
ประเทศไทยในอดีตเคยมีรูปแบบของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจาก ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ที่มีรูปแบบการขับเคลื่อนที่เน้นถึงความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้ การศึกษา และความคิดสร้างสรรค์ของคนในสังคม กับ พื้นฐานทางวัฒนธรรมและสังคม รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ต่อมา ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ถูกแทนที่ใหม่ด้วยรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ (Digital Economy) จากการวางนโยบายโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดย ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ตามที่ สศช. ได้ให้คำจัดกัดความไว้ คือ “เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ”
สำหรับความหมายของเศรษฐกิจดิจิทัล นักวิชาการคนแรก ๆ ที่ให้นิยามความหมายของคำนี้ คือ ดอน แทปสกอตต์ (Don Tapscott, 1947 – ) นักเขียน นักลงทุน และนักธุรกิจชาวแคนนาดา ในงานเขียนชื่อ The Digital Economy: Promise and Peril In The Age of Networked Intelligence (1997) แทปสกอตต์ให้ความหมายไว้ว่า รูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการธุรกิจทั้งระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนในภาคผลิตจนถึงขั้นตอนในภาคการขาย และเทคโนโลยีที่นำมาช่วยดำเนินการนั้น ประกอบด้วยเทคโนโลยีทั้งด้านการสื่อสาร การขนส่ง การผลิต และอื่น ๆ

ในชีวิตประจำวันของเราภายใต้สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ปัจจัยในการดำรงชีวิตพื้นฐานอย่างความอิ่มท้อง บางครั้งจำเป็นต้องพึ่งพาการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ อีกทั้งยังมีการถือกำเนิดของแพลตฟอร์ม (platform) ใหม่ ๆ ทางธุรกิจอย่าง Start up ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเล็ก ๆ ที่ส่งผลอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นนี้ เกิดคำถามแก่เราว่า รูปแบบเศรษฐกิจแบบนี้จะนำพาเราไปยังสังคมในรูปแบบใด เป็นทุนนิยมใหม่หรือไม่ อย่างไร
เพื่อตอบโจทย์อย่างสร้างสรรค์ STS Cluster Thailand ได้เรียนเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนง หลากหลายศาสตร์ มาร่วมกันเสวนาออนไลน์เมื่อวันพุธ ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ STS Cluster Thailand ได้รับความอนุเคราะห์จากวิทยากรทั้งสองท่าน ได้แก่ ดร.ปิยรัตน์ ปั้นลี้ ผู้แปลหนังสือ Changemakers (ปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาสังคม ที่ University of Sussex) และ คุณอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้ คุณวิริยะ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระและบรรณาธิการแปลหนังสือ Changemakers มารับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในครั้งนี้
เศรษฐกิจดิจิทัลกับทางแยกของสังคมทุนนิยม: Monocapitalism OR Multicapitalism ?
คุณวิริยะเริ่มต้นคำถามแรกที่มุ่งตรงไปยังเป้าหมายของการเสวนาวันนี้
“เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งคำถามที่เกิดขึ้น คือ เศรษฐกิจดิจิทัลมันนำเราไปสู่ Monocapitalism แบบเดิมก็คือ ทุนนิยมที่มันถูกควบคุมหรือว่าเป็นทุนนิยมซึ่งมีธุรกิจหลักเพียงไม่กี่แบบ แต่ว่าดิจิทัลเข้าไปเสริมให้การผูกขาด (Monopoly) แข่งแกร่งขึ้น อีกคำถามหนึ่งหรืออีกแง่มุมหนึ่ง ก็จะมีคนถามว่าเศรษฐกิจดิจิทัลนำไปสู่ Multicapitalism หรือความเป็นทุนนิยมที่หลากหลายมากขึ้น ทุกคนสามารถแสวงหาพื้นที่แสวงหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ หรือว่ามีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เราเองสามารถสร้างหรือว่าผลิตคิดค้นขึ้นมา เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นน่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยสร้างให้เศรษฐกิจของคนทั่วไปดีขึ้น อันนี้เป็นมุมมองกว้าง ๆ ซึ่งเราจะเห็นว่า เป็นทั้งบวกหรือว่าลบก็ได้ ตกลงแล้วเศรษฐกิจดิจิทัลนำสู่ Monocapitalism หรือว่า Multicapitalism กันแน่”
“ผมขอตอบคำถาม ด้วยการย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของคำว่านวัตกรรม (Innovation) ว่าเวลาที่เขาพูดถึง นวัตกรรม คนที่อยู่ในวงการนวัตกรรมศึกษา (Innovation Study) เขาหมายถึงอะไร” คุณอรรคณัฐเกริ่น

คุณอรรคณัฐเริ่มเล่า “เวลาที่เราพูดถึงนวัตกรรมในบริบทไทย ผมรู้สึกว่าเรามักจะสับสนระหว่างคำว่า “Innovation” กับ คำว่า “Invention” หรือสิ่งประดิษฐ์ เรามักจะคิดว่าอะไรที่มันเป็นของใหม่ ๆ ทางออก (Solution) ใหม่ ๆ อันนี้เราเรียกมันว่าน วัตกรรม แต่ว่าในวงการนวัตกรรมศึกษา มีนักวิชาการชื่อโจเซฟ ชุมปีเตอร์ (Joseph Schumpeter: 1883 – 1950) ซึ่งเขาก็ถูกวงการนวัตกรรมยกย่องให้เป็นบิดาของนวัตกรรม ชุมปีเตอร์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย งานที่ชุมปีเตอร์สนใจศึกษาเป็นเรื่องของ Business’ Circle ในงานที่ศึกษาธุรกิจ (Business) ที่ชุมปีเตอร์นำมาพูดนั้นเป็นการผลิตซ้ำความรู้จากนักเศรษฐศาสตร์ชาวรัวเซียอีกคนหนึ่ง ชื่อ นิโคไล คอนดราติเยฟ (Nikolai Kondratiev: 1892 – 1938) โดยคอนดราติเยฟศึกษาธุรกิจในช่วงศตวรรษที่ 17, 18, 19 คอนดราติเยฟค้นพบว่า ธุรกิจทั่วไปมีวงจร (Business’ Circle) ของมันอยู่ กล่าวคือธุรกิจจะมีช่วงที่เป็นช่วงขยายตัว (Expansion) หรือที่เราเห็นว่าเป็นช่วงบูม (Boom) จะมีการขยายไปจนถึงจุดที่เป็นจุดพีค (Peak) พอถึงจุดพีคที่สุดแล้ว ธุรกิจจะเริ่มลดการเจริญเติบโตลง จนไปถึงจุดที่มันถดถอยและจะถดถอยไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดต่ำสุด เพราะฉะนั้น จะมีการสะท้อนกลับ (Rebound) ขึ้นมา แล้วก็มีความก้าวหน้า (Progress) เป็นช่วงขยายตัวอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ขึ้นไปจุดพีคใหม่ คอนดราติเยฟพิจารณาว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 มาจนถึงต้นของศตวรรษที่ 20 วงจรธุรกิจมีลักษณะเป็นวงจรซึ่งในช่วงเวลาที่เขาศึกษามีลักษณะเป็น 3 วงจร เขาสังเกตลงไปช่วงที่วงจรหดตัวและถดถอย แล้วหาว่าอะไรที่เป็นตัวการในขับเคลื่อน (Drive) ให้วงจรมันกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง แล้วคอนดราติเยฟก็พบตัวการนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า Innovation (ในยุคนั้นมักจะมี Innovation บางอย่างเกิดขึ้นมาและไปขับเคลื่อนให้ธุรกิจเกิดการสะท้อนกลับจากจุดที่ลงไปต่ำสุดแล้ว กลับขึ้นมาฟื้นฟูสู่สภาพปกติ (Recovery) แล้วก็เติบโตได้ ในอดีตบางช่วงที่เกิดการขับเคลื่อน พบว่า Innovation เป็นผ้าฝ้าย บางช่วงก็เป็นระบบรางรถไฟ บางช่วงก็เป็นเรื่องของเหล็ก เรื่องของพลังงาน) นี่คือข้อค้นพบเบื้องต้นของคอนดราติเยฟซึ่งชุมปีเตอร์ก็หยิบเอาแนวคิดเรื่องนี้มาทำการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เจาะลึกลงไปในรายละเอียดของมัน”

“จากการศึกษา ชุมปีเตอร์พยายามอธิบายวงจรที่ของ Business’ Circle เขาพบว่ามีสิ่งประดิษฐ์คล้าย ๆ กับสิ่งที่คอนดราติเยฟพูดถึง แต่ว่าชุมปีเตอร์ให้คำนิยามระหว่างสิ่งที่เป็น Invention กับสิ่งที่เป็น Innovation อย่างชัดเจน คือ Invention จะไม่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำเป็นสินค้าเพื่อหวังผลกำไร(Commercialize) ได้ ไม่สามารถที่จะทำซ้ำ ไม่สามารถที่จะผลิต และไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ เป็นแค่สิ่งประดิษฐ์เฉย ๆ มันจะเป็นแค่ Invention สิ่งประดิษฐ์อาจจะช่วยในการผ่อนแรงและมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่ทำให้เราสะดวกสบายขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถที่จะทำให้เกิดประโยชน์ผลโภคทางเศรษฐกิจได้จะไม่เรียกว่า Innovation
ดังนั้น Innovation ก็คือ สิ่งประดิษฐ์นั่นเอง แต่ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิด Float ในทางเศรษฐกิจได้ ผลิตซ้ำได้ ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่ทุก Invention ที่จะเป็น Innovation อันนี้คือข้อเสนอของชุมปีเตอร์” คุณอรรคณัฐเล่า
ดังนั้น Innovation ก็คือ สิ่งประดิษฐ์นั่นเอง แต่ว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิด Float ในทางเศรษฐกิจได้ ผลิตซ้ำได้ ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่ทุก Invention ที่จะเป็น Innovation อันนี้คือข้อเสนอของชุมปีเตอร์
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ
การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์: ผลจาก Innovation จากมุมมองนักนวัตกรรมศึกษา
คุณอรรคณัฐเล่าต่อ “ชุมปีเตอร์ศึกษาลึกลงไปต่อ แล้วเขาก็ค้นพบว่าจะมีวงจรของมันอยู่ และสิ่งที่เป็น Innovation จะมีลักษณะที่ชุมปีเตอร์เรียกว่า การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) เขาบอกว่า ในวงจรที่ทำให้จุดต่ำสุดถึงจุดสูงสุด แล้วเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ช่วงนั้นจะก่อให้เกิดการทำลายบางอย่าง ทำให้เกิดผลกระทบบางอย่าง เช่น การทำลายตลาดเดิม การทำลายอาชีพหรืองานแบบเดิม ๆ การทำลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะหมดยุค (Outdated) ไปแล้ว เพราะว่ากำลังจะมีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ และในขณะที่เกิดการทำลายของเดิมยังก่อให้เกิดประโยชน์แบบใหม่ขึ้นมา มันก็ไปสร้างสรรค์ให้เกิดการผลิตแบบใหม่ เกิดผลิตภัณฑ์แบบใหม่ และอาจเกิดงานแบบใหม่ พอกลับมาดูข้อกังวลในปัจจุบัน เวลาที่เราพูดถึงเทคโนโลยี จากมุมมองของคนที่ทำงานในภาคสังคมก็ดี ผลกระทบทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานในมุมมองของแรงงาน เราก็จะมองในมุมว่า เทคโนโลยีจะมาทำให้เกิดการลดการจ้างงาน เรากังวลเรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “Technological Unemployment” ก็คือ การที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนตำแหน่งงาน แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่ปรับตัวไม่ทันก็จะสูญเสียงานไป แล้วก็จะส่งผลกระทบอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจของตัวเขา ครอบครัวเขา แล้วก็เศรษฐกิจในภาพรวมตามมา แล้วถ้าหากว่าเราปรับตัวไม่ทัน ก็จะเกิดปัญหาใหญ่หลวง อันนี้คือมุมมองของคนที่สนใจผลกระทบทางสังคม
แต่ว่ามุมมองของคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็จะอธิบายอีกอย่างหนึ่ง คือ ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบนี้มาแล้วหลายรอบ และทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่ว่ามีคนจำนวนหนึ่งสูญเสียงานไป แต่ว่าโดยผลรวมแล้ว ตำแหน่งงานที่มันถูกสร้างขึ้นมาเพราะเทคโนโลยีจะมีจำนวนมากกว่า ดังนั้น ในภาพรวมจะมีคนล้มหายตายจาก จะมีคนได้รับผลกระทบ แต่ในภาพรวมจะดีขึ้น ลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชุมปีเตอร์เขาค้นพบว่า กราฟแสดงทางธุรกิจหรือเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีช่วงสูง มีช่วงต่ำ มีช่วงสูงสุด มีช่วงถดถอยลงสู่จุดต่ำสุด แต่ว่าผลรวมแล้ววงจรจะเจริญเติบโตไปเรื่อย ๆ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมสินค้าภายในประเทศตามความเป็นจริง (Real Gross Domestic Product [Real GDP]) จะมีค่าสูงขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อย ๆ และสิ่งที่ชุมปีเตอร์เสนอนี้ถูกหยิบยกนำมาใช้โดยนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก รวมทั้งนักนวัตกรรรม ในทางนวัตกรรมศึกษา นักนวัตกรรมศึกษาจะให้ความสนใจถึงคนที่ถูกเลิกจ้างหรือเสียสละงาน ต้องมีคนเจ็บปวด แต่ว่าภาพรวมมันดีขึ้น การคิดเช่นนี้นับเป็นต้นกำเนิดของแนวความคิดว่า ทำไมคนที่เป็นสายเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก หรือว่าคนที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีถึงมองนวัตกรรมในภาพรวมว่าส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะเข้าไปเน้นยังกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ เราจะมีวิธีการในการช่วยเหลืออย่างไร เราจะมีวิธีการเยียวยาเขาอย่างไร คนกลุ่มนี้ก็จะไปเน้นเอาเรื่องพวกนี้เป็นหลัก ทีนี้ถ้าหากว่าเรามาดูเรื่องของสิ่งที่เรียกว่านวัตกรรม การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ จริง ๆ แล้วมีทั้งต้นทุน (Cost) และผลประโยชน์ (Benefit) ทั้งส่วนของสร้างสรรค์และส่วนที่ทำลาย โดยมูลค่าและผลประโยชน์ต้องถูกเอามาคำนึงถึงเท่า ๆ กัน แต่ก็จะกลายเป็นว่าคนที่เขาสนใจภาพรวม เขาก็จะไปสนใจผลประโยชน์ ส่วนคนที่เป็นแบบสายสังคมก็จะไปสนใจแต่มูลค่า โดยที่ไม่ได้เอาสองเรื่องนี้มาศึกษาให้สมดุลกันทั้งสองฝั่ง ส่วนสิ่งที่ชุมปีเตอร์เขามองในภาพรวมตามที่กล่าวไปก่อนหน้า เขาเห็นว่า Innovation มีประโยชน์หลายอย่าง ถ้าหากเราสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางธุรกิจที่เอื้อให้ Innovation เกิดได้ สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จะไปทำลายสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว กล่าวคือ กลุ่มในสังคมที่เป็นทุนนิยมผูกขาดในท้ายที่สุดคนกลุ่มนี้จะถูกคนกลุ่มใหม่ซึ่งมีไอเดียใหม่ ๆ กล้าที่เผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอน คนกลุ่มใหม่นี้ที่กล้าอาจเป็นเพราะว่ามีผลประโยชน์บางอย่างในการจูงใจ และทุกครั้งที่เราเห็นวงจรของธุรกิจและเศรษฐกิจ คนกลุ่มใหม่เหล่านี้มักจะเป็นคนที่คิด Innovation ใหม่ ๆ ขึ้นมา แล้ว Innovation ใหม่ ๆ ที่คิดขึ้นมานั้นจะไปทำลายการผูกขาด ก็คือ เจ้าใหญ่จะไม่สามารถผูกขาดได้ตลอด ถ้าหากว่าเราสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ทำให้เกิด Innovation มากขึ้น”

“กรณีศึกษาที่คลาสสิคมาก ๆ เป็นเรื่องของการผลิตน้ำแข็ง (Ice Harvesting) แต่เดิมการผลิตน้ำแข็งจะต้องใช้วิธีการไปตักเอาก้อนน้ำแข็งที่แข็งตัวอยู่ในแม่น้ำมาเป็นก้อน ๆ และธุรกิจน้ำแข็งนี้มีการผูกขาด แต่ว่าปัจจุบันเราจะเห็นว่ามนุษย์ทุกคนในปัจจุบันนี้สามารถซื้อน้ำแข็งที่ไหนก็ได้ในราคาถูก หรือว่าเราเองก็สามารถผลิตน้ำแข็งเองในบ้านได้ ตัวอย่างที่ว่านี้เป็นการปล่อยให้มี Innovation ออกมา เพราะฉะนั้น ในภาพรวมถ้าเราเชื่อสิ่งที่ชุมปีเตอร์ตั้งข้อสังเกตก็ดูเหมือนว่าเขาพูดถูก และจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Multicapitalism อย่างที่คุณวิริยะบอกซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี แต่มีเครื่องหมายคำถามว่า แล้วสิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น เป็นไปตามที่ชุมปีเตอร์ตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า ในเมื่อเราดูภาพรวมของธุรกิจในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเหตุและปัจจัยหลายอย่าง มีเทคโนโลยีที่เป็นระบบพื้นฐาน (Infrastructure) ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนเวลาที่ Innovation จะเกิดเป็นระบบพื้นฐาน จะเป็นเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ต่าง ๆ แต่ว่าในปัจจุบันธุรกิจที่เป็นดิจิทัลถูกสร้างขึ้นมาบนระบบพื้นฐานแบบใหม่ซึ่งก็ประกอบไปด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เรื่องของ Web 2.0 Could Computing และที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ สมาร์ทโฟน สิ่งนี้ไปเร่งทำให้ตัววงจร ซึ่งตอนที่คอนดราติเยฟทำการศึกษานั้นประมาณ 40 – 60 ปี แต่ปัจจุบันเราจะพบว่าตัววงจรของธุรกิจมันไวมากขึ้น เราสังเกตได้ง่าย ๆ ดูอย่างสมัยที่ผมไม่ได้เป็นวัยรุ่นมาก เมื่อสักประมาณ 10 กว่าปี BlackBerry (BB) ทันสมัยมาก เป็นที่ฮิตมาก แล้วก็ไม่มีใครคิดเลยว่าอีกไม่กี่ปีถัดมาจะไม่มีคนใช้แล้ว ตัว BlackBerry ทุกคนก็หันมาใช้สมาร์ทโฟนกันหมด ใช้จอสัมผัสกันหมด สาเหตุที่ BlackBerry เขาปฏิเสธที่จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (Business Model) ของเขาตอนนั้น เพราะเขาเชื่อว่ายังไงมนุษย์ก็ยังพึงพอใจกับการสัมผัสตัวคีย์บอร์ดมากกว่าการเอานิ้วไปจิ้มจอซึ่งเป็นการเดิมพันของเขา แล้วท้ายที่สุดเขาก็พ่ายแพ้ไป Business’s Circle ในปัจจุบัน ก็ถูกเร่งให้มันมี Circle ที่สั้นลง ๆ เรื่อย ๆ แล้วเทคโนโลยีดิจิทัลก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ (Landscape) ของธุรกิจและเศรษฐกิจไปอย่างสิ้นเชิง หรืออย่าง Grab ถือเป็นเจ้าแรกที่เห็นว่ามีช่องว่างทางโอกาส เมื่อก่อนผมอยู่ที่เชียงใหม่มาหลายปี ตอนที่ Uber เข้ามาใหม่ ๆ ก็ไป Disrupt รถสี่ล้อแดง หลังจากนั้น Grab ก็มา Grab กับ Uber ก็แข่งกัน ผู้โดยสารก็มีโอกาสในการที่จะเลือกดูว่าแอปใดมีโปรโมชั่นมากกว่า ก็จะเลือกใช้บริการแอปนั้น คนขับก็ดูว่าได้ค่าตอบแทนอันไหนสูงกว่า ก็จะเลือกแอปนั้น เป็นต้น ตอนนี้ก็เพิ่มการบริการส่งอาหาร การเปลี่ยนแปลงจึงนำไปสู่สังคมทั้ง Multicapitalism และ Monocapitalism ในกรณีเดียวกัน” คุณอรรคณัฐยกตัวอย่าง
เศรษฐกิจดิจิทัลและความเข้าใจเทคโนโลยีความเป็นดิจิทัล
จากสายตานักมานุษยวิทยา
“ก่อนที่เราจะไปกรณีตัวอย่างอื่น ๆ กับเรื่องระบบนิเวศแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ผมคิดว่าเราไปฟังความคิดเห็นของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับดิจิทัลกับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในวงจรชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของคนทั่วไป จากอาจารย์ปิยรัตน์กันครับ” คุณวิริยะกล่าวนำให้อาจารย์ปิยรัตน์
อาจารย์ปิยรัตน์เริ่ม “เริ่มต้นเลยก็คือบนพื้นฐานของการนิยามก่อน อย่างที่เราเข้าใจร่วมกันว่าเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือเศรษฐกิจที่วางอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเครือข่ายการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ แล้วก็เทคโนโลยีการสื่อสารอื่น ๆ ก่อนหน้านี้อาจจะเนื่องด้วยความที่เราละเลยความแตกต่างในความหลากหลายของทุนนิยม หรือว่า Varieties of Capitalism จึงทำให้เราเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาด แข่งขันสมบูรณ์น่าจะนำมาซึ่งการจัดสรรทรัพยากรที่มีประโยชน์สูงสุด แต่ว่าการปรากฏตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เห็นว่าความเชื่อดังกล่าวนั้นไม่เป็นจริง โดยส่วนตัวแล้ว มองว่าการดำเนินไปของธุรกิจหรือว่าของเศรษฐกิจแบบดิจิทัลไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมด้วย ดังนั้น ในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจดิจิทัล จึงต้องทำความเข้าใจในแง่ของเทคโนโลยี แล้วก็วัฒนธรรมไปพร้อมกัน
การดำเนินไปของธุรกิจหรือว่าของเศรษฐกิจแบบดิจิทัลไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมด้วย ดังนั้น ในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจดิจิทัล จึงต้องทำความเข้าใจในแง่ของเทคโนโลยี
ปิยรัตน์ ปั้นลี้
แล้วก็วัฒนธรรมไปพร้อมกัน
ในเบื้องต้นนั้น เวลาที่เราจะทำความเข้าใจเทคโนโลยีความเป็นดิจิทัลก็อาจจะทำความเข้าใจผ่านโลก Keyword 3 คำหลักนี้ ก็คือ DIGITISATION DIGITALISATION และDIGITAL TRANSFORMATION
คำแรกเลย DIGITISATION คือ การเปลี่ยนรูปจากสิ่งที่มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้ ให้มันเป็นในรูปแบบของวัตถุดิจิทัล ซึ่งอันนี้เป็นการเปลี่ยนรูปทางเทคนิคของข้อมูลจากแอนาลอค (Analog) ให้เป็นแบบดิจิทัล (Digital) เช่น การเปลี่ยนภาพ เสียง วัตถุ ให้อยู่ในลักษณะบิด หรือว่าที่เราเรียกว่า Binary Digital หรือตัวย่อก็คือ BIT เป็นตัวเลขในระบบฐาน 2 คือเป็น 01, 01 ภาพและเสียงที่ถูกแปรสภาพจากแอนาลอคก็จะมีความหมายหรือค่าในระบบดิจิทัล ก็คือเป็นบนฐานของเลข 0 และ 1 ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดในการเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ บางครั้ง การ DIGITISATION นี้ จึงถูกมองว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์กลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในช่วงปี 1960 กับ 1970 ระบบอัตโนมัติเหล่านี้เข้ามาทำงานหลายอย่าง แทนที่สิ่งที่มนุษย์เคยทำ หรือว่าเคยแทนที่สิ่งต่าง ๆ ที่เคยใช้แรงงานของมนุษย์ ตัวอย่าง DIGITISATION ก็เช่น การเปลี่ยนจากเอกสารเป็นกระดาษ เป็นเอกสารดิจิทัล หรือว่าการบันทึกภาพ ซึ่งแต่ก่อนเคยบันทึกภาพด้วยแผ่นฟิล์ม ก็เป็นการบันทึกภาพในระบบดิจิทัล
คำที่สอง DIGITALISATION เป็นความหมายเชิงเทคนิครวมกับความหมายทางสังคม คือ เป็นกระบวนการทางเทคนิคและสังคมที่แวดล้อมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลต่อบริบททางสังคมและสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ในการที่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านั้นมากขึ้น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ DIGITALISATION เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและปฏิสัมพันธ์นั้นเปลี่ยนผ่านจากระบบแอนาลอค อย่างเช่น การโทรศัพท์ การส่งจดหมายทางไปรษณีย์ มาสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การส่งอีเมล์ การแชทกันผ่านสื่อสังคม ซึ่ง DIGITALISATION นี้ สามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งในระดับความเป็นส่วนตัว แล้วก็ในระดับการทำงาน ก็คือทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว และเวลาว่างนั้น ก็สามารถเกิดกระบวนการนี้ได้
ทั้ง DIGITISATION และ DIGITALISATION นั้นก็ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เราเรียกว่า การเปลี่ยนรูปเป็นดิจิทัล หรือ DIGITAL TRANSFORMATION ทั้งสองจะสัมพันธ์กันกับการเลือกใช้เทคโนโลยีและความซับซ้อนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปฏิกิริยาด้านบวกหรือด้านลบก็ตามที่มีต่อสังคม อย่างเช่น ในแง่มุมของเทคโนโลยี สถาบัน ผู้คน องค์กร สภาพแวดล้อม พูดอีกแบบก็คือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมักจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสถาบันทางสังคมต่าง ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เราเกิดความต้องการที่จะทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีขึ้นไปอีก หรือรูปแบบใหม่ ก็จะทำให้เกิดกระบวนการดังกล่าววนซ้ำ วนลูป กล่าวคือ เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยี มีการส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคน เปลี่ยนรูปแบบการใช้ เราก็อยากจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ก็จะวนลูปไป ซึ่งกระบวนการตรงนี้นี่เอง คือ DIGITAL TRANSFORMATION แม้ว่า DIGITAL TRANSFORMATION จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยทั้งตัวเทคโนโลยี แล้วก็การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ในมุมมองนักมานุษยวิทยา เวลาที่เราพูดถึง DIGITAL TRANSFORMATION นั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนมากกว่าเรื่องเทคโนโลยี”

“ขอยกตัวอย่าง ในแง่ที่สัมพันธ์กันกับวัฒนธรรม ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ระบบวีดีโอตามต้องการ แบบเรียกเก็บค่าสมาชิก หรือว่า Subscription video on demand (SVOD) เป็นรูปแบบการให้บริการวีดีโอตามต้องการที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงห้องสมุดที่จัดเก็บวีดีโอได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมไม่มาก อาจจะเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี ขึ้นอยู่กับการให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการจ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว ก็จะสามารถดูวีดีโอได้มากเท่าที่ต้องการผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ หรือว่า Device ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ตัวอย่างที่เราคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็น Netflix, HBO, Amazon หรือว่าเป็น VIU ซึ่งในระยะหลัง ๆ ก็มักจะเรียกกันว่าเป็น Streaming Media ธุรกิจเช่นนี้เติบโตและมีมูลค่าทางการตลาดสูงอย่างมหาศาล ในอีกทางหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี ก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีของอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ อย่างเช่น สมาร์ทโฟน Smart TV, Tablet, Game หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย รวมถึงการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน แต่ในอีกทางหนึ่งที่ทำให้ระบบ Streaming Media เติบโตได้ก็คือ ปัจจัยทางวัฒนธรรม มีนักวิชาการเสนอว่าปัจจัยทางวัฒนธรรมที่เป็นตัวการทำให้ DIGITAL TRANSFORMATION ในแง่ของธุรกิจแบบนี้เติบโตขึ้นไป คือสิ่งที่เราเรียกว่า วัฒนธรรมการเป็นสมาชิก หรือ Culture of membership ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากการเป็นเจ้าของหรือว่า Ownership มาเป็นการเข้าถึง หรือ Access เป็นการทำธุรกรรมเป็นครั้ง ๆ เปลี่ยนจากการทำธุรกรรมเป็นครั้ง ๆ หรือว่า Transactional อย่างเช่น แต่ก่อนยังต้องเช่าวีดีโอ หรือว่า ซีดี ถือเป็น Transactional ในแต่ละครั้ง คือเราไปเช่า เราไปยืม หรือว่าเราซื้อของพวกนี้เก็บสะสม ก็ซื้อแล้วก็จ่ายเงินเป็นครั้ง ๆ ไป เป็นเรื่อง แต่ว่าวัฒนธรรมการเป็นสมาชิกมาเปลี่ยนรูปแบบ จากการที่เราจ่ายธุรกรรมเป็นครั้ง ๆ สู่การสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบสมาชิก หรือว่าเป็น Community ซึ่งแนวโน้มนี้เข้ากันได้ดี มีงานวินัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าเข้ากันได้ดีกับคนรุ่นใหม่ ในแง่ของการให้ความสำคัญกับการเป็น Ownership หรือ เจ้าของ น้อยกว่าการ Access หรือ การเข้าถึง จริง ๆ แล้วแนวความคิดเรื่องของการเป็นสมาชิก อย่างที่เราพูดกันว่าสมัครสมาชิก Netflix หรือว่าสมัครสมาชิก YouTube อะไรพวกนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนอาจจะค้านขึ้นมา ธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสารก็ทำมานานแล้ว แต่ก่อนเราก็สมัครสมาชิกนิตยสาร หนังสือพิมพ์ที่เราอ่านประจำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัลก็คือข้อมูลของสมาชิกในฐานะที่เป็นผู้ใช้มันถูกนำมาใช้ประโยชน์ แล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรในเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างคาดไม่ถึง อย่างแต่ก่อนเวลาเราอ่านหนังสือหรือว่าเราเป็นสมาชิกนิตยสาร การที่เราจะส่งข้อความ อยากมีส่วนร่วม เราก็อาจจะเขียนแสดงความคิดเห็น มักจะมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็น หรือว่าวัดผลหรือใช้ประโยชน์ จากข้อมูลของผู้ใช้หรือผู้อ่านได้น้อยมาก คอลัมน์ไหนที่มีคนอ่าน อ่านบ่อยแค่ไหน อะไรพวกนี้ แต่ว่าในเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ข้อมูลสมาชิกเหล่านี้เป็นเงินเป็นทองมาก อย่าง User หนึ่ง มีผู้ร่วมใช้กันกี่คน เราคลิกเข้าไปใน Netflix เราดูภาพยนตร์ประเภทอะไรบ้าง ดูบ่อยแค่ไหน ดูกี่วันต่อสัปดาห์ ดูกี่ครั้งต่อนาที ดูกี่ครั้ง ครั้งละกี่นาที ดูจากที่ไหน ดูจากอุปกรณ์อะไร ตอนนี้ก็อาจจะเหลือแค่ว่าดูกับใคร ที่ยังเก็บไม่ได้ ยังปลอดภัยอยู่ว่า ที่เราดูกับใครยังไม่ถูกเก็บข้อมูล ข้อมูลแบบนี้ที่ดูผ่านเครื่องอะไร ดูบ่อยมากแค่ไหน เหล่านี้เป็นข้อมูลที่การสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์และนิตยสารอาจจะยังไม่เคยเข้าถึง และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งต่างจากสิ่งที่เรียกว่า Super Platform อย่างเช่น Netflix, YouTube, Facebook, Google เหล่านี้ที่ทำได้ แล้วก็ทำได้ดี ทำได้ดีมากอย่างน่ากังวล” อาจารย์ปิยรัตน์เสริม และกล่าวต่อไปว่า
“ด้วยความละเลยเวลาที่เราพูดถึงทุนนิยมโจทย์ของงานเสวนาวันนี้ อย่างที่ตั้งคำถามว่า ทุนนิยมใหม่ พร้อมเครื่องคำถาม (?) นั้น เราหมายถึงทุนนิยมแบบไหน ประเด็นที่อยากจะชวนคุยก็จะผ่าน Keyword สองคำ ก็คือ คำว่า “ทุนนิยมอุตสาหะ (Industrious Capitalism)” กับ “ผู้ประกอบการ/ช่างฝีมือใหม่ (Neo-Artisan)” ซึ่งหลายส่วนก็พัฒนามาจากการอ่านหนังสือชื่อ Changemakers: The Industrious Future of the Digital Economy (2019) ของอดัม อาวิสสัน (Adam Arvidsson) ในภาพรวมของหนังสือ อาวิสสันได้เสนอว่า เมื่อทุนนิยมอุตสาหกรรม หรือว่า Industrious Capitalism ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเป็นเวลานานจะทำให้เราเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า “สภาวะสมัยใหม่เชิงอุตสาหะ” หรือว่า Industrious Modernity ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็ก มีความเป็นสาธารณะ และให้ความสนใจกับตลาดเป็นสำคัญ โดยสภาวะสมัยใหม่เชิงอุตสาหะนี้ ถูกบุกเบิกโดยพวกนอกคอกที่ไม่สามารถหาที่ทางของตัวเองได้ในทุนนิยมอุตสาหกรรม โดยอาศัยทักษะในการผลิตสินค้าบางประเภท และการทำให้วัฒนธรรมสื่อเป็นเรื่องโลกาภิวัฒน์ หรือว่า Globalization of Media Culture รวมถึงปัจจัยสุดท้าย ก็คือ อินเตอร์เน็ต ซึ่ง 3 ส่วนนี้ ทั้งทักษะในการผลิตสินค้าบางประเภท Globalization of Media Culture และ อินเตอร์เน็ต จะทำให้เกิดการผลิตสร้างความรู้ใหม่ที่เป็นสาธารณะขึ้น” อาจารย์ปิยรัตน์ชี้ให้เห็นภาพ
อาจารย์ปิยรัตน์เสริมต่อไปว่า “อาวิสสันได้ยกตัวอย่างกรณีของจีนมาอภิปรายในเรื่องนี้ โดยพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า เซิ่นเจิ้น แล้วก็สิ่งที่เรียกว่า ซานไจ้ เซิ่นเจิ้น จริง ๆ แล้วก็คือ ก่อนหน้านี้เป็นหมู่บ้านชาวประมง ที่มีประชากรเพียงสามแสนคน พ่วงด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ คือมีความยากจนไม่แพ้เมืองอื่น ๆ ของจีนในสมัยนั้น แต่ว่าเมื่อรัฐบาลประกาศให้เซิ่นเจิ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน ในปี 1980 เซิ่นเจิ้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี จากประชากรสามแสนคนก็มีประชากรเพิ่มเป็นสิบสองล้านคน ท่ามกลางการปฏิรูปเศรษฐกิจบ้านเมืองเซิ่นเจิ้นก็ได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า ซานไจ้ ซานไจ้มีความหมายโดยตรงว่าหมู่บ้านแห่งขุนเขา แต่ความหมายที่นิยมใช้กันก็คือ สินค้าเลียนแบบที่ผลิต และพัฒนาขึ้นในประเทศจีน ความสำคัญของซานไจ้ ก็คือ ในปี 1983 คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ผู้ผลิตเทคโนโลยีต่าง ๆ เริ่มขยับขยายมาหาแรงงานราคาถูกที่เซิ่นเจิ้นมากขึ้น แรงงานเหล่านี้จึงมีทักษะในการผลิตสินค้าเลียนแบบที่เรียกว่า ซานไจ้ (Product) มากขึ้น แล้วก็ยังขายมันได้ในราคาที่ต่ำกว่า ต่อมาเทคโนโลยีเหล่านี้และทักษะเหล่านี้ ก็ส่งต่อมาจนถึงยุคของสมาร์ทโฟน จากการที่เป็นผู้รับจ้างผลิตหรือว่า Original Equipment Manufacturer หรือว่า OEM ก็กลายมาเป็นการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาก็ยังเพิ่มนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าไป จนสามารถแข่งกับสินค้าแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้อย่างทัดเทียม ตัวอย่างเช่น Huawei หรือว่า Xiaomi ซึ่งลักษณะของเซิ่นเจิ้นหรือซานไจ้ที่เล่าไปนี้ อาวิสสันเรียกมันว่าเป็น Popular Industrialness
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ กลุ่มนี้ก็อาจเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยด้วยภาพลักษณ์ คือกลุ่มที่อาวิสสันเรียกว่า ความอุตสาหะแบบกระฎุมพี หรือว่า Bourgeoisie Industrialness หรือว่าเป็นกลุ่มพวกแบบผู้ประกอบการ ที่เขาเรียกว่า Hipster Entrepreneur หรือว่า Neo-Artisan กลุ่มนี้เขามองว่าเป็นกลุ่มที่มีความรู้ มักจบในระดับมหาวิทยาลัย เป็นกลุ่มคนที่ผสานความรู้หรือทักษะจากการเรียนในระดับสูงเข้ากับงานฝีมือแบบดั้งเดิมหรือว่า Traditional Craft แล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะผลิตสินค้าและบริการในลักษณะที่เรียกว่า Heighten แต่อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่เมือง สินค้าและบริการ หรือลักษณะเหล่านี้ ถ้าเราพูดถึง Hipster หลายท่าน ก็อาจจะพอมีภาพแล้ว ยกตัวอย่างเช่น พวก Craft Butcher คนขายเนื้อ พวก Bakers ทำอาหาร พวก Chef’s Table ทั้งหลาย พวก Brewer ช่างตัดผม ช่างตัดเสื้อ Designer ซึ่งอาวิสสันมองว่า คนกลุ่มนี้จริง ๆ แล้วทำงานหนัก อาจจะดูเหมือนภาพลักษณ์อย่างที่บอก ภาพลักษณ์ Hipster อาจจะดูเหมือนเป็นชีวิตที่อิสระ แต่จริง ๆ แล้ว คนเหล่านี้ทำงานหนัก และอาจหนักกว่าคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รวมถึงแม้กระทั่งหนักกว่าพี่-น้อง ซึ่งอายุมากกว่าพวกเขาด้วยซ้ำ แต่ที่น่าเศร้าก็คือว่า งานวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่ศึกษากับเมืองที่เรียกตัวเองว่า Creative City หลายท่านคงจะคุ้น ก่อนที่ไทยจะมาถึง Digital Economy เราเคยพยายามที่จะไปเป็น Creative เราเคยพยายามที่จะใช้ Creative Economy มาก่อน แต่ว่างานวิจัยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาทางเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็น Creative City ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เดลี ไทเป หรือว่ากรุงเทพ ฯ มันล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า Hipster Entrepreneur หรือว่า Neo-Artisan เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีงานที่สอง หรือ Second Job หรือไม่ก็จะต้องมีการอุดหนุนจากครอบครัว หรือมีฐานครอบครัวที่ดีอยู่แล้ว ถึงจะสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เฉพาะงาน Craft เหล่านี้ เลี้ยงตัวเองไม่รอด แม้ว่ามันจะให้ความรู้สึกในฐานะการเป็นผู้ประกอบการอิสระก็ตาม
ดังนั้นคำถามส่งท้ายถือเป็นการตอบแบบถามไปแล้วกันนะคะว่า
ความท้าทายสำหรับสังคมไทยในการดำเนินเศรษฐกิจแบบดิจิทัลก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ ภายใต้สถานการณ์ที่สภาพการณ์ที่แรงงานคุณภาพต่ำ ระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอ โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม แล้วทั้งหมดนี้หากว่ายังแย่ไม่พอ เราต้องทำอยู่ในสภาวะที่มีการเกิดการ Disrupt หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะตั้งตัวหรือไม่ตั้งตัวก็ตาม ทั้งหมดนี้ตอนแรกอาจจะอยากพัฒนาค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป แต่โควิด (COVID-19) ก็ทำให้การ Disrupt นั้นเกิดขึ้นอย่างทันที คำถามก็คือว่า แล้วโครงสร้างทางการเมืองในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายรายได้ และความมั่งคั่ง ภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมดิจิทัลแบบที่เราหวังได้หรือไม่ ? ก็ลองตอบกัน หากคำตอบคือ “ไม่” การต่อสู้ทางการเมืองในระดับความคิด และปฏิบัติการ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป”
ความท้าทายสำหรับสังคมไทยในการดำเนินเศรษฐกิจแบบดิจิทัล ก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายความมั่งคั่งและรายได้
ปิยรัตน์ ปั้นลี้
ภายใต้สถานการณ์ที่สภาพการณ์ที่แรงงานคุณภาพต่ำ ระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอ โครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม
แล้วทั้งหมดนี้หากว่ายังแย่ไม่พอ เราต้องทำอยู่ในสภาวะที่มีการเกิดการ Disrupt หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

คุณวิริยะเปิดวงเสวนาด้วยคำถามที่สอง “ผมรู้สึกว่าไป ๆ มา ๆ แล้ว ถ้าเกิดเรามีมุมมองแบบ Marxism เราจะตั้งคำถามแบบเดิม ๆ เลย ตกลงแล้วการกดขี่ ขูดรีด ความแปลกแยก สภาวะความแปลกแยกของเรากับทุน การกดขี่ ขูดรีด ในแง่สถานะของความเป็นแรงงาน ความไม่เท่าเทียมกันของภาคเศรษฐกิจเมืองกับชนบท เศรษฐกิจของอุตสาหกรรมกับเศรษฐกิจที่ยังเป็นเศรษฐกิจเกษตร แล้วท้ายที่สุดความเหลื่อมล้ำ ก็น่าจะยังมีขึ้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พอจะมีตัวอย่างใหม่ ๆ ในการที่เราจะทำความเข้าใจให้เห็นถึงความซับซ้อนมากขึ้นของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และเราต้องการแนวคิด (Concept) ใหม่ในการทำความเข้าใจ รวมถึงวิธีคิดของการแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่ง วิธีคิดของการที่เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมในอีกชุดหนึ่ง”
คุณอรรคณัฐอธิบายว่า “ชุมปีเตอร์บอกว่า Innovation มันทำให้ไม่เกิดการผูกขาด คือมีผลดีในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าเขาดูถูกทุนไปหน่อย คือทุนนิยมในสมัยนั้นมันอาจจะไม่ได้มีความเก่งมากเท่ากับทุนนิยมในปัจจุบัน ความทับซ้อน ความสามารถในการที่จะเข้ามาผูกขาดด้วยวิธีการแบบต่าง ๆ อาจจะไม่ได้เก่งเท่าในปัจจุบัน ดังนั้น ในบริบทนั้น ก็ไม่ใช่ว่าเขาคิดผิด แต่คิดว่าถ้าเขามาเกิดในยุคนี้ เขาอาจจะต้องคิดใหม่ สำหรับคำถามข้อแรกขอย้อนตอบว่าเป็น Monocapitalism และอีกมีสองเรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟังก็คือ เรื่องแรก Start-Up เรามักคิดว่า Start-Up คือธุรกิจที่เป็นธุรกิจไฮเทค ธุรกิจทันสมัย จริง ๆ แล้ว Start-Up เป็น Model ในการระดมทุนแบบหนึ่งซึ่งในต่างประเทศมันมีมานานแล้ว เป็นการที่มีนักลงทุนทั้งนักลงทุนที่เป็นนักลงทุนแบบสถาบันและนักลงทุนแบบที่เป็นนักลงทุนเดี่ยว ๆ ในฐานะบุคคลเข้าไปดูความเป็นไปได้ของกิจการ จากนั้นก็เอาเงินตัวเองไปให้ในการทำกิจการนั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องไประดมทุน ไม่ต้องไปหยิบยืม ไม่ต้องไปกู้ธนาคาร เพราะธนาคารก็อาจจะไม่ค่อยให้กู้สำหรับธุรกิจเกิดใหม่ซึ่งมันมีความเสี่ยงสูง”
ปัญหาใหม่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจากการระดมทุนแบบ Start-Up
และ Platform Disruption
“ปัญหาที่ตามมาจาก Model การระดมทุน แบบ Start-Up คือ ปัญหาเรื่อง Ownership คือคนที่เข้ามาถือหุ้นในกิจการสนใจที่จะทำกำไรจากตัวหุ้นมากกว่าที่จะรอเงินปันผลจากกิจการเลย ทำให้ธุรกิจที่มี Model การระดมทุน แบบ Start-Up เขาจะสนใจเรื่องของมูลค่าของตัวบริษัทมากกว่าความสามารถในการทำกำไร คนที่เอาเงินมาลงทุนอาจจะทำกำไรด้วยการขายหุ้นที่ตัวเองเข้าไปลงทุน ในการระดมทุนรอบหน้าแล้ว หรือถ้าเกิดว่ารออดเปรี้ยวไว้กินหวาน เขาจะทำกำไรมาก ๆ ตอนที่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ธุรกิจพวกนี้เขาจะไม่ค่อยสนใจว่าตัวเองทำกำไรได้จริง ๆ ไหม สนใจแต่ว่าคนมองว่าตัวเองเป็นธุรกิจที่มีมูลค่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มันนำไปสู่ปัญหาเรื่องของ Privacy นำไปสู่ปัญหาเรื่องของ Ethics เป็นเรื่องที่สองที่ทำให้มันมีความสามารถในการ Monopoly ได้มากกว่าเดิม คือเรื่องความสามารถในการ Cultivate ข้อมูล มันสามารถที่จะเอาข้อมูลของ User ไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากมาย ทุกวันนี้คนเขาก็พูดกันว่าแบบ Data เป็นแบบ New Oil “Data is a new oil” บริษัทพวกนี้ที่มาดูดเอาน้ำมันจากพวกเราซึ่งก็คือตัวข้อมูลไปใช้ แล้วเขาก็จะมีความสามารถมากเลยในการที่จะเอาข้อมูลไปใช้ในการขยายธุรกิจของตัวเอง
ประเด็นหนึ่งที่อยากคุยต่อจากที่อาจารย์ปิยรัตน์เสนอไปก่อนหน้านี้ คือ เรื่องการแลกเปลี่ยน (Trade off) ระหว่างความมีอิสระในการทำงาน ผมมีโอกาสทำงานวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม มีอยู่สอง เรื่อง เรื่องแรก คือ ศึกษากลุ่มคนที่อยู่ในตลาดงานมาก่อนได้รับผลกระทบจากการมาถึงของแพลตฟอร์ม เช่น กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มคนขับแท็กซี่ ซึ่งคนกลุ่มนี้อยู่ในตลาดแรงงานแบบเดิม แบบขนบ (Traditional) มาก่อน เมื่อแพลตฟอร์มมาถึงก็ไป Disrupt งานชิ้นแรกนี้จะศึกษาว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถูก Disrupt อย่างไร
เรื่องที่สอง คือ ศึกษาว่าคนที่ทำงานบนแพลตฟอร์มได้รับการปฏิบัติจากตัวแพลตฟอร์มอย่างไร และศึกษาถึงรูปแบบและลักษณะของการทำงาน ความสัมพันธ์ในการจ้างงาน รูปแบบการจ้างงาน และหลักประกันทางสังคม
จากงานวิจัยพบว่า สภาพการจ้างงานและความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่นี้ เมื่อเทียบกับในอดีต เช่น เรื่องของกฎหมายแรงงานในไทยจะมีคำจำกัดความของการเป็นนายจ้างและลูกจ้างค่อนข้างจำกัด ว่าใครเป็นลูกจ้างและใครเป็นนายจ้าง การมาถึงของแพลตฟอร์มแบบใหม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่ ทำให้ระบุได้อย่างไม่แน่ชัดว่าใครเป็นลูกจ้างหรือนายจ้าง เช่น การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ จะมีคนสั่งอาหาร คนส่งอาหารหรือไรเดอร์ และบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม เมื่อไปดูความสัมพันธ์ก็ระบุไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ที่จ้างคนส่งอาหาร ระหว่างบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มกับคนสั่งอาหาร จากมุมมองของบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม จะเห็นว่าคนสั่งอาหารเป็นนายจ้าง คนส่งอาหารคือผู้รับจ้าง การจ้างงานเป็นสัญญาการจ้างงานสั้น ๆ เป็นครั้ง ๆ หรือเรียกว่า Gig Work ส่วนบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม เป็น Technology Company ตัว Infrastructure ที่ Matching ผู้ว่ากับผู้รับจ้าง และเก็บค่าบริการจากผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง แต่ในความเป็นจริง สภาพของการทำงานในธุรกิจไม่ได้เป็นลักษณะที่บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ในการจับคู่ แต่เป็นลักษณะของการเข้าไปออกคำสั่ง (Command) ให้คนรับจ้าง หรือ Partner ว่า คุณต้องทำแบบอะไรบ้าง มีระบบการให้คุณ ให้โทษ ทำให้สภาพการทำงานเหมือนเป็นลูกจ้างของแพลตฟอร์ม แต่ด้วยรูปแบบการจ้างแบบนี้ยังไม่ได้ถูก Recognize โดยกฎหมายแรงงาน มันก็เลยเกิดปัญหา เกิดสุญญากาศของการกำกับดูแลลามไปถึงเรื่องอื่น ลามไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสภาพการทำงาน รูปแบบการทำงาน ลามไปถึงหลักประกันทางสังคมอื่น ๆ หลักประกันทางสุขภาพ เพราะว่าสถานะของการทำงานไม่ชัดเจน ไม่รู้ว่าเป็นคนรับจ้างหรือว่าเป็นลูกจ้างกันแน่ อีกอย่างแพลตฟอร์มบางแพลตฟอร์มมีระบบที่ซับซ้อน คนทำงานเลือกกะได้ แต่การเลือกกะคนเข้าไปทำงานใหม่ ๆ จะได้เลือกกะก่อนคนอื่น แต่กะที่เราอยากจะทำงาน เราไม่สามารถที่จะเลือกบริเวณที่เราจะทำงานได้ ทำนองนี้ ยังพบว่าตัวบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์ม พยายามผลักความเสี่ยงทุกอย่างไปให้คนทำงานเกือบหมด ความเสี่ยงในการที่จะทำผิดกฎหมาย ในกรณีส่งอาหารไม่ผิดกฎหมาย แต่กรณีส่งผู้โดยสารมันผิดกฎหมายชัดเจน ผิดกฎหมายคือคนขับจะต้องมีใบขับขี่สาธารณะ รถก็จะต้องจดทะเบียนสาธารณะตาม พรบ. ขนส่งทางบก แต่แพลตฟอร์มเอื้อให้คนธรรมดาซึ่งไม่ได้มีใบอนุญาตในการประกอบอาชีพสามารถที่จะเข้าไปทำได้ นอกเหนือจากนั้น เรื่องความเสี่ยงในการที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยมากจะเป็นภาระของคนที่ทำงาน จะต้องแบกรับเอาเอง” คุณอรรคณัฐเล่าอย่างมีอรรถรส ชวนให้ผู้ชมผู้ฟังเห็นภาพตาม
สภาพการจ้างงานและความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่นี้ … เช่น เรื่องของกฎหมายแรงงานในไทยจะมีคำจำกัดความของการเป็นนายจ้างและลูกจ้างค่อนข้างจำกัด … การมาถึงของแพลตฟอร์ม แบบใหม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์การจ้างงานแบบใหม่ ทำให้ระบุได้อย่างไม่แน่ชัดว่าใครเป็นลูกจ้างหรือนายจ้าง
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ

อาจารย์ปิยรัตน์สำทับการสนทนาต่อว่า “อยากจะคุยต่อจาก อาจารย์อรรคณัฐ เราจะเห็นได้ว่าตัวเกณฑ์สำหรับวัดทางธุรกิจ
เรื่องแรก เรื่องของ AI เราจะเห็นได้ว่าเวลาที่เราพูดถึงเกณฑ์วัด บริษัทหรือธุรกิจเหล่านี้จะวางใจหรือว่าเรามักจะเข้าใจหรือทำให้วางใจกันกับตัว Machine Learning หรือ AI ในแง่เสมือนกับการที่มันเป็นจักรกลซึ่งเวลาที่เราพูดถึงจักรกล เราก็มักจะเชื่อมโยงกันไปกับการที่ไม่มีความรู้สึกหรือเป็นกลาง (Neutral) แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ในงานชิ้นหนึ่งที่เคยเขียนบทความไว้ ดิฉันเขียนถึงความไม่เป็นกลาง หรือ Bias ของ Algorithm หรือ AI เหล่านี้ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว กระบวนการในการสร้าง ไม่ใช่เฉพาะตัวแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ว่าเวลาที่เราพูดถึง Device ต่าง ๆ แพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือระบบประมวลผลเหล่านี้ Algorithm ที่ใช้ในการประมวลผลเหล่านี้ มันคำนวณหรือถูกสร้างด้วยคน เป็นผู้ Input หรือกำหนดความเป็น Algorithm ที่เราคิดว่ามันเป็นกลาง เป็น Neutral จริง ๆ แล้ว คือมีความเป็นผู้ชายผิวขาวที่รักเพศตรงข้าม และมีการศึกษาดี คือ พูดง่าย ๆ ว่ามันมี Bias ของสถานะทางสังคมของคนเหล่านี้อยู่ ดังนั้น ในทางด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่านักวิชาการที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล หลายครั้งจึงไม่ได้จบอยู่ที่ในแง่ของตัวแพลตฟอร์มบริษัทเท่านั้น แต่ได้โจมตีไปจนถึงระบบในการประมวลผลเหล่านี้ ผ่านแง่มุมการมองแบบ Feminism เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่ง เวลาที่เราพูดถึงการสร้างแพลตฟอร์ม หรือการสร้างแอปพลิเคชันมา ความกังวลในหมู่นักสังคมศาสตร์ แต่ก่อนเวลาที่เราพูดถึงปัญหาทางสังคมมักนึกถึงการแก้ไขผ่านองค์กรเอกชน หรือร่วมมือกันกับชุมชนในการที่จะแก้ไขปัญหา แต่ปัจจุบันนี้พบว่าปัญหาทางสังคมจำนวนมาก มันนำไปสู่ผลกำไร คือ แอปพลิเคชันจำนวนมากอย่างที่เราคุ้นหู เกิดขึ้นจากเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา แต่กลายเป็นว่าปัญหาทางสังคมถูกนำไปเชื่อมกันกับการออกแบบหรือว่าการออกแบบแอปพลิเคชันหรือโปรแกรม ในการที่จะสร้างรายได้ หรือแปรเปลี่ยนปัญหาสังคมเหล่านั้น ให้กลายเป็นผลกำไรไป ท้ายที่สุดแล้ว การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้น
สำหรับปัญหาเรื่องแรงงานที่อยากจะคุยต่อก็คือ เรื่องของอุตสาหกรรมแฟชั่น เวลาที่เราพูดถึงแฟชั่น มันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของเสื้อผ้า มีงานศึกษาที่ตั้งคำถามว่า “แรงงาน” นับรวมศิลปินเป็นแรงงานไหม?
สำหรับแฟชั่นไม่ได้เป็นแค่เรื่องเสื้อผ้า แต่มันเกี่ยวข้องกับทุกมิติเลย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม มันเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย มันสะท้อนให้เราเข้าใจถึงสังคมต่าง ๆ เวลาที่เลือกพูดถึงแฟชั่นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า น้ำหอม นาฬิกา เครื่องประดับ แต่มันเกี่ยวข้องกันกับวิถีชีวิต การบริโภค มุมมองทางสังคมวัฒนธรรม สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นในไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนมนุษย์ในการออกแบบ และสร้างมูลค่าให้กับสินค้า เป็นธุรกิจที่ถูกมองว่าเป็นอายุสั้น แต่จริง ๆ แล้ว เป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนสูง อุตสาหกรรมแฟชั่นเราจะพูดถึงรวมสามสาขาหลัก ๆ ก็คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สามสาขานี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างเรื่องของห่วงโซ่อุปทานหรือว่า Supply Chain พบว่า ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการถึง 170,000 กิจการ
ในประเด็นที่พูดถึงผู้ “ประกอบการ” อย่างที่เราตั้งคำถามกัน ใครคือผู้ประกอบการ? มีผู้ประกอบการมากกว่า 100,000 ราย และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 2.9 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้เกิดมูลค่าการส่งออกกว่า 580,000 ล้านบาทต่อปี หรือเราเทียบไปแล้วเป็นเกือบร้อยละ 10 ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยสัดส่วนใหญ่ ๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่นจะเป็นอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเสื้อผ้า ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่ได้จบอยู่แค่ 3 อุตสาหกรรมที่พูดมาเท่านั้น แต่มันสร้างผลกระทบโดยรวมไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ค้าปลีก ค้าส่ง อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมการพิมพ์ การโฆษณา ท่องเที่ยว ซอฟต์แวร์ และเครื่องจักร ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าวงจรของอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่าในภาคของการผลิตแล้ว ภาพลักษณ์ของ “ผู้ประกอบการ” ในอุตสาหกรรมแฟชั่น อาจจะมีสมาคมหรือสมาพันธ์ แต่สมาคมหรือสมาพันธ์นั้นอาจไม่ได้ทำหน้าที่ในแง่ของการเป็นสหภาพแรงงาน ให้ภาพของการเป็นผู้ประกอบการแต่ไม่ได้ให้ภาพของการเป็นแรงงาน”
วงเสวนาจบลง
สุดท้ายนี้ ขอส่งท้ายคำถามท้าทายจากอาจารย์ปิยรัตน์ที่เกิดขึ้นในวงเสวนา ให้ผู้อ่านชวนไปพินิจพิจารณา.
โครงสร้างทางการเมืองในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายรายได้ และความมั่งคั่ง
ปิยรัตน์ ปั้นลี้
ภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมดิจิทัลแบบที่เราหวังได้หรือไม่ ? ก็ลองตอบกัน หากคำตอบคือ “ไม่” การต่อสู้ทางการเมืองในระดับความคิด และปฏิบัติการ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป