
ในโลกร่วมสมัยที่วิทยาศาสตร์และสังคมดำเนินมาทับซ้อนบรรจบกันอย่างแยกกันไม่ออก เราแทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสังคมทุกวันนี้มนุษย์เรามีวิทยาศาสตร์อยู่ในทุกช่วงตอนของชีวิต ทุกช่วงตอนของการดำเนินไปของชีวิต จนแทบจะกล่าวได้ว่าชีวิตในสังคมเราล้วยขับเคลื่อนไปด้วยกลไกของวิทยาศาสตร์ สิ่งสำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การที่เราจะเข้าไปทำความเข้าใจถึงวิทยาศาสตร์และค้นหาถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ รวมถึงความสัมพันธ์อันน่าสนใจระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคม ตลอดจนการทบทวน ทำความเข้าใจบทบาทขององค์ความรู้วิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในระบบการศึกษาและงานพัฒนาสังคมที่เปรียบประดุจเป็นเบ้าหลอมของการพัฒนามนุษย์และสังคมต่อไปในอนาคต
หากรากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตในสังคมร่วมสมัยก็คงเป็นความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์และสังคม ดังนี้แล้ว STS Cluster Thailand จึงสร้างสรรค์งานเสวนาพาทุกท่านมาพูดคุยกันกับเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ในวงการศึกษาและพัฒนาสังคม ในค่ำคืนของวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:00 – 21:00 น. ทางทีมงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยหลายท่าน ทั้ง ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อ.ภาคิน นิมมานนรวงศ์ อาจารย์สาขาสังคมศึกษาฯ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ อ.ดร.จิดาภา คุ้มกลาง อาจารย์หลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ความอนุเคราะห์จาก อ.ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล มาร่วมดำเนินรายการกับ อ.ดร.ปิยณัฐ ประถมวงษ์ ที่พากันขยายประเด็นคำถามสุดท้าทายและน่าสนใจในงานเสวนาครั้งนี้

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: โจทย์การพูดคุยวันนี้ ตั้งต้นมาจากประสบการณ์ของผู้ร่วมเสวนาทุกคนที่มีพื้นฐานทางด้านสังคมศาสตร์บ้าง วิทยาศาสตร์บ้าง แต่ต้องมาทำงาน ใช้ชีวิต ณ จุดบรรจบของสองศาสตร์นี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมขอเริ่มต้นด้วยการชวนผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน พูดคุยถึงประสบการณ์ มุมมอง หรือความท้าทายของแต่ละท่านเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และสังคม
นำชัย ชีววิวรรธน์:ผมเริ่มแปลบทความวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโทด้วยความชอบส่วนตัว แล้วผมตั้งความหวังส่วนตัวว่าอย่างไรก็จะไปหาทางเรียนเอกให้ได้ แต่ว่าทุนมีความจำกัด ตอนนั้นเป็นยุคประมาณปี 2533 – 2534 เป็นยุคเฟื่องฟูของนิตยสาร มีนิตยสารออกใหม่เยอะมาก รวมทั้งนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ก็มีจำนวนเยอะมาก ผมก็สมัครไป ตอนแรกคิดว่าเขาจะให้แปลพวกบทความวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าเขาออกหัวนิตยสารใหม่ ชื่อว่า Best Buy เป็นคู่มือการเลือกซื้อข้าวของ ตอนหลังนิตยสารปิดตัวไป จากนั้นก็ขยับมาแปลลงในนิตยสารวิทยาศาสตร์ชื่อ Update ตอนหลังก็เปลี่ยนมาเป็นรู้รอบตัว จากนั้นช่วงไปเรียนจบปริญญาเอกกลับมาแล้ว ก็เริ่มเขียนบทความวิทยาศาสตร์ แต่ว่าเป็นลักษณะที่ กึ่ง ๆ คล้าย ๆ บทปริทรรศน์จากการที่อ่านเยอะ ทำให้มีข้อมูลเยอะขึ้น จากนั้นก็เริ่มเขียน แล้วก็ต่อมาภายหลังก็เริ่มแปล งานแปลชิ้นแรกทำกับสำนักพิมพ์สารคดี ชื่อหนังสือ “จากอณูถึงอนันต์ วิทยาศาสตร์ต้องรู้” คนเขียนคือจอห์น กริบบิน (John Gribbin: 1946 –) ชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือ คือ Almost Everyone’s Guide to Science ใช้คนแปลทั้งหมด 3 คน คือ ผม ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ และ ดร.นเรศ ดำรงชัย สำหรับงานแปลปัจจุบันก็แปลมายาวนาน 30 ปี หนังสือน่าจะมี 40 กว่าเล่มแล้วตอนนี้ คนไม่ค่อยรู้จักมากเท่าใด เพิ่งมารู้จักเล่มที่แปลเรื่อง Sapiens: A Brief History of Humankind ซึ่งก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ซะทีเดียว เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์จะตรงกว่า แต่ว่ามีเนื้อหาสาระส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ปนอยู่ด้วยพอสมควร โดยสรุปแล้วผมเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ เรียนสายชีววิทยา เรียกว่าเป็นนักชีววิทยาเต็มตัว ศึกษาลึกไปถึงระดับอณูชีววิทยา ตัดต่อ DNA ได้ ตอนหลังก็หันมาทำด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:เรื่องราวของอาจารย์นำชัยน่าสนใจมาก ทำให้เห็นถึงมิติของคนเรียนทางวิทยาศาสตร์ต่อมาขออนุญาตเชิญอาจารย์จิดาภาเป็นท่านต่อไปที่จะมาร่วมพูดคุยกัน รบกวนอาจารย์เล่าถึง พื้นเพนิดหนึ่งว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ของอาจารย์เป็นอย่างไร
จิดาภา คุ้มกลาง:เรียกได้ว่าเป็นคนที่อยู่กับสายวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่มัธยมปลาย แล้วก็เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ มาตลอด คือตั้งแต่เด็กฝันว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเลย มีความชอบมาก ชอบการเรียนวิทยาศาสตร์มาก ทีนี้ปริญญาตรีเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ปริญญาโท – เอก ก็สอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นแล้วก็ไปเรียน แต่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เฉพาะทะเลชายฝั่งเท่านั้นเลย ก็คือเป็น Marine Science ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะมิกซ์กันอยู่อย่างนี้ พื้นเพก็เลยอยู่แต่เฉพาะกับคนวิทยาศาสตร์ แนวคิดของเราก็จะคิดแบบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เหตุและผล ทฤษฎี สิ่งที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพราะว่ามันคือสิ่งที่เรามองเห็นและจับต้องได้ คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เราก็ชอบ แต่เราเลือกไม่ได้ว่าชอบอะไรที่สุด พอมาเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็ตอบโจทย์เรา เรามองเห็นเหตุการณ์จริง ๆ เห็นปัญหาจริง ๆ แล้วก็ฟิสิกส์เคมี ชีวะ มันจับต้องได้ขึ้นมา จากนั้นมีโอกาสทำงานชิ้นหนึ่งที่จะต้องไปวิเคราะห์ดินและน้ำทะเลที่จังหวัดระยอง ซึ่งเราก็คิดว่าการวิเคราะห์ดินและน้ำเป็นงานที่ไม่น่าจะต้องใช้อะไรยากมากมาย แต่พอลงไปในพื้นที่จริง มันไม่ใช่แค่การจัดเก็บดิน เก็บน้ำ มาวิเคราะห์เฉย ๆ การพูดกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นับเป็นเรื่องยาก การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่เราไม่เคยทำมาเลย พอไปคุยกับประชาชนในพื้นที่กลับเป็นคนละภาษา แล้วเราก็พบว่าประชาชนในพื้นที่สูญเสียความมั่นใจกับหน่วยงานรัฐที่ตรวจวัดดินและน้ำ คนที่นั่นเล่าให้ฟังว่า เวลาที่นักวิชาการลงไปพูดกับเขาหรือลงไปเก็บตัวอย่าง นักวิชาการมักจะใช้ภาษาที่ค่อนข้างเข้าใจยาก ใช้ภาษาที่เขาไม่รู้เรื่องเลย เช่น พูดว่าใช้ Sediment Lab Sampler ในการเก็บดิน ใช้ Water Sampler ในการเก็บน้ำ หรือว่าใช้มาตรฐาน US-EPA ในการตรวจวัดซึ่งได้มาตรฐานแน่นอน ชาวบ้านก็ไม่รู้จักว่า US-EPA คืออะไร กลายเป็นว่างานที่เรารับมา ณ ตอนนั้น แทนที่เราจะแค่ไปเก็บดินและน้ำ ตามจุดที่เราทำเครื่องหมายไว้ มันกลับกลายเป็นว่าต้องไปคุยกับชาวบ้านใหม่ตั้งแต่ต้น อธิบายอุปกรณ์คืออะไร มาตรฐานคืออะไร คุยกันจนเป็นภาษาเดียวกัน แม้ว่าทุกอย่างคีย์เวิร์ดมันคือภาษากลางที่เราพูดถึงกัน แต่เราต้องสร้างความเข้าใจในคีย์เวิร์ดด้วยกันทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งวิทยาศาสตร์และฝั่งทางสังคม ก็เลยเป็นจุดบรรจบของวันนั้น งานชิ้นแรกที่ทำ จึงทำให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ควรจะต้องไปด้วยกัน นับเป็นจุดเริ่มต้น สำหรับงานชิ้นนั้นผ่านไปได้เพราะว่าเพื่อนร่วมทีมที่เหลือเป็นสังคมศาสตร์หมดเลย มีเราเป็นวิทยาศาสตร์คนเดียวที่เข้าไปอยู่ในทีม งานมันก็เลยไปง่าย เพราะเพื่อนคอยสอนการเข้าชุมชนให้กับเรา สอนการคุย สอนการสื่อสาร สอนการที่จะนำเสนอข้อมูลที่เราได้มาเป็นวิทยาศาสตร์ออกไปอย่างไร ซึ่งดิฉันก็เลยถือว่าตัวเองยังใหม่มากกับวงการที่เริ่มเอาวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์เข้ามาผสมกัน ก็ยังลองทำงานชิ้นอื่นอีก 2 – 3 ชิ้น แล้วก็เห็นชัดแล้วว่า จริง ๆ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของเรามันแยกกันไม่ออก วิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์มันต้องไปด้วยกัน
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:เรื่องราวของอาจารย์จิดาภาน่าตื่นเต้นนะครับ แต่อาจสวนทางกับอาจารย์ภาคินเลย ลองมาฟังอาจารย์ภาคินว่ามีประสบการณ์เป็นอย่างไรบ้าง ให้อาจารย์เล่าได้เลยครับ
ภาคิน นิมมานนรวงศ์:ผมเรียนปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ ปริญญาโทประวัติศาสตร์ ปัจจุบันผมก็เป็นครูสังคมศึกษาสอนอยู่ที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ส่วนตัวผมเป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องต่าง ๆ อยู่แล้วตั้งแต่ดั้งเดิม แต่ไหนแต่ไรมาเป็นคนไม่ค่อยเชื่อในการทำให้อยู่ในระเบียบวินัย (Discipline) หมายความว่า ไม่ค่อยเชื่อในความเป็นสาขาวิชาซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับบางอย่าง แต่ก็ไม่ดีสำหรับบางอย่าง ก็เรียน ก็เลยเรียนกระโดดไปกระโดดมา ตอนเรียนรัฐศาสตร์ ก็ไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์อย่างที่เด็กรัฐศาสตร์ที่ดีควรเรียนกัน ผมก็หนีไปเรียนวิชานอกคณะ แล้วก็ทำได้ดีกว่าวิชาคณะด้วยซ้ำไป แล้วก็เป็นคนสนใจอะไรหลากหลาย ระหว่างเรียนปริญญาโทประวัติศาสตร์อยู่ ตอนนั้นพอดแคสต์ (Podcast) เริ่มดัง ได้รู้จัก WITcast ของคุณแทนไท ประเสริฐกุล พอเริ่มได้ฟังพอดแคสต์ ได้อ่านหนังสือเอง แล้วก็หาความรู้ไปเรื่อย ๆ ก็เลยรู้สึกว่าหนึ่งในความท้าทายที่อยากจะทำมาโดยตลอดก็คือ ผมอยากทำให้คนที่เรียนวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตัวเองไม่ได้เก่งขนาดนั้นซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมสักเท่าไร แต่ผมรู้สึกว่าตลอดที่ผ่านมา ที่ผมเติบโตกับค่านิยมบางอย่างที่คนไม่ว่าจะเรียนวิทยาศาสตร์หรือไม่เรียนวิทยาศาสตร์ ล้วนแต่เชื่อว่าคนที่เรียนวิทยาศาสตร์เป็นคนเก่งกว่าคนที่เรียนสาขาอื่น แล้วผมก็จะมีความรู้สึกนี้ตลอดไม่ใช่เฉพาะคนวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่หมายถึงมีค่านิยมบางอย่างในสังคมที่บอกว่า คนเรียนบางอย่างจะเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าคนอื่น เช่น ถ้าคุณจบปริญญาเอกคุณจะต้องเป็นผู้รอบรู้ (Authority) ในเรื่องนั้น ๆ มากกว่าคนไม่จบปริญญาเอก คุณจบเอกแล้ว ทุกคนจะฟังคุณ ทั้ง ๆ ที่คุณรู้เรื่องนั้นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณจบเมืองนอกย่อมดีกว่าเมืองไทย คุณเรียนวิทย์ย่อมดีกว่าศิลป์ ผมอยากจะทำให้ทุกคนเห็นว่าจบปริญญาเอก มันไม่ได้เก่งขนาดนั้น หรือว่าไม่ต้องจบปริญญาเอกก็เก่งได้ อีกด้านหนึ่งก็คืออยากจะทำให้สายวิทยาศาสตร์เห็นว่าโลกมันมีอะไรมากกว่าที่เราเห็น วิทยาศาสตร์ไม่ใช่คำตอบเดียวของสังคมและโลกใบนี้ พอผมเข้ามาสอนในระดับโรงเรียนอย่างจริงจัง ผมรู้สึกว่าภาพที่ผมคาดหวังไว้ไม่ได้ผิดคาดมากนัก นักเรียนแทบทั้งหมดเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ไม่มีใครชอบวิชาสังคม เกลียดวิชาประวัติศาสตร์ เกลียดกระทั่งครูประวัติศาสตร์ ตลอดการสอนผมเจอความท้าทายทั้งจากนักเรียน รวมถึงจากตัวเองด้วย เป็นความท้าทายที่จะต้องตอบคำถามว่า วิชาสังคมมีประโยชน์อะไร ทำไมนักเรียนวิทยาศาสตร์ถึงต้องเรียนสังคม ความท้าทายนี้เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้ผมพยายามจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ทำตลอด และพยายามจะอธิบายหรือตอบคำถามนี้ให้ตัวเองให้ได้ว่า เวลาเด็กถามว่าเรียนวิชาครูไปทำไม เราควรจะตอบอย่างไร นอกจากคำตอบที่แบบว่า ก็เราเป็นมนุษย์ เราจึงต้องเรียนรู้อย่างอื่นบ้างที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ อีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ค้นพบก็คือ ผมเริ่มเห็นแง่มุมของเด็กสายการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นซึ่งแตกต่างจากเด็กการเรียนสายภาษาอย่างผม ความเชื่อที่ว่าเด็กวิทยาศาสตร์เก่งกว่ามันอาจจะเป็นความเชื่อที่เด็กส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักไม่ได้เชื่อเรื่องนั้นเท่าไหร่ แต่จะเป็นผู้ปกครอง คุณพ่อ คุณแม่ ครูบาอาจารย์ ที่พยายามหล่อหลอมให้เด็ก ๆ เชื่อแบบนั้น ข้อดีของการเชื่อแบบนี้ คือ ถ้าเด็กทำคะแนนวิทยาศาสตร์ได้ดี เด็กจะเป็นเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองและจะรู้สึกว่ามีความฮึกเหิม อยากจะทำ มีความฝันที่สูงส่ง อยากจะไปให้ไกลกว่ามนุษย์ทั่ว ๆ ไป ข้อเสียก็คือ คุณค่าหรือชุดความคิดนี้ ที่มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เหนือกว่าสิ่งอื่น สิ่งที่เด็ก ๆ เห็นว่ามีคุณค่า สิ่งนั้นก็จะเป็นอะไรที่เป็นเครื่องมือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ แต่ในสำหรับเด็กบางคนทำได้ไม่ดีจะกลายเป็นแรงกดดัน เด็กบางคนก็มาพบทีหลังว่าไม่ได้ชอบวิทยาศาสตร์ แต่แค่ทำได้ดี เด็กบางคนเกิดคำถามกับตัวเองว่า ตกลงแล้วตนเองเป็นคนแบบไหนกันแน่ พอเด็ก ๆ ไม่สามารถไปถึงจุดที่คนอื่นคาดหวังต่อตัวเขา ก็เกิดคำถามกับตัวเอง เป็นบรรยากาศของการต่อสู้กันระหว่างการให้คุณค่า และค่านิยมของสังคมไทยมักจะมองว่า วิชาเรียนที่ดีและมีคุณค่ามักจะเป็นวิชาที่เรียแล้วสามารถใช้หาเงินได้และร่ำรวย ซึ่งพอเด็กนักเรียนได้เรียนมาถึงจุดหนึ่ง นักเรียนก็จะเข้าใจว่าเรียนฟิสิกส์ ทฤษฎีมันไม่ทำให้รวย เราเรียนเคมีไปไม่รวย เราเรียนชีวะไปไม่เห็นจะรวยเลย สุดท้ายไปเรียนหมอ ในสิ่งแวดล้อมที่ยกตัวอย่างไปนี้ วิทยาศาสตร์ดูเหมือนจะมีคุณค่าเหนือกว่าศาสตร์อื่น แต่วิทยาศาสตร์เองก็ถูกตั้งคำถามว่า จริง ๆ มีคุณค่าขนาดนั้นหรือไม่ ในสายตาของนักเรียนที่ถูกสอนมาว่า สิ่งที่มีคุณค่าต้องเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งเงินทอง
กระบวนการวิทยาศาสตร์ … เป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์ … เวลาพูดว่าอยากให้คนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์
นำชัย ชีววิวรรธน์
หมายถึง อยากให้คนเข้าถึงในตัวกระบวนการวิทยาศาสตร์มากกว่า เวลารับข้อมูลบางอย่างมา
ควรเกิดความสงสัย ต้องรู้วิธีหาข้อมูล ต้องตรวจสอบเป็น ต้องชั่งใจ วิเคราะห์วิจารณ์เป็น ต้องสรุปผลได้

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:แต่ละท่านคิดว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร วิทยาศาสตร์แก่นแท้ของตัวมันเองหรือไม่ หรือวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการบางอย่าง
นำชัย ชีววิวรรธน์:คนไทยส่วนมากมักจะเข้าใจวิทยาศาสตร์ผิด กล่าวคือ ความเข้าใจของคนไทยโดยส่วนมาก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนจะรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ คือ เนื้อหาที่เรียนในห้องเรียน ในบทเรียน แต่จริง ๆ แล้ว วิทยาศาสตร์มีสองส่วน คือ เนื้อหาที่เรียน เป็นความรู้ที่ได้จากกระบวนการวิทยาศาสตร์ และส่วนที่สองที่เป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์ คือ กระบวนการวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น เวลาพูดว่าอยากให้คนมีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ หมายถึง อยากให้คนเข้าถึงในตัวกระบวนการวิทยาศาสตร์มากกว่า เวลารับข้อมูลบางอย่างมา ควรเกิดความสงสัย ต้องรู้วิธีหาข้อมูล ต้องตรวจสอบเป็น ต้องชั่งใจ วิเคราะห์วิจารณ์เป็น ต้องสรุปผลได้ แล้วก็วนกลับมาเป็นวัฏจักร พอสรุปผล มันอาจจะยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายที่ตายตัว อาจต้องกลับไปตั้งสมมติฐานซ้ำใหม่ ถ้าผลที่ได้ไม่สอดคล้อง ก็วนเป็นวัฏจักร กระบวนการวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับคนไทย การเรียนวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน จุดซึ่งแย่ที่สุดในสายตาผมที่มองเห็น คือ เราเรียนเกี่ยวกับกระบวนการวิทยาศาสตร์น้อยมาก และเราให้ความสำคัญกับการเรียนพวกเปลือก ๆ ของของวิทยาศาสตร์ พวกความรู้ต่าง ๆ ซึ่งความรู้ไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ว่าจุดอ่อนของความรู้ คือ ความรู้ที่กลายเป็นทฤษฎีเหล่านี้มันสามารถเปลี่ยนได้ และมีหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ทฤษฎีถูกเปลี่ยน เช่น ข่าวเรื่องแผนที่รับรสของลิ้นที่เชื่อกันมาร้อยกว่าปีและอยู่ในตำราเรียนทั่วโลก ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าแผนที่นั้นไม่จริง ในอีกหนึ่งร้อยปีให้หลังมีการทดลองเกี่ยวกับการรับรสของลิ้น แล้วพบว่าแผนที่รับรสไม่จริง การโต้แย้งเสนอว่า ทุกส่วนของลิ้นสามารถรับรสแต่ละรสได้ แต่ในแต่ละพื้นที่ของลิ้นมีจำนวนต่อมรับรสจำเพาะไม่เท่ากัน ความน่าประหลาดใจจากเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้ บอกกับเราว่าความรู้ที่ไม่ผ่านการตั้งข้อสงสัย ถูกเชื่อและส่งต่อกันมาหลายร้อยปี เกิดขึ้นได้อย่างไรในวงการวิทยาศาสตร์ สำหรับบริบทของประเทศไทย ความผิดพลาดของความรู้วิทยาศาสตร์ประการแรก คือ ในห้องเรียนมักสอนให้ทดลองน้อยมาก ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจ แต่เราสอนให้ท่องจำเยอะมาก การท่องจำมีจุดอ่อน คือ ความรู้ที่จำได้นั้นสามารถผิดได้หรือเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
สำหรับบริบทของประเทศไทย ความผิดพลาดของความรู้วิทยาศาสตร์ประการแรก คือ ในห้องเรียนมักสอนให้ทดลองน้อยมาก
นำชัย ชีววิวรรธน์
ซึ่งตรงนี้เป็นหัวใจ แต่เราสอนให้ท่องจำเยอะมาก การท่องจำมีจุดอ่อน คือ ความรู้ที่จำได้นั้นสามารถผิดได้หรือเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา
จิดาภา คุ้มกลาง:สำหรับนักสิ่งแวดล้อมจะเน้นไปที่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตามที่อาจารย์นำชัยพูดใจความสำคัญคือสิ่งที่เรียกว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากนักสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีความรู้ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และความสำคัญของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นขั้นเป็นตอน เช่น เรื่องน้ำเสียในทะเล สมมติว่าเราจะดูว่าสารอาหาร วัฏจักรสารอาหารในทะเลเป็นอย่างไร น้ำเสียปนเปื้อนมากน้อยเท่าใด นักสิ่งแวดล้อมต้องใช้ความรู้ทางฟิสิกส์มาศึกษาวัฏจักร ศึกษาการแพร่กระจายของสาร ใช้ความรู้ทางชีววิทยามาศึกษาว่าพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตที่อยู่หน้าดินเป็นอย่างไร ใช้ความรู้ทางเคมีมาตรวจสอบความเข้มข้นของสาร เป็นต้น
นักสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีความรู้ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
จิดาภา คุ้มกลาง
และความสำคัญของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
ช่วยให้เราแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นขั้นเป็นตอน
ภาคิน นิมมานนรวงศ์:อาจารย์นำชัยได้อธิบายไปทั้งหมดแล้ว ผมจะไม่อธิบายซ้ำอีกในเรื่องของระบบของการศึกษา ผมคิดว่าปัญหาของมันก็คือ กว่าเด็กจะเติบโตและเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ที่หมายถึงกระบวนการคิด ไม่ใช่เนื้อหา บางทีมันใช้เวลาทั้งชีวิตสำหรับบางคนซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ใช้เวลาไปทั้งชีวิตแล้วกว่าจะเข้าใจ บางคนคิดเองอาจจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่อยู่ใน Field ทำงานใน Field ที่เป็นวิทยาศาสตร์ กลับเข้าใจไปว่าตัวเองเป็นวิทยาศาสตร์ วิธีคิดนี้ผมก็คิดว่าก็ยังมีอยู่ให้เห็นเยอะแยะ
ผมไปเจอบทความชิ้นหนึ่งชื่อ What is Science ? เขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell: 1903 – 1950) ผมรู้สึกว่าอธิบายเรื่องนี้ได้ดี ออร์เวลล์กล่าวว่า วิทยาศาสตร์มีสองชั้น คือ ชั้นที่เป็นเนื้อหา ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ กับ ชั้นที่เป็นกระบวนการคิด และเขายังได้เขียนวิพากษ์ วิจารณ์ ความเชื่อของคนในสังคมยุโรปว่า ชาวยุโรปในสมัยนั้นมีคนกลุ่มที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือเนื้อหา เชื่อว่าการเรียนเนื้อหาวิทยาศาสตร์จะทำให้คนเรียนเข้าใกล้ความจริงของธรรมชาติและเข้าใจโลกตามความเป็นจริง แต่ออร์เวลล์เสนอว่าวิทยาศาสตร์แท้จริงแล้วคือกระบวนการคิด การสงสัย การตั้งคำถาม การรู้สึกฉงนกับข้อเท็จจริงบางอย่าง ออร์เวลล์เห็นว่าการเข้าใจกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ส่งผลประโยชน์ต่อสังคมอย่างไรในบทความนี้ สิ่งที่ผมอยากจะเสนอ คือ การที่เราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์มันคือเนื้อหาและกระบวนการคิด จะเกิดคำถามตามที่อาจารย์ธีรพัฒน์ชวนเสวนา คำถามที่เกิดขึ้นคือ นักวิทยาศาสตร์คือใคร การที่เราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์เป็นได้ทั้งสองด้านดังกล่าวไป หากทุกคนคิดและศึกษาสิ่งที่ตนเองสนใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลและพยายามจะพิสูจน์บางอย่าง พยายามทดลอง และไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ได้แล้ว ใช่หรือไม่ ในแวดลงปนะวัติศาสตร์เองก็มีการถกเถียงกันว่า ตกลงแล้วกระบวนการทางประวัติศาสตร์กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างกันจริงหรือไม่ เพราะในขั้นตอนการคิดมีความคล้ายคลึงกันอยู่ ถ้าเช่นนั้นเราก็น่าจะเรียกนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้หรือเปล่า และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราไม่จำเป็นต้องยึดครองความเป็นวิทยาศาสตร์ให้กับคนที่เรียนเนื้อหาวิทยาศาสตร์เท่านั้น
ประเด็นหนึ่งที่อยากร่วมแลกเปลี่ยน คือ เรื่องโลกกลมและโลกแบน ความเชื่อเรื่องนี้ไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม บางทีคนเชื่อความรู้ชุดนี้ไม่ได้พิสูจน์จริง ๆ คำถามคือวิทยาศาสตร์ที่ไม่เคยสอนให้เราพิสูจน์เป็นวิทยาศาสตร์ที่ดีไหม เป็นวิทยาศาสตร์แบบไหน ประเด็นนี้ผมคิดว่าเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถใช้คำถามนี้กับความเชื่อพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างได้ซึ่งแน่นอนความเชื่อนั้นอาจจะถูก แต่การที่คุณไม่เคยพิสูจน์เลยว่ามันจริงหรือไม่ ตลอดชีวิตการเรียนวิทยาศาสตร์และเชื่อว่าตัวเราเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์ เราเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์ในความหมายใด ประเด็นต่อมา คือ การเมคผลแลป คือนี่เป็นเรื่องที่เปิดโลกผมที่สุด คือ ผมเข้าใจว่าการทดลองในห้องเรียน แลปมันต้องเขียนรายงานตามข้อเท็จจริง ผลการทดลองเป็นอย่างไรก็ต้องเขียนอย่างนั้น เราต้องซื่อสัตย์ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของความจริง มาใช้ชีวิตจริง ๆ แล้ว โลกของการทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก คุณค่า การเมคผลแลปทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า วิทยาศาสตร์ที่เราสอนอยู่คือวิทยาศาสตร์อะไร เราทิ้งอะไรไป เราให้คุณค่าอะไรจริง ๆ กันแน่ อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากแลกเปลี่ยนซึ่งผมคิดว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของคนในสายวิทยาศาสตร์ที่ผมเจอ ในทางปฏิบัติในการหาความร็ทางวิทยาศาสตร์ กระบวนการวิทยาศาสตร์มีบางอย่างแทรกมาระหว่างการทำการทดลองกับการสรุปผลการทดลอง มักจะมีการภาวนาให้ผลการทดลองเป็นอย่างที่เราหวังว่าจะเป็นหรือมีกระบวนการพิเศษบางอย่างที่ราวกับว่าผลการทดลองของเรา มันไม่ใช่แค่เรากับสิ่งที่อยู่ในห้องทดลอง และธรรมชาติในห้องทดลอง แต่มันมีพลังเหนือธรรมชาติ (Supernatural Power) บางอย่าง ที่ถ้าเราอ้อนวอนขอ พลังเหนือธรรมชาติที่ว่านี้ดี ๆ แล้วก็ยอมแลกเปลี่ยนอะไรสักหน่อยให้พลังเหนือธรรมชาติ พลังเหนือธรรมชาติก็จะทำให้ผลแลปเราออกมาอย่างถูกต้อง (ตามที่เราต้องการ) และมีสถาบันทางวิทยาศาสตร์บางแห่งที่จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเอาไปทุ่มให้กับพิธีกรรมในทำนองนี้ เช่น เปิดตัวด้วยการอัญเชิญเทพบางอย่างมา หรือว่าตั้งศาลพระภูมิที่ใหญ่กว่า เป็นต้น กระบวนการทั้งหมดนี้ในแง่หนึ่งมันสะท้อนว่าเด็กกำลังเรียนวิทยาศาสตร์ในความหมายอย่างที่เราเชื่อหรือไม่
นำชัย ชีววิวรรธน์:อาจารย์ภาคินโยนประเด็นเข้ามาเยอะมาก อาจารย์พูดถึงการพิสูจน์ว่าโลกกลม-ไม่กลม ทำไมไม่มีใครพิสูจน์ ผมว่าประเด็นตรงนี้น่าสนใจในแง่มุมที่ว่า บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ คือไม่ใช่เชื่อแบบงมงาย แต่หมายความว่า บางอย่างมันมีคนพิสูจน์แล้วและเราไม่ต้องเสียเวลาเพื่อตอบคำถามทุกคำถามในชีวิต คำถามอาจารย์ว่าเคยพิสูจน์ว่าโลกกลมไหม อาจารย์คงเคยได้ยินเรื่องมีดโกนของอ็อกคัม (Ockham’s Razor) ในความเป็นไปได้ทั้งหมด อาจารย์จะตั้งสมมติฐานอะไรก็ได้ แต่สมมติฐานซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด คือสมมติฐานซึ่งมันง่ายและสมเหตุสมผลที่สุด ฉะนั้น ในกรณีของโลกกลม ผมเอาแค่รูปถ่ายโลกกลมแค่รูปเดียว ผมตอบได้แล้วว่าโลกมันกลม
ภาคิน นิมมานนรวงศ์:ผมขออนุญาตเสริมอาจารย์นำชัยนิดหนึ่ง ซึ่งประเด็นคือเรื่องนี้ ประเด็นคือไม่ใช่เราต้องพิสูจน์ทุกอย่างในชีวิตเรา ประเด็นคือนักเรียนไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่เคยพิสูจน์ ถ้านักเรียนมาถึงจุดที่อาจารย์ตอบได้ ผมปรบมือให้เลย เพราะถูกต้อง ผมเห็นด้วยทุกอย่าง ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องพิสูจน์ทุกอย่างในชีวิตเรา ทำไมล่ะ เพราะบางอย่างมันมีคนพิสูจน์ให้แล้ว แล้วบางอย่างมันต้องใช้คำอธิบายมากเลยกว่าจะหักล้างสิ่งนั้น เรานึกถึงอ็อกคัม (William of Ockham: 1287 – 1347) อย่างที่อาจารย์บอก ปัญหาคือว่าในกรณีโรงเรียนไทย นักเรียนตอบแบบนี้ไม่ได้ ถ้านักเรียนตอบแบบนี้ได้ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้คือเป้าหมายของวิทยาศาสตร์ ประเด็นคือพอเราไม่เคยถามคำถามนี้เลย ไม่เคยถามว่าทำไมคุณไม่พิสูจน์ว่าโลกกลม สิ่งที่เราได้ก็คือนักเรียนที่ไม่ตั้งคำถามถึงที่มาของความรู้
นำชัย ชีววิวรรธน์: ประเด็นที่สองที่อาจารย์ภาคินพูดถึงเรื่องนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ก่อนที่จะตอบคำถาม ผมต้องเล่าให้ฟังว่า ในทางวิทยาศาสตร์มีคำว่า Hard Science กับ คำว่า Soft Science คำว่า Hard Science ใช้เรียกพวกฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และอีกหลายสาขาซึ่งมันหนักแน่นมาก พวก Soft Science อย่างเช่น เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยาตามแนวของฟรอยด์ (Freud’s psychoanalytic theories) สายนี้ก็มีการใช้การวิเคราะห์กันอยู่ คนที่วิเคราะห์ก็มีทั้งนักวิทยาศาสตร์ มีทั้งนักปรัชญา ในความสังเกตของผมเอง Hard Science มันเป็น Hard Science เพราะว่า มันมีกฎ มันเอาคณิตศาสตร์เข้าไปจับได้แล้วตัวจริง ๆ ที่อาจารย์ชอบบอกว่าวิทยาศาสตร์เหนือกว่าอันอื่น ในความรู้สึกผม วิทยาศาสตร์ไม่ได้ยกตัวเองเหนืออย่างนั้นเลย แต่ตัวที่จะยกจริง ๆ คือ คณิตศาสตร์ คนที่เขาเรียนทางด้านคณิตศาสตร์ มักบอกว่าเป็นคนที่รู้ครบจบจักรวาล ประเด็น Hard Science กับ Soft Science เป็นจริงในแง่ที่ว่า ในจิตวิทยามีอะไรบางอย่างซึ่งมีความไม่แน่นอนบางอย่างและอยู่ระหว่างการพัฒนา เศรษฐศาสตร์เองก็เพิ่งจะมีการนำเอาคณิตศาสตร์เข้าไปใช้ และคนที่เอาคณิตศาสตร์เข้าไปใช้ในทางเศรษฐศาสตร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) กันเป็นทิวแถว มันยิ่งทำให้เศรษฐศาสตร์กลายเป็นวิชาที่ Hard Science ขึ้น ฉะนั้น ถามว่าวิทยาศาสตร์ต่างจากคนอื่นตรงไหนหรือที่ว่าประวัติศาสตร์ต่างจากวิทยาศาสตร์อย่างไร มันจะต่างจากวิทยาศาสตร์ตรงที่คุณไม่ยอมรับนับถือในกระบวนการและไม่ใช้ในการทดสอบ ถ้าคุณใช้ประวัติศาสตร์ ก็จะเป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งได้ ในทางวิทยาศาสตร์เองเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ในฟากตะวันตก เขาเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ไปต่อท้ายแทบจะทุกวิชา Political Science การเมืองกลายมาเป็นรัฐศาสตร์ เพราะมันมีอะไรซึ่งอยู่ในนั้น ซึ่งอธิบายได้อยู่ โดยหลักการ โดยการพิสูจน์ ขนาดการเมืองยังอธิบายได้ ที่เหลือผมว่ามันมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าอยู่แล้วเรื่องต่อไปอาจารย์พูดถึงเรื่องเมคข้อมูล เรื่องปกติมาก ยิ่งฉลาดยิ่งเมค ผมมีเพื่อนยังไม่ได้เข้าห้องแลปเคมี เขารู้แล้วว่าผลจะเป็นอย่างไร อ่านมาเรียบร้อย ประเมินผลได้แล้ว ฉะนั้น ทดลอง เพื่อให้มันจบกระบวนการแค่นั้น ส่วนตรงที่อาจารย์แทรกมาว่าผลกับวิเคราะห์ มันมีอะไรแทรกอยู่ ตรงนั้นเป็นกระบวนการซึ่งนักปรัชญากับนักวิทยาศาสตร์ถกกันสนุกมาก ตัวกระบวนการที่เป็นนิรนัย (Deduction) และเป็นอุปนัย (Induction) แล้วส่วนที่แตกต่างที่ทำให้นักเรียนไทย หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ไทย หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกต่างกันก็คือ การที่คุณตั้งสมมติฐานได้ แต่คุณต้องไม่ยึดในสมมติฐานคุณแน่นจนเกินไป เรื่องความตั้งสมมติฐานผิด ถือเป็นเรื่องธรรมดา และถ้าตั้งสมมติฐานผิด แล้วพิสูนจ์ได้ว่าผิด และพิสูจน์ต่อไปให้ลึกซึ้ง การพิสูจน์ลักษณะเช่นนี้มีคนทำแบบนี้และได้รับรางวัลโนเบลมามากมาย

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล: สิ่งที่อยากจะชวนคุยอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง Bias กับ Manipulation ในกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพราะว่าสิ่งที่อาจารย์ภาคิน อาจารย์จิดาภา และอาจารย์นำชัยพูด มีจุดหนึ่งที่ผมนึกถึงในวงการสังคมศาสตร์เองด้วย หลายครั้งนักมนุษยศาสตร์และนักสังคมศาสตร์จะถูกโจมตีหรือวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่งเทียนเขียน เพราะไม่ได้มีห้องแลป เราไม่ได้ลงไปวัดผล มีเครื่องมืออะไรชัดเจน ความเป็น Hard Science ของสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีน้อยมาก ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีกระบวนการในการศึกษาที่มีมาตรฐานแบบนั้นหรือเปล่า ทำให้เราเรียกตัวเองเป็นศาสตร์ได้ไหม แต่พอฟังแบบนี้หมายความว่า จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เรียกว่า การ Manipulation ข้อมูล หรือว่า Bias ในข้อมูล จริง ๆ มันก็มีอยู่ในทุกวงการ แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์เองก็ตาม ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้อยากชวนคุยต่อมากเลยว่า เอาเข้าจริง ๆ แล้ว วิทยาศาสตร์มี Bias ได้ไหม คือ มันมี Manipulation ในวิทยาศาสตร์ได้หรือเปล่า แล้วมันยังเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ไหม หรือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่มันมีประโยชน์ มันก็เลยยังได้อยู่แบบนี้ คือตรงไหนที่เป็นจุด Pain Point หรือเป็นจุดที่เราควรจะใส่ใจคิดถึงเรื่องนี้ครับ
นำชัย ชีววิวรรธน์:หากถามว่าวิทยาศาสตร์มีหลายแบบหรือเปล่า ผมค่อนข้างเชื่อว่ามีแบบเดียว แต่การแบ่งของอาจารย์เนี่ย ผมยังฟังและตามไม่ค่อยทันอยู่ ว่าจริง ๆ แล้ว ที่เห็นต่าง ต่างเพราะอะไรกันแน่ แต่ประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยนเป็นประเด็นที่ว่า สิ่งใดจะเข้าข่ายวิทยาศาสตร์ได้บ้าง ในทางวิทยาศาสตร์จะมีวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ กำเนิดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตอนกำเนิดใหม่ ๆ คนก็จะไม่ค่อยเชื่อ เพราะมันแปลก มันประหลาดมาก ผมยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง คือ นักพันธุศาสตร์หญิงชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ชื่อ บาร์บารา แมคคลินต็อก (Barbara McClintock: 1902 – 1992) เธอได้รับรางวัลโนเบลตอนอายุ 80 กว่า ๆ การค้นพบของเธอเมื่อ 40 – 50 ปีก่อน ไม่มีใครเชื่อว่าการค้นพบของเธอเป็นจริง ฉะนั้น การค้นพบของเธอรอการพิสูจน์อยู่นานมาก ในการค้นพบของเธอ เธอพิสูจน์ได้ว่า ในสาย DNA มันจะมี DNA ที่มีลำดับจำเพาะบางอย่าง บางท่อน ที่สามารถกระโดดไปมาหรือไปแทรกตัวอยู่ใน DNA ส่วนอื่น ๆ ได้ด้วย เรียกกระบวนการของ DNA นี้ว่า Jumping Gene หรือว่าชื่อเทคนิคคือ Transposons สิ่งที่ผมจะบอกอาจารย์ก็คือ วิทยาศาสตร์บางอย่างมันก้าวไปไกลมากจนไปอยู่สุดขอบความรู้ที่มีมาในอดีตจนตัวคนที่อยู่ในกระจุกตรงกลางของความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลัก ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้หรือความเป็นเป็นได้ในการวิธีการพิสูจน์ ตลอดจนกระบวนการแปลผล และเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ไม่เกิด เกิดขึ้นตลอดเวลา
มีวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งชื่อ Fringe Science คือ ความรู้วิทยาศาสตร์ชายขอบ ลักษณะของตัวความรู้เป็นความรู้ที่มีความเป็นไปได้ต่ำหรือเกือบจะเป็นเรื่องเหลวไหล ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้บอกอาจารย์ว่าสามารถเอาสมองคนที่เพิ่งตายไปใหม่ ๆ ออกมา แล้วใช้เครื่องมือบางอย่างกระตุ้น แล้วฉายออกมาเป็นภาพว่าเขามีความทรงจำสุดท้ายในชีวิต เพื่อดูว่าเขาเห็นอะไร อยู่อย่างไร คนส่วนใหญ่คงไม่เชื่อและคงคิดว่าเทคโนโลยีแบบนี้ยังไกลเกินกว่าจะทำได้ แต่ว่าเอาเข้าจริง ๆ ในเชิงเทคนิค เราใกล้เข้าไปทุกวัน ๆ หรืออย่างเช่น พอพูดถึงวิญญาณ
มันท้าทายการทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายข้อ คือ ไม่สามารถทดลองซ้ำ ๆ ได้ หรือทำการทดลองอย่างอิสระ โดยกลุ่มที่ต่างกันจากคนละที่ก็ไม่ได้ รวมถึงทำการทดลองอีกหลาย ๆ รูปแบบตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ดีไม่ได้ ดังนั้น วิทยาศาสตร์ยังคงเป็นเรื่องของกายภาพ ในเรื่องสภาพความรู้สึกนึกคิดหรือจิต (Mind) ของคน จิตใจของคน วิทยาศาสตร์มองว่าเป็นการประชุมพร้อมของสมองและเซลล์ประสาท ทำให้เกิดจิตขึ้นมา ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เป็นต้น
ผมมีอีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่าเป็นตัวอย่างดีมาก ตัวอย่างนี้อยู่ในหนังสือ The Meaning of Science: An Introduction to the Philosophy of Science พูดถึงห้องทดลองเซิร์น (CERN) ขององค์การยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ (European Organization for Nuclear Research) ที่ทำท่าจะประกาศการค้นพบว่า ค้นพบอนุภาคที่เคลื่อนที่เร็วกว่าแสง เรื่องนี้มีความสำคัญมากในมุมของนักวิทยาศาสตร์คือ ตอนนี้โลกฟิสิกส์โดนอิทธิพลความคิดตามแนวของไอสไตน์ (Albert Einstein: 1879 –1955) เรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพคลุมอยู่ในระดับหนึ่ง ก็คือ ข้อสรุปมันยังเป็นจริงอยู่ถึงปัจจุบัน ผ่านมาหลายสิบปี ก็คือสิ่งที่เร็วที่สุดที่เป็นไปได้ตามทฤษฎี คือ แสง ฉะนั้น ไม่มีอะไรเร็วกว่าแสง ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครพิสูจน์ได้ว่าเจออนุภาคที่มันเร็วกว่าแสงก็จะเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ เพราะว่า หาจุดอ่อน หารูรั่วของทฤษฎีของไอสไตน์ได้ ซึ่งทุกคนพยายามมาก ประเด็นคืออย่างนี้ การทดลองเบื้องต้นมันแสดงว่าเขาตรวจจับ (Detect) อนุภาคที่ว่าได้เรียกว่า แทคีออน (Tachyon) แต่เขายังไม่ประกาศผลในทันที เขาก็ Recheck เนื่องจากมันเป็นอนุภาคซึ่งจับยากมาก แล้วใช้อุปกรณ์ที่สลับซับซ้อนมาก มัน Recheck กันเป็นเดือน ถึงตอนประกาศก็ยังมีคนไม่เชื่อ คำถามที่เกิดขึ้น คือ หลักฐานก็ชัดเจน ตรวจสอบได้ ใช้คนจำนวนมากทดสอบซ้ำ ๆ ทำไมยังไม่เชื่อกันอีก มันมีอะไรทำให้ต้องเชื่อไอสไตน์ที่ตายไปนานแล้วมากกว่าผลการทดลองล่าสุดที่ใช้อุปกรณ์ล่าสุดและดีที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในมุมของนักปรัชญา ถามว่านักวิทยาศาสตร์ มี Bias หรือเปล่า ทำไมเชื่อไอสไตน์มากกว่าเชื่อผลการทดลอง แต่สุดท้ายเรื่องเป็นจริงอย่างถูกต้อง ก็คือถ้ายืนยันได้จริง ๆ มันก็คงเป็นกรณี ซึ่งเป็นการพิสูจน์ทางอ้อมว่านักวิทยาศาสตร์ก็มี Bias เพราะ ไอสไตน์ถูกมาเรื่อย ๆ ถูกแล้ว ถูกอีก ตลอดเวลา โอกาสจะผิดมันต่ำ แต่ว่าประเด็นก็คือ สุดท้ายเมื่อทดสอบซ้ำอีกครั้ง ปรากฏว่าคำนวณผิดไป มีจุดที่คำนวณผิดอยู่นิดหนึ่ง เลยกลายเป็นว่าก็ยังไม่มีใครเจอ Tachyon อยู่ดี ฉะนั้น คำถามว่าในวิทยาศาสตร์มี Bias หรือเปล่า ก็บอกว่า Bias อย่างนี้เรียกว่า Bias หรือเปล่าก็ไม่รู้ คือ ไอสไตน์ดังมาก ทฤษฎีของเขามีพลังมาก ทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางเรื่องอย่างเช่น คลื่นความโน้มถ่วง (Gravitational wave) ต้องใช้เครื่องมือ ต้องใช้วิธีการสลับซับซ้อนมาก เพิ่งพิสูจน์ได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากไอสไตน์ตายไปครึ่งค่อนศตวรรษ ถามว่าที่ผมเล่าอยู่ เรียกว่า Bias ได้หรือไม่
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:จริง ๆ คำว่า Bias ก็น่าสนใจในตัวเอง เพราะว่าในแต่ละศาสตร์เอง ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา ปรัชญาเอง Bias ก็รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ทำงานไม่เหมือนกันด้วย แล้วก็ผมคิดว่าตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะเห็นได้ชัด ซึ่งบางทีมันอาจอยู่ในเรื่องราวของอาจารย์จิดาภา เพราะว่าเป็นศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ปนอยู่ข้างใน เจอผู้คน มีการสื่อสาร เรื่องการมีส่วนร่วม Bias รูปร่างหน้าตา ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง อาจารย์จิดาภามีตัวอย่างเพิ่มเติมไหมครับ
จิดาภา คุ้มกลาง:จริง ๆ เพิ่งจะค้นพบ และอยากจะยกตัวอย่างการ Manipulate ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลย อย่างช่วงนี้ทางภาคเหนือจะมีค่าฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างสูง เราจะใช้แอปพลิเคชั่นหลัก ๆ ที่ใช้ในการดูค่าดัชนีคุณภาพอากาศในประเทศไทย คือ แอปพลิเคชัน Air4Thai และแอปพลิเคชัน AirVisual สิ่งที่ค้นพบคือค่าดัชนีคุณภาพอากาศจากทั้งสองแอปพลิเคชันจะไม่เท่ากัน เนื่องมาจากการที่ทั้งสองแอปพลิเคชันใช้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกันรวมถึงวิธีคิดที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างการ Manipulate ข้อมูลหรือเปล่าก็เพิ่งค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่ได้ไปศึกษาเพิ่มว่าเขาคำนวณแตกต่างกันอย่างไร หรือว่าเอาเกณฑ์ไหนออก เอาเกณฑ์ไหนเข้าทางสิ่งแวดล้อม เราก็จะเห็นเรื่องแบบนี้ค่อนข้างเยอะ แต่ก็อาจจะยังเล่าไม่ได้เท่าไหร่

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:ผมอยากจะชวนคุยต่อก็คือ การใช้ข้อมูล การใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาในวงการอื่น ๆ บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ควรจะต้องขยับขยายไปทำงานในพื้นที่สาธารณะแบบไหน อย่างไร จากมุมมองของทั้งสามท่าน
นำชัย ชีววิวรรธน์:ปัญหาที่อาจารย์พูดถึงคือการทำงานแบบผิดพลาดซ้ำซาก ยกตัวอย่างเช่น การฉีดน้ำขึ้นไปบนฟ้าปริมาณมาก ทั้ง ๆ ที่เราขาดแคลนน้ำและกำลังเข้าหน้าแล้ง เพราะหวังว่ามันจะไปทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลง ตัวอย่างนี้เป็นการทำโดยไม่อาศัยข้อมูล ไม่มีความรู้ คือมันช่วยน้อยมาก แทบไม่ช่วยเลย มันไม่มีความคุ้มค่าใด ๆ ทั้งสิ้น หรือการฉีดพื้นกลางแจ้งเพื่อทำความสะอาด ใส่ชุดเต็มยศแล้วฉีด เอาน้ำยาฆ่าเชื้อไปฉีด เป็นอะไรที่ Non Sense มาก ผมแนะนำว่าเลิกทำ ทั้งเปลือง ทั้งไร้สาระว่า มันอาจได้ภาพว่าลงแรงแข็งขัน แต่เชื้อไวรัส COVID-19 เจออากาศร้อนแบบเมืองไทย เจอแดดเต็ม ๆ ไม่ถึงสามสิบนาทีก็ตายหมดแล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ เลย ที่ต้องไปใส่ชุดอย่างนั้น แล้วไปเดินฉีด เปลืองทั้งเงิน เปลืองทั้งสารเคมี แล้วซวยกว่านั้นอีกคือฉีดไป ไวรัสมันอยู่ที่พื้น พอฉีดมันฟุ้งขึ้นมา จากที่ไม่ค่อยเป็นปัญหาอะไร เดี๋ยวก็ตาย กลายเป็นใครอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น มีโอกาสจะได้รับเชื้อ อันนี้ก็ผิด ควรจะเลิก เลิกแบบเด็ดขาด รัฐบาลควรจะเป็นคนบอกให้เลิกทำแล้วรัฐเองก็ไม่ทำด้วย อีกอย่างที่ควรจะเลิกทำอย่างเร็วที่สุด อันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเอกชน ตัวอุโมงค์ฆ่าเชื้อ อุโมงค์ฆ่าเชื้อนี้ก็ไร้สาระมาก คือ ถ้ามีพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากพอ เราจะรู้เลยว่าอุโมงค์แบบนี้ใช้การไม่ได้เด็ดขาด ถามว่าทำไม เวลาเราจะฆ่าเชื้ออะไรสักอย่าง เชื้อมันอยู่ดี ๆ มันไม่ตายง่าย ๆ ขนาดนั้น อย่างที่ผมบอกว่าการโดนแดดสามสิบนาทีมันตาย แต่ไม่ใช่ว่าเอาไฟฉายส่อง เอาแดดส่องแล้วตายมัน ไม่ตายง่ายขนาดนั้นเหมือนกัน ฉะนั้น เราเดินผ่านช่วงที่ฉีดลงมา มันโดนนิดเดียวไม่กี่วินาที มันไม่ฆ่าเชื้อ เปลืองทั้งสารเคมี แล้วเพิ่มอันตรายด้วย เพราะ ไม่ว่าจะฉีดแอลกอฮอล์หรือฉีดสารอื่น มันทำให้สายตาระคายเคืองได้ ทำให้ผิวแพ้ได้ มีแต่ความล้มเหลวทั้งนั้น ไม่รู้ทำทำไม เปลืองทั้งเงิน และไม่มีประโยชน์อะไรเลย กรณีพวกนี้ควรจะเลิกได้แล้ว หรือแม้แต่ตอนนี้เกิดกระแสกลัวการฉีดวัคซีน ผมต้องเล่าให้ฟังว่า พื้นฐานทางระบาดวิทยา ไม่มีวัคซีนที่ปลอดภัย 100 % นั่นคือสาเหตุที่เมื่อฉีดแล้วต้องนั่งรอดูผล 30 นาทีเป็นอย่างน้อย อีกทั้งมีข้อห้าม คนที่เคยแพ้การฉีดวัคซีน ที่ผลิตด้วยวิธีการคล้าย ๆ กัน ห้ามฉีด คนที่อ่อนไหวต่อการภูมิแพ้ (Sensitive Allergy) ห้ามฉีด เพราะพวกนี้เขารู้อยู่แล้วว่าไวและมีความเสี่ยง จะเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ มันเชื่อมกับชีวิตเรา แล้วมันมีประโยชน์ที่สุดก็ตอนที่มันเชื่อมกับชีวิตเรา
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:สิ่งที่อาจารย์นำชัยพูด อาจารย์กำลังหมายความว่า การสื่อสารวิทยาศาสตร์และการใช้ข้อมูล จริง ๆ มันควรจะอยู่ในทุกวงการ สื่อสารมวลชน การเมือง การวางแผนนโยบาย เห็นภาพ เห็นความสำคัญชัดเจนมากว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของชีวิตคน อาจารย์ภาคินมีมุมอย่างไรบ้างกับเรื่องนี้
ภาคิน นิมมานนรวงศ์:ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นำชัยทุกอย่าง ผมเห็นด้วยมาก ว่าจริง ๆ แล้ว การทำนโยบายสาธารณะ ถ้าพูดถึงระดับการเมือง โดยอิงอยู่กับข้อมูล หลักฐาน เป็นหัวใจสำคัญของการเมืองที่ดี และสังคมที่ดี อันนี้แน่นอน แต่ว่าคนที่จะทำสิ่งนั้นได้ไม่จำเป็นด้วยซ้ำที่จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในความหมายว่าเรียนวิทยาศาสตร์มา แต่ว่ามันคือหน้าที่ของผู้ที่ทำงานในด้านนโยบาย หรือด้านคนที่ทำงานในกลุ่มที่มีอำนาจ ที่จะใช้วิธีคิดอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาเชิงสังคม คำถามคือทำไมสังคมเราไม่ทำ ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ มันก็จะกลับไปเรื่องเดิมที่เราพูดกันมาตอนต้นว่า มันมีอะไรบางอย่างของความเป็นวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันไม่ลงรอยกับรากฐานวิธีคิดของสังคมไทยในแบบที่มันฟังก์ชัน คือที่อาจารย์นำชัยยกตัวอย่างมา คำถามก็คือ ทำไมสังคมเราจึงเป็นอย่างนั้น ทำไมมันถึงเกิดกระบวนการนี้ เป็นเพราะเราเป็นคนที่ไม่มีศีลธรรม หรือจริง ๆ แล้ว เป็นเพราะคนในสังคมไทยเห็นแก่ตัว หรือเพราะเป็นสิ่งที่มากกว่านั้น ที่มันใหญ่กว่านั้น ซึ่งแน่นอนถ้าเราตั้งคำถามต่อไป ทำไมมันไม่มีระบบการคานอำนาจที่ดีพอ มันขาดอะไรไป ผมคิดว่าถึงที่สุด วิทยาศาสตร์โดยตัวมันเองอย่างที่อาจารย์บอก มันไม่อยู่ลอย ๆ ในสังคม กระทั่งกระบวนการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้อยู่ลอย ๆ ในสังคม มันมีความหมายก็ต่อเมื่อเรานำไปใช้ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นที่อาจารย์ธีรพัฒน์ยกมาน่าสนใจ เพราะว่าถ้าเราตั้งคำถามเข้าไปเรื่อย ๆ คือ เราไม่จบแค่ว่าแล้วสังคมไทยมันล้มเหลว แต่เราตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น อะไรทำให้มันไม่สามารถมีวิธีการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการกำหนดนโยบายได้ สุดท้ายเราจะไปเจอคำตอบบางอย่าง คือ คำอธิบายว่าทำไมวิธีการเรียน-การสอนวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย มันจึงเน้นที่เนื้อหา ไม่ใช่กระบวนการ เพราะมันจำเป็นต้องเป็นแบบนั้นหรือเปล่า
การทำนโยบายสาธารณะ ถ้าพูดถึงระดับการเมือง โดยอิงอยู่กับข้อมูล หลักฐาน
ภาคิน นิมมานนรวงศ์
เป็นหัวใจสำคัญของการเมืองที่ดี และสังคมที่ดี อันนี้แน่นอน
แต่ว่าคนที่จะทำสิ่งนั้นได้ ไม่จำเป็นด้วยซ้ำที่จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์
ในความหมายว่าเรียนวิทยาศาสตร์มา แต่ว่ามันคือหน้าที่ของผู้ที่ทำงานในด้านนโยบาย
หรือด้านคนที่ทำงานในกลุ่มที่มีอำนาจ ที่จะใช้วิธีคิดอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาเชิงสังคม
ทีนี้ผมมองกลับกัน ชวนคิดแล้วกัน เพราะว่าที่อาจารย์นำชัยพูดมาผมเห็นด้วย ไม่มีอะไรจะแย้ง แต่ผมคิดว่ามันมองกลับกัน มันมีความจำเป็นเหมือนกันที่คนสายพวกผมจะต้องศึกษาวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น คือเรามักจะทำราวกับว่า ไปเอานักวิทยาศาสตร์มาสิ เราเป็นนักรัฐศาสตร์ เราจะศึกษามนุษย์ เราจะตีความ แล้วก็ไม่ต้องสนใจข้อเท็จจริงอะไร แต่ว่าโลก ณ ปัจจุบัน ผมก็คิดว่าจุดเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดก็คือ ความเป็นวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี แทบจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตเราแทบทุกคน มันไม่ใช่โลกเมื่อ 30 ปีก่อนซึ่งเวลาเราพูดคำว่าเทคโนโลยี มันอาจจะจำกัดแค่ทีวี หรือพูดคำว่าโครงสร้างพื้นฐาน เรานึกถึงแค่ถนน รถ น้ำ หรือไฟ แต่ทุกวันนี้ ตัวอย่างที่ง่าย ๆ ก็คือคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย อะไรพวกนี้ สิ่งเหล่านี้แทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน จนแทบจะแยกมันไม่ได้ ขาดไปก็เหมือนเราขาดอวัยวะบางอย่าง ผมเข้าใจภาระของนักวิทยาศาสตร์ ถ้าอยากจะสนใจสังคม ผมรู้สึกว่าในฐานะคนที่อยู่ในฝั่งสังคมศาสตร์ ผมรู้สึกว่าเราต้องเรียกร้องให้คนฝั่งสังคมฯ หันมามองความหมายของคำว่าสังคมฯ ให้กว้างกว่าแค่ว่าสังคมเท่ากับสังคมศาสตร์+มนุษยศาสตร์ ส่วนอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ให้คนอื่นเขาศึกษาไป เพราะถึงทุกวันนี้ มุมตรงไหนของชีวิตเราที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีบ้าง นี่ผมยังนึกไม่ค่อยออกเท่าไหร่ ที่สำคัญที่สุด คือ นโยบายสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ผมคิดว่าแทบทุกประเทศที่เราคิดว่าดี ก็พยักหน้ายอมรับตรงกันว่านโยบายเหล่านั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีที่ข้อมูลเปิด Open Data Transparency ที่เป็นหัวใจของนโยบายสาธารณะที่ดี ผมคิดว่าการเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์สนใจสังคมบ้างก็เป็นเรื่องที่ก็ทำได้ แต่ผมรู้สึกเองว่า เราต้องเน้นสาขาพวกเรา ให้หันมามองบ้าง อย่างเช่นประเด็นที่น่าสนใจมีเยอะมาก อย่างเช่น ความสนใจของผมอาจจะคล้าย ๆ อาจารย์ปิยณัฐ เรื่อง AI เรื่องจริยศาสตร์ (Ethics) อะไรดี-ไม่ดี ควรทำ-ไม่ควรทำ โลกอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นคำถามซึ่งมันอาจจะจำเป็นต้องใช้คนจากหลากหลายสาขามาช่วยกันคิด แล้วก็ต้องเห็นความสำคัญของมันให้มากขึ้น ผมคิดว่าสังคมไทยอาจจะไปถึงจุดนี้ช้าหน่อย เพราะว่า เราแต่ละคนก็เติบโตมาในโลกที่มันแบ่งเราออกจากกันเรียบร้อยแล้วว่า คนเรียนสายวิทย์ ก็อยู่วิทยาศาสตร์ไป คนเรียนสายศิลป์ ก็จะไม่มายุ่งกับสายวิทย์ แล้วถ้าเรามาเจอกัน เราก็จะเถียงกันบนฐานคิด ซึ่งอาจจะไม่ฟังกัน
ความสนใจของผมอาจจะคล้าย ๆ อาจารย์ปิยณัฐ เรื่อง AI เรื่องจริยศาสตร์ (Ethics)
ภาคิน นิมมานนรวงศ์
อะไรดี-ไม่ดี ควรทำ-ไม่ควรทำ โลกอนาคตจะเป็นอย่างไร
เป็นคำถามซึ่งมันอาจจะจำเป็นต้องใช้คนจากหลากหลายสาขามาช่วยกันคิด
แล้วก็ต้องเห็นความสำคัญของมันให้มากขึ้น ผมคิดว่าสังคมไทยอาจจะไปถึงจุดนี้ช้าหน่อย
เพราะว่า เราแต่ละคนก็เติบโตมาในโลกที่มันแบ่งเราออกจากกันเรียบร้อยแล้ว
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:ข้อคิดเห็นของอาจารย์ทั้งสอง ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่อาจารย์จิดาภากำลังสนใจก็คือ วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง เชิญอาจารย์
จิดาภาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยครับ
จิดาภา คุ้มกลาง:จริง ๆ ยังไม่ได้ลงมือที่จะไปทำวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองจริง ๆ จัง ๆ แต่ความสนใจเรื่องนี้มันเกิดขึ้นตอนที่งานชิ้นแรกที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่มีเครื่องมือที่จะต่อสู้กับผู้มีอำนาจต่าง ๆ ก็รวมทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ทั้งอุตสาหกรรม ทั้งทุกอย่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นซึ่งข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ถ้าหากเป็นบุคคลทั่วไปพยายามพิสูจน์ขึ้นมาด้วยตัวเอง คือ ชาวบ้านพยายามที่จะบอกว่าน้ำมันเสียเพราะต้นเหตุมาจากอะไร เหมือนสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไปจากที่ชาวบ้านสังเกต หลักฐานพวกนี้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในการโต้แย้งอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่สนใจขึ้นมาก็คือ เราจะต้องทำให้ชาวบ้านเข้าใจและคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ อย่างงานวิจัยไทบ้าน มีการพิสูจน์วิทยาศาสตร์ได้ด้วยชาวบ้านเอง แต่ว่าอย่างในบางพื้นที่ เราก็ต้องลงไปช่วยให้กระบวนการวิทยาศาสตร์มันเกิดขึ้นกับประชาชนขึ้นมา หากทำได้ก็นำไปสู่การเกิดวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คือ ความสามารถใช้เครื่องมือถูกต้อง วิธีการถูกต้อง ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เซตที่มันถูกต้องและเป็นที่ยอมรับได้ สามารถเอามาโต้แย้ง หรือเอามาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นกับชาวบ้านในอนาคตได้ ซึ่งตรงนี้ก็เลยมองว่าวิทยาศาสตร์จริง ๆ ถ้าไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ก็สามารถที่จะทำข้อมูลหรือนำมาเป็นเครื่องมือ ในการต่อรองอะไรบางอย่าง ในการป้องกันที่จะไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต หรือว่าสามารถค้นพบความรู้ใหม่ ๆ หรือว่าข้อมูลในชุมชนของตัวเองได้
วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง คือ ความสามารถใช้เครื่องมือถูกต้อง วิธีการถูกต้อง ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
จิดาภา คุ้มกลาง
เซตที่มันถูกต้องและเป็นที่ยอมรับได้ สามารถเอามาโต้แย้ง
หรือเอามาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นกับชาวบ้านในอนาคตได้
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล:ค่ำคืนวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ เวลาพูดคุยกันเรื่องวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่แค่เนื้อหาในวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นเหมือนเงื่อนไข บริบท คน ระบบ ที่ก่อกำเนิดวิทยาศาสตร์ และเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้อีกทีหนึ่ง เราพูดคุยกันเรื่องสังคม เรื่องระบบ เรื่องการสร้างคน เรื่องการศึกษา และทำให้ตอกย้ำฐานคิดของ STS Cluster Thailand ว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม ไม่ได้แยกขาดจากกันเลย มันแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันด้วยซ้ำ เพียงแค่ว่าบางทีเราให้ความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษหรือเปล่า แต่วิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของมัน รูปร่าง ปัญหา การแก้ไข ทุกอย่างมันจะอยู่ด้วยกันหมด.
เวลาคุยกันเรื่องวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่แค่เนื้อหาในวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นเหมือนเงื่อนไข
ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
บริบท คน ระบบ ที่ก่อกำเนิดวิทยาศาสตร์ และเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้อีกทีหนึ่ง
เราคุยกันเรื่องสังคม เรื่องระบบ เรื่องการสร้างคน เรื่องการศึกษา
และทำให้ตอกย้ำฐานคิดของ STS Cluster Thailand ว่าจริง ๆ แล้ว
สิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม ไม่ได้แยกขาดจากกันเลย
