันในการสื่อสารควรพัฒนาให้ออกมาในรูปแบบ Content แบบช้า แต่ชัวร์ เนื่องจาก เราจะเห็นว่า Platform Online กมีบทบาทในการช่วยให้การสื่อสารให้เกิดความสนุกมากขึ้น แต่ในช่วงแรก ๆ ดิฉันเห็นว่ามันมีการแข่งขันทางการสื่อสารพอสมควรทีเดียว ซึ่งการแข่งขันการสื่อสารในที่นี้คือหลาย ๆ ครั้ง สื่อกระแสหลักเอง หรือสื่อ Social Influencer เองก็อยากจะเป็นคนแรกหรืออยากจะเป็นคนที่พูดก่อนเพื่อที่แย่งชิงพื้นที่ความสนใจ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือว่ามันทำให้ข้อมูลมันผิดพลาดได้ ซึ่งตรงนี้มันจะยิ่งแย่ไปกว่าเดิมตรงที่เกิดข้อมูลแบบผิดซ้อนผิด

3. การที่ทุกคนสามารถพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการมาพูดเสมอไป ขอให้เป็นผู้ที่มีทักษะในการสื่อสาร แล้วก็ใช้ช่องทางการสื่อสารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

4. การสื่อสารวิทยาศาสตร์สำคัญในทุก ๆ ส่วนเลย คือ Content ก็สำคัญ การมีเอกลักษณ์ ในการสื่อสารก็สำคัญ หรือบางทีตัวผู้พูดเองก็สำคัญที่ทำให้คนรับฟังได้ แต่สุดท้ายแล้วการสื่อสารวิทยาศาสตร์ใน Social Media ก็ได้ประมาณหนึ่ง

5. พึ่งพิงสื่อกระแสหลักที่มีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลสูง ถ้าอ้างถึงจากการโต้แย้งข้อมูลลวงในหลาย ๆ ครั้ง Social Influencer จะสื่อสารได้ในระดับหนึ่ง สำหรับการที่ Facebook จะพาข้อความนั้นไปถึง มันก็มีข้อจำกัดหลายอย่างอยู่ แต่ถ้าหากว่าถูกขยายหรือถูกเผยแพร่ซ้ำ โดยสื่อกระแสหลัก มันก็จะไปถึงคนวงกว้างมากขึ้น หลาย ๆ ครั้งอย่างเช่น สื่อกระแสหลักได้นำข้อความการโต้แย้งข้อมูลลวงของ Social Influencer ไปใช้ การโต้แย้งข้อมูลลวงก็เข้าถึงถึงคนที่ไม่มีบัญชี Facebook Twitter เป็นต้น

การต่อสู้กับข้อมูลลวงทางอาหารด้วยการสื่อสารวิทยาศาสตร์

.ดร. ปัญจภา ปิติไกรศร (ต่อ): ข้อมูลลวงทางอาหารได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่าสร้างความเสียหายขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางการป้องกันอย่างหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือความเสี่ยงขึ้นอีก ส่วนสำคัญคือการใช้หลักการหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน มาอธิบายหรือโต้แย้งข้อมูลลวงทางอาหาร

รูปแบบการสื่อสารวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น 4 แบบ (Bucchi 2009, Trench 2008) ดังนี้

  1. Deficit Model; One-Way Communication
  2. Dialogue Model; Two-Way Communication
  3. Lay Expertise Model; Empowering Local Knowledge
  4. Public Participation Model; Co-Operation between public and scientist

แต่จะขอกล่าวถึงสองแบบแรกเท่านั้น คือ;

Deficit Model หรือ One-Way Communication แนวคิดนี้มองว่าสาธารณะขาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงมีหน้าที่เติมช่องว่างให้กับสาธารณะ นักวิทยาศาสตร์ต้องสื่อสารถึงความเสี่ยง คุณประโยชน์ และข้อมูลต่อสาธารณะ

ส่วน Dialogue Model คือ Two-Way Communication เป็นแนวคิดที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับสาธารณะ เชื่อว่าจะสามารถสร้างการสื่อสารวิทยาศาสตร์ตามบริบทนั้น ๆ ได้ แต่ละพื้นที่ได้ แนวคิดนี้มองว่าวิทยาศาสตร์กับสังคมเป็นสองระบบที่ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลต่อกัน

สังคมวิทยาศาสตร์ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?

.ดร. ปัญจภา ปิติไกรศร (ต่อ): สังคมวิทยาศาสตร์ที่ดีในมุมมองของดิฉัน ไม่ได้หมายถึงสังคมที่โปรความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นสังคมที่พร้อมใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ มีการบูรณาการข้อมูลจากหลายฝ่าย และไม่มองข้ามสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน

ตัวอย่างสังคมวิทยาศาสตร์ที่ดีกับเหตุการณ์ COVID-19 ตัวอย่างที่ดีเยี่ยมมาก ๆ ก็คือ ประเทศไต้หวัน จากที่ไต้หวันมีบทเรียนจาก SARS ในปี 2003 ซึ่งหลังจากนั้นไต้หวันได้เตรียมแผนรับมือโรคระบาดมาตลอด มีการแก้กฎหมายให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีแผนรับมือ เรียกได้ว่าไต้หวันได้ถอดบทเรียนจากความเสียหายที่เขาได้เจอ เป็น Reflexive อย่างหนึ่ง และไต้หวันได้ปรับเปลี่ยนให้โรงพยาบาลมีความพร้อมอยู่เสมอ อีกประการหนึ่ง คือ ไต้หวันมีระบบประกันสุขภาพกองทุนเดียว เพราะฉะนั้นข้อมูลสุขภาพของประชาชนทุกคน จะอยู่ในคลังเดียวกัน แล้วข้อมูลชุดนี้ก็เชื่อมโยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญของประเทศ เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ทำให้เขาสามารถที่จะติดตามเคสผู้ป่วยที่เสี่ยงติดเชื้อได้ นอกจากนี้เขาก็ยังใช้เทคโนโลยีในการติดตามผู้กักตัวจากมือถือ มีการให้ผู้กักตัวได้รายงานผ่าน Line Bot ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความโปร่งใสของข้อมูล ทำให้ทุกคนได้รับข้อมูลอย่างสมดุลที่สุด การดำเนินงานหรือการตัดสินใจของรัฐบาล แน่นอนว่ามีส่วนสำคัญ จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือว่าไต้หวัน มีการระงับการส่งออกหน้ากากอนามัย ทำให้ทุกคนในประเทศมีสำรองใช้ก่อน แล้วก็ซื้อได้ในราคาเป็นธรรม ห้ามผู้โดยสารจากจีนเข้าประเทศ รวมไปถึงรัฐบาลกับเอกชนมีความร่วมมือเป็นอย่างดี และอย่างสุดท้าย ทุก ๆ ครั้งความเสี่ยง รัฐบาลจะต้องจัดการกับความตระหนกของประชาชนให้ได้ สิ่งที่รัฐบาลไต้หวันทำ ก็คือ โรงพยาบาลจะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้ รวมถึงข้อมูลการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิดเลย เพราะจะนำความ Panic ไปสู่สาธารณะได้ แล้วก็เวลาคนเรา Panic มันก็จะเกิดข้อมูลลวงขึ้น และถ้ามีข่าวสำคัญหรือข้อมูลสำคัญรัฐบาลจะเป็นผู้แถลงเท่านั้นและจะแถลงในช่วง Primetime

อีกตัวอย่างหนึ่งคิดว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการโควิดเหมือนกัน ก็คือ ประเทศนิวซีแลนด์ จะขอพูดในแง่มุมที่ว่า Jacinda Ardern นากยกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ เป็นผู้นำที่มีความสามารถในการสื่อสารความเสี่ยงมาก สิ่งที่ Jacinda Ardern ทำก็คือมีการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา มีความหมายในทุก ๆ ถ้อยแถลง และที่สำคัญที่สุดเขาได้ทำตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งหรือมีความเห็นอกเห็นใจประชาชนที่กำลังต้องเผชิญกับ
ความสูญเสียหลาย ๆ อย่าง

เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้วดิฉันคิดว่า Good Science Society คือ การรับฟังกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นการยึดจากข้อมูลที่เป็นเชิงประจักษ์ที่มีความเป็นทางการ

ปัญจภา ปิติไกรศร

อาจารย์ธีรพัฒน์หันมาชวนอาจารย์ดวงแก้วแลกเปลี่ยนบ้าง

อ.ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: ผมอยากจะขออนุญาตชวนอาจารย์ดวงแก้ว คุยบ้างครับ ในฐานะที่เป็นอาจารย์ทางด้านการสื่อสาร ว่าในด้านการสื่อสารพอจะมีมุมมองความเสี่ยง การสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างไรที่น่าสนใจ บทบาทของนักสื่อสารมวลชน มันเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงได้จริงไหม?

อ.ดร. ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ: ดิฉันขอยกงานวิจัยของดิฉันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในเรื่องสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของประเด็น Climate Change จากการศึกษาพบว่า ถ้าผู้รับสารหรือผู้อ่านข่าว ผู้ชมข่าว มี Literacy ต่ำ ในการทำความเข้าใจสื่อจะก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดการประเมินความเสี่ยงที่มันผิดต่อเนื่องไปกันใหญ่ ยกตัวอย่างเรื่อง Climate Change เวลาสื่อมวลชนกระแสหลักจะสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ Climate Change สิ่งที่เขาจะทำ คือ ต้องประเมินก่อนว่าใครคือคนที่เรียกว่าน่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนมากแล้วจะหนีไม่พ้นนักวิทยาศาสตร์ แต่หากเป็นเรื่อง Climate Change มันไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ทั้งหมดอีกต่อไป เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายของประเทศที่จะไปเข้าร่วมกับพันธะสัญญานานาชาติ ไปจนถึงการกำหนดนโยบายพลังงาน เพราะฉะนั้นการนำเสนอของสื่อมวลชนกระแสหลักจะพุ่งตรงไปที่ Technocrat หรือที่นักการเมือง หรือที่คนเป็นผู้มีอำนาจในกระทรวง ในรัฐบาลต่าง ๆ ทำให้บทบาทการสื่อสารวิทยาศาสตร์ของ Climate Change ในมือของกลุ่มที่มีอำนาจสูงเหล่านี้และเป็นกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจสูงด้วย ทำให้ข้อความที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่ได้ถูกสื่อสารต่อสาธารณะมากเท่าที่ควร

การสื่อสารที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสื่อกระแสหลักเลย คือ เรื่องของ Climate Change Adaptation เพราะว่า เพราะว่ามันเป็นเรื่องของคนตัวเล็ก ๆ ตัวน้อย ๆ ที่เขาอยู่ตามชนบท ตามต่างจังหวัด หรือจริง ๆ มองแค่นั้นไม่ได้ พวกเราที่อยู่ในเมืองใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบจาก Climate Change แล้วเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทุกวันนี้เราต้องปรับตัวอย่างไร เพื่ออยู่ให้ได้ในความเสี่ยงของ Climate Change ที่เกิด อย่างเช่น ชาวกรุงเทพ ฯ เอง พอน้ำประปาเค็มขึ้นมา ก็ตกใจว่ามันเป็นอย่างไร แล้วฉันจะอยู่อย่างไร จะทำอย่างไร ไม่เคยมีข้อมูลเหล่านี้เลย ดังนั้น การสื่อสารวิทยาศาสตร์จริง ๆ มันต้องเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงทุกคนให้ได้ เพราะฉะนั้นในมุมหนึ่งการเกิดของ Social Media ขึ้น ถือเป็นอีกมุมหนึ่งที่ทำให้มันมีโอกาสมากขึ้นที่จะรับอุดมการณ์บางอย่าง เรื่องวิทยาศาสตร์มันจะถูก Debate หรือว่าถูก Debunk ได้มากขึ้น

การสื่อสารวิทยาศาสตร์จริง ๆ มันต้องเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงทุกคนให้ได้

ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ

อ.ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: ผมเข้าใจว่าบางทีเราเอา Fact หรือข้อเท็จจริงมาพูด โดยเฉพาะเอาข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาพูดกันแล้ว บางครั้งมันเกิดผลกระทบทางลบมากกว่า ในความหมายว่าคนกลับไม่เชื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ในองค์ความรู้หรือบทบาทนักสื่อสารมวลชนและการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง

อ.ดร. ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ: ถ้าเรากำลังพูดถึงสื่อมวลชนกระแสหลัก ก็ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะว่า ถ้าเราพูดถึงสำนักข่าวที่เป็นทางการ ต้องบอกเลยว่าโต๊ะข่าวสิ่งแวดล้อม หรือโต๊ะข่าววิทยาศาสตร์ และโต๊ะข่าวเทคโนโลยี มันมักจะถูกจับมารวมกันให้เป็น 1 โต๊ะทำงาน มีคนทำข่าวไม่มาก เพราะฉะนั้น มันก็เลยค่อนข้างยาก สำหรับสื่อกระแสหลักที่จะให้เขาลุกขึ้นมาเป็น Role Model หรือว่าเป็นตัวตั้งตัวตีในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพราะส่วนหนึ่งต้องมองไป คือ ถ้าเรามองสถาบันสื่อกระแสหลัก มองไปให้ถึงอุดมการณ์ของเขา รวมถึงคุณค่าของตัววิชาชีพเขา สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาจะอยู่ในสังคมได้ คือ เขาเน้นว่าผลผลิตของเขาหรือตัวข่าวมันต้องเป็นอะไรที่ใส่กรอบที่เรียกว่าน่าเชื่อถือให้ได้ เพราะหาก Reader มานั่งอ่าน ไม่มี Audient เวลาสื่อมวลชนเขาเลือกจะทำข่าววิทยาศาสตร์ การที่เขาจะ Recheck ว่า Fact ใดถูกต้องหรือว่าไม่ถูกต้อง เขาควรจะเชื่อแหล่งข่าวใด จริง ๆ บางครั้งตัวสื่อมวลชนเองไม่ได้รู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้น เพราะฉะนั้น มันถูก Frame ได้ง่ายจากคนที่เป็นแหล่งข่าว ถ้าถามว่าแหล่งข่าวแบบไหนที่สื่อมวลชนเลือกว่ามีความน่าเชื่อถือที่สุดในเรื่องวิทยาศาสตร์ บอกได้ว่าการรายงานเรื่องวิทยาศาสตร์หวังพึ่งได้ยาก อย่างเช่น ปัญหาที่มีมา ยกตัวอย่าง Climate Change ในสังคมอเมริกัน มีวิจัยของอาจารย์ท่านหนึ่งทำ Longitudinal Study ตัว Content Analysis ของข่าว Climate Change ในหนังสือพิมพ์แบบซีเรียสของอเมริกา ประมาณ 10 ปี เขาพบว่ามันมี Norm อย่างหนึ่งของหนังสือพิมพ์ที่เวลาพูดเรื่อง Climate Change เขาจะมี Norm ที่เรารู้จักกัน คือคำว่า Balance สมดุลของข่าวซึ่งนักข่าวบอกว่าฉันต้องยึดสิ่งนี้เอาไว้ ถ้าฉันไม่ยึดสิ่งนี้แปลว่าฉันกำลังรายงานแบบมี Bias ปรากฏว่าในสังคมอเมริกา

เมื่อย้อนกลับไปประมาณสัก 20 ปี Climate Change มันยังไม่ถูกตกลงกันว่ามัน Certain จริง ๆ มันมีชัวร์แล้วจริง ๆ อันนี้จากงานวิจัย ถึงแม้ว่านักข่าวเอง เขาจะมั่นใจว่า Climate Change ที่เกิดจากมนุษย์มีขึ้นแล้ว คือ Climate Change ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์มีขึ้นแล้ว แต่ว่าตราบใดก็ตามที่ในสังคมมันยังมีเสียงจากอีกฝั่งหนึ่งที่บอกว่าไม่จริง กิจกรรมของมนุษย์เราไม่ได้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ จนเป็น Climate Change ได้หรอก นักข่าวก็ต้องรายงานทั้ง 2 Part เพื่อเติมเต็ม Norm ของเขา คือ Norm ของความ Balance ของข่าว ผลปรากฏคือมันเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมา 10 ปี ใน Content Analysis นักวิจัยก็เลยบอกว่าสุดท้ายภาพที่ผู้อ่านเห็นว่า Climate Change คืออะไร ตำตอบมันมาสองทางตลอดเลยว่า จริงหรือไม่จริง โดยที่ไม่ได้มีสัดส่วนด้วย คือเขาต้องให้พื้นที่เท่ากันกับทั้งสองฝ่าย สุดท้ายมันกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้มันเกิด Climate Change Denier ในปัจจุบัน เพราะว่าสื่อมวลชนกระแสหลักที่ให้พื้นที่กับทั้งสองฝั่ง โดยยึดติดกับ Norm แต่ว่าไม่ได้ไปนั่งดู Fact ขนาดนั้น เพราะฉะนั้น มันก็พูดยากเหมือนกันในกระบวนการทำงานของสื่อมวลชนที่เป็นกระแสหลัก แต่ว่าพูดแบบนี้เดี๋ยวเขาจะว่าโจมตีเขาเยอะเกิน ทุกวันนี้เวลาเราไปดู เราจะเห็นว่าสื่ออย่างในประเทศเราเอง ก็มีการไป Versify ตัวเองเยอะ เพราะว่าเขาเห็นภาพแล้วว่าการทำข่าวแบบ Event Oriented แต่ละวันมันอาจจะไม่ตอบโจทย์แล้ว สำหรับสังคมในยุคที่มนุษย์มองเข้าไปในสถาบันต่าง ๆ แล้วความเชื่อมันเริ่มล้มละลาย จากที่ Beak ได้อธิบายเอาไว้ในแง่ของสังคมแห่งความเสี่ยง เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนเองก็เริ่มเห็นภาพว่าบางครั้งการรายงานข่าวประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นวิทยาศาสตร์เอง มันก็ไม่จำเป็นเสมอที่มันต้องเป็น Daily Event แล้วมีสองฝั่งมาพูดชนกัน แต่ว่าการทำข่าวเชิงประเด็นที่เจาะลึก แล้วก็ให้ข้อมูลมากขึ้น อาจจะตอบโจทย์มากกว่า

จากทัศนะของอาจารย์ดวงแก้ว ขยับมาต่อกันที่ความเห็นจากอาจารย์กุลพธู

อ.ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: คืนนี้เราคุยเรื่องความเสี่ยงกันเยอะแล้ว ผมทราบมาว่าอาจารย์กุลพธูเคยทำวิจัยเรื่องโลกาภิวัฒน์ด้วย ซึ่งแน่นอนพอเราคุยเรื่องสังคมความเสี่ยงกับโลกาภิวัฒน์เป็นสองสิ่งที่แทบจะมาด้วยกันเลย โลกาภิวัฒน์ในทางหนึ่งมันก็ทำให้เกิดปัญหารูปแบบใหม่ ๆ ที่สมัยก่อนไม่เคยมี และผมเชื่อว่าอาจารย์เองก็จะมีความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ มาเล่าให้เราฟังเหมือนกัน

อ.ดร. กุลพธู ศักดิ์วิทย์: ถ้าถามว่า สังคมความเสี่ยงสำคัญอย่างไร ? ทำไมต้องมาสนใจเรื่องนี้ ในมุมมองส่วนตัวมองว่า เราอยู่ในยุคของโลกาภิวัฒน์และสังคมสมัยใหม่ซึ่งมันมาพร้อมกับความเสี่ยงอยู่แล้ว ในเชิงสังคมวิทยา เดิมเราไม่ได้ใช้คำว่าความเสี่ยงหรือว่าเสี่ยงในการที่จะอธิบายเหตุการณ์ที่มันไม่คาดคิดหรือเหตุการณ์ที่มันไม่เป็นไปอย่างที่เราหวังหรือว่าเหตุการณ์ร้าย ๆ เราไม่มีการใช้คำนี้เลย

ย้อนไปในยุคตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคแบบช่วงสงครามโลกต่าง ๆ ยังไม่มีการใช้คำนี้เลย คือคำนี้เป็นคำใหม่ เพิ่งเกิดขึ้น แล้วก็มีการเริ่มให้นิยามว่าตกลงว่ามันคืออะไร อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ งานของเบ็คซึ่งเบ็คมองสังคมที่มันเป็นความเสี่ยง ตั้งแต่ยุคหลัง Chernobyl ระเบิด อันนี้เป็นจุดเริ่มเลยว่า คือผลของ Chernobyl ที่มันระเบิด มันกินอาณาบริเวณไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก แล้วก็ผลมันยังตกค้างอยู่หลายปี ถึงแม้ว่าเหตุการณ์มันจะจบไปแล้ว ดังนั้น ตัวความเสี่ยงที่เรากำลังพูดถึงมันคือมีลักษณะของความที่มันข้ามรัฐชาติหรือข้ามพรมแดน แล้วมันก็มีผลกับหลาย ๆ ประเทศ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากว่าสังคมปัจจุบันมันเป็นโลกาภิวัฒน์ และเป็นสังคมสมัยใหม่ เราไม่สามารถที่จะหนีพ้นจากคำว่าสังคมแห่งความเสี่ยง ในสังคมปัจจุบันใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่จะต้องลงทุนในอนาคต จะต้องลองเสี่ยงเสมอ ด้วยตัวที่สภาพสังคมเป็นอย่างนี้ มันถึงทำให้เกิดตัวความเสี่ยงอยู่แล้วและ เบ็คบอกว่า ในสังคมความเสี่ยงปัจเจกทุกคนได้รับผลกระทบหมด ไม่มีใครได้รับการยกเว้น เขาเปรียบสิ่งนี้ว่าเป็นเหมือนบูมเมอแรง คือเหมือนกับเวลาเราเขวี้ยงไปมันจะกลับมาหาทุกคน เพราะฉะนั้น มันไม่มีการยกเว้นใคร แต่ในขณะเดียวกัน ในสังคมยุคก่อน ๆ ก่อนที่จะเป็นอุตสาหกรรม มันคือสังคมที่แบ่งตาม Class ตามชนชั้น แต่ในปัจจุบัน คือ ทุกคนได้รับผลจากความเสี่ยงอย่างเท่ากัน

เบ็คบอกว่า ในสังคมความเสี่ยงปัจเจกทุกคนได้รับผลกระทบหมด ไม่มีใครได้รับการยกเว้น เขาเปรียบสิ่งนี้ว่าเป็นเหมือนบูมเมอแรง คือเหมือนกับเวลาเราเขวี้ยงไปมันจะกลับมาหาทุกคน เพราะฉะนั้น มันไม่มีการยกเว้นใคร … ทุกคนได้รับผลจากความเสี่ยงอย่างเท่ากัน

กุลพธู ศักดิ์วิทย์

อ.ดร. กุลพธู ศักดิ์วิทย์: หากถามว่าทำไมเราต้องสนใจเรื่องของความเสี่ยง? จากสถานการณ์ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าตัวความเสี่ยงมันข้ามพรมแดน มีความเป็นสากลและเชื่อมโยงกับทุกประเทศ อย่างเช่น COVID-19 ถึงแม้ต้นกำเนิดจะเกิดขึ้นที่จีน แต่ว่าส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก สำหรับไทยเป็นประเทศที่สองที่ได้รับการระบาด จากการที่ไทยเรารับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็เชื้อไวรัส COVID-19 ก็แพร่ไปยังประเทศอื่น ๆ มากมาย จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงมันเป็นโลกาภิวัฒน์ เกินอำนาจและขอบเขตในความสามารถของรัฐในการที่จะรับมือและแก้ไขปัญหา เนื่องด้วยผลลัพธ์ที่เกิดจากตัวความเสี่ยงไม่สามารถที่จะคาดคำนวณได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่สามารถบแกได้ว่าผลลัพธ์จะกระทบใคร กระทบอะไรบ้าง เศรษฐกิจจะเสียหายมากน้อยเพียงใด เป็นไปตามความเสี่ยงในมุมมองของเบ็ค กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะชดเชยได้ ไม่สามารถที่จะประเมินได้ว่าความเสียหายจะมากน้อยเพียงใด และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะรับมือกับความเสี่ยงอย่างไร

จุดที่สำคัญที่อยากจะเน้นก็คือ ความเสี่ยงมันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่มันจะเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อเราต้องทำการตัดสินใจบางอย่าง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย ถ้าให้มองเรื่องปัญหาโลกร้อนโดนัลด์ ทรัมป์เคยพูดในปาฐกถาว่า ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ของประเทศเขาที่บอกว่าโลกกำลังร้อน แต่ว่านักวิทยาศาสตร์ของประเทศเขาบอกว่าโลกกำลังเย็นลงต่างหาก ในขณะเดียวกัน พวกเราก็จะรับรู้ว่าโลกมันร้อนและมีหลักฐานสนับสนุน ตัวอย่างนี้แสดงถึงสองฝั่งของการเลือกเชื่อและตัดสินใจ จากการที่ทรัมป์เชื่อแบบที่เขาพูดนี้ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่ทำอะไรกับโลกและอยู่เฉย ๆ ดังนั้นแล้วสิ่งที่เรามองว่าเป็นความเสี่ยง มันจะเสี่ยงยิ่งกว่าเมื่อเราทำการตัดสินใจลงไป

ส่วนเรื่องของการสื่อสารความเสี่ยง อันนี้ก็ส่วนตัวดิฉันเห็นด้วยมากเลยว่าความเสี่ยงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและอำนาจหรืออิทธิพลของผู้ที่จะนิยามความเสี่ยงได้ ซึ่งการที่นิยามความเสี่ยงต่างกัน ทำให้การแพร่กระจายความเสี่ยงในสังคมต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น อย่างเรื่องฝุ่น PM 2.5 คือรัฐบาลไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข หรือ การที่ไทยประสบความสำเร็จในการรับมือ COVID-19 ในช่วงแรก เพราะว่าคนไทยตื่นตัว แล้วก็ให้ความร่วมมือกับรัฐ หากมองในสังคมอื่น ๆ อย่างเช่น อังกฤษ อังกฤษมีการระบาดหนักมาก เป็นเพราะว่าอังกฤษเองก็ล้มเหลวในเรื่องของการสื่อสารความเสี่ยงด้วย เพราะตอนแรกอังกฤษไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของโควิดเท่าไหร่ เขามองว่ามันก็แค่ไข้หวัด การนิยามโควิดของไทยและอังกฤษเป็นการนิยามที่ต่างกัน ทำให้การในเชิงปฏิบัติมันต่างกัน และการยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เท่ากับว่าเป็นการเลือกเชื่อฟัง เป็นเกมการเมือง เราอาจเลือกเชื่อฟังฝั่งรัฐ หรืออาจจะเชื่อฝั่งอื่น มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีทัศนคติทางการเมืองแบบไหนด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความเสี่ยงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองอย่างชัดเจน

การยอมรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เท่ากับว่าเป็นการเลือกเชื่อฟัง เป็นเกมการเมือง เราอาจเลือกเชื่อฟังฝั่งรัฐ หรืออาจจะเชื่อฝั่งอื่น มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีทัศนคติทางการเมืองแบบไหนด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องความเสี่ยงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองอย่างชัดเจน

กุลพธู ศักดิ์วิทย์

สำหรับการอยู่ในสังคมความเสี่ยง เราจะต้องมีในการคิดวิพากษ์และมีการสะท้อนกลับของข้อมูล เมื่อเรารับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านสื่อ ผ่านผู้มีอำนาจ ผ่านอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องมาคิดวิเคราะห์ว่า จริง ๆ แล้วมันควรเป็นอะไร เป็นอย่างไร อย่างรัฐ รัฐควรจะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุด แต่ในหลาย ๆ ครั้งก็อาจจะไม่ใช่ เพราะว่ารัฐเองก็ต้องเล่นการเมืองเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น อย่างของไทยจะซื้อวัคซีนจากจีน รัฐก็จะมีการถ่ายทอดข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่สนับสนุนว่าของวัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าดูหลักฐานของที่อื่น ก็จะพบว่ามันอาจจะไม่เป็นจริงตามที่รัฐนำเสนอ แต่ว่ารัฐจำเป็นที่จะต้องทำแบบนี้ เพื่อที่จะสนับสนุนในเรื่องของอำนาจที่อยู่ในชุดความคิดที่ตัวเองให้ข้อมูลกับสังคม

การสื่อสารความเสี่ยงยังสามารถโยงกับนักคิดทางสังคมวิทยา ก็คือ ฌ็อง โบดริยาร์ด (Jean Baudrillard, 1929 – 2007) ที่อาจไม่ได้พูดเรื่องความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน แต่ว่าสำหรับโบดริยาร์ด เขามองว่าเรื่องข่าวหรือข้อมูลมันเป็นอะไรที่มันถูกย่อย ถูกเลือกที่จะนำเสนอแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังรับรู้จากการสื่อสารจึงไม่ได้ถ่ายทอดให้เรารู้ในเรื่องของภาพจริงทั้งหมด แต่เป็นการเลือกเฉพาะส่วนมาให้เรารับรู้ สิ่งที่เรารับรู้อาจผ่านการตัดต่อแล้วนำมารวมกัน ผ่านกระบวนการที่ทำให้สิ่งที่มันไม่จริงเป็นจริงได้ หรือความจริงที่มีหลักฐานยืนยันอาจจะถูกลบเลือนให้หายไปได้ และเราพบสิ่งที่ว่านี้ได้ในสังคมปัจจุบัน

ก่อนการเสวนาจะจากลากันไปอาจารย์ธีระพัฒน์กล่วปิดให้กับวงเสวนาได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นการปิดประเด็นสนทนาได้อย่างกระชับ เข้าใจง่าย และตรงไปตรงมาว่า

อ.ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: สุดท้ายแล้ววิทยาศาสตร์ถึงแม้จะดีแค่ไหนก็ตาม เมื่อเอามาใช้ในสังคม อยู่ในบริบทสังคมมันกลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องการสื่อสาร ตัววิทยาศาสตร์มันก็ถูกตีความ ถูกเข้าใจต่าง ๆ นานา ผ่านการสื่อสารทั้งสิ้น ดังนั้นแล้วสิ่งที่ผมคิดว่าเวทีนี้อยากฝากไว้ก็คือ เวลาเราเข้าใจวิทยาศาสตร์ อย่าเข้าใจมันแบบง่าย ๆ หาแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ดูมันให้รอบด้าน ฟัง Expert แล้วก็ฟัง Expert ด้านอื่นด้วย แล้วก็ใส่ใจการเมืองอยู่เสมอ ในความหมายที่ว่าเราต้องเข้าใจว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไร้เดียงสา แต่มันมีประเด็นการเมือง การคัดเลือก การตีกรอบ การสร้างวาระขึ้นมาทั้งสิ้น

เวลาเราเข้าใจวิทยาศาสตร์ อย่าเข้าใจมันแบบง่าย ๆ หาแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ดูมันให้รอบด้าน ฟัง Expert แล้ว ก็ฟัง Expert ด้านอื่นด้วย แล้วก็ใส่ใจการเมืองอยู่เสมอ ในความหมายที่ว่าเราต้องเข้าใจว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไร้เดียงสา แต่มันมีประเด็นการเมือง การคัดเลือก การตีกรอบ การสร้างวาระขึ้นมาทั้งสิ้น

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล

งานเสวนาจบลงด้วยความสวยงามตามท้องเรื่อง สำหรับหัวข้องานเสวนาในครั้งต่อไปจะเป็นอะไรนั้น ฝากผู้อ่านทุกท่านติดตามได้ทางเพจ STS Cluster Thailand.

ดูคลิปเสวนาได้ที่ >>> https://fb.watch/3K34V63DSy/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s