นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการปกครอง/การจัดการภาครัฐสมัยใหม่

ประเด็นของการเสวนาเกี่ยวกับมิติของการเมืองและสังคมดำเนินต่อเนื่องจากงานเสวนาครั้งที่แล้วคือเรื่อง “เทคโนเครซี่กับการกำหนดนโยบายสาธารณะ: สภาพการณ์และการก้าวพ้น” สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้ STS Cluster Thailand และ เครือข่ายนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ จัดขึ้นเพื่อเป็นการมอบของขวัญทางวิชาการส่งท้ายปีให้กับทุกคนท่าน การเสวนาครั้งนี้เป็นประเด็นต่อเนื่องที่จะพาทุกท่านมาพูดคุยถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและการปกครองของภาครัฐและพูดคุยถึงแนวทางในการส่งเสริมนวัตกรรมในการปกครองและการจัดการของภาครัฐ วงเสวนาของเราได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มารับหน้าที่ดำเนินรายการเหมือนดังเช่นงานเสวนาในครั้งก่อน สำหรับการเสวนาครั้งนี้ STS Cluster Thailand และ เครือข่ายนโยบายศึกษาเชิงวิพากษ์ ได้วิทยากรมากความสามารถอย่าง ดร.พบสุข ช่ำชอง จากสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.วศิน ปั้นทอง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมการเสวนาและพูดคุยกัน

เมื่อ “You are what you eat.” ถูกแทนที่ด้วย “You are what your data portray.”

ในค่ำคืนวันที่พุธ ที่ 23 ธันวาคม 2563 วงเสวนาถูกถ่ายทอดผ่านเฟซบุคไลฟ์ทางเพจ STS Cluster Thailand อาจารย์ธีรพัฒน์ไม่รอช้าเริ่มต้นนำการเสวนากับวิทยากรทั้ง 2 ท่าน อาจารย์ธีรพัฒน์เริ่มเปิดเวทีไปยังอาจารย์วศินเป็นลำดับแรก

“สิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี การปกครอง และการจัดการ 3 สิ่งนี้ ในมุมมองของอาจารย์วศินเห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร อาจารย์วศินมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร” อาจารย์ธีรพัฒน์เริ่ม

“You are what your data portray.”
๏

 วศิน ปั้นทอง 

อาจารย์วศินตอบ “มีประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจเป็นพิเศษ คือ โอกาสและความท้าทายในการอภิบาลเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Governance of Emerging Technologies) โดยผมจะขอกล่าวถึงบริบทของโลกปัจจุบันในมุมของการอนุวัติดิจิทัล (Digitalization) ว่าผมมองโลกปัจจุบันผ่านกรอบนี้อย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามันมีอยู่ 3 มิติ หลัก ๆ ที่อยากจะชี้ให้เห็น ผมขอเริ่มต้นที่ประโยคหนึ่งที่น่าจะรู้จักกันดี คือ “You are what you eat.” ความหมายก็ตรงตัว แต่ว่าปัจจุบันมันมีอีกประโยคหนึ่งที่สำคัญและมันสะท้อนชีวิตของพวกเราในยุคที่มีการอนุวัติดิจิทัลมาก ๆ ก็คือ “You are what your data portray.” ความหมายของมันคือ เราเป็นอย่างไร เขาก็ดูจากข้อมูลของเรา ข้อมูลของเราที่ว่านี้หมายความว่า ข้อมูลที่เราใช้ในพื้นที่ออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้ Facebook Twitter ของเรา เรามี Digital Footprint กับอะไรบ้าง Application ที่เราดาวน์โหลดมาใช้ พฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ของเรา พฤติกรรมออนไลน์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “You are what your data portray.” ในโลกที่ข้อมูลมันมีความสำคัญขนาดนี้ ผมก็เลยมองว่าข้อมูลมันเป็นเหมือน Social Currency อย่างหนึ่งที่เป็นเหมือนสิ่งที่เป็นสกุลเงินอย่างหนึ่งของสังคมยุคดิจิทัล ที่ผมมองมันอย่างนี้ เพราะว่าข้อมูลมันมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ถูกเอาไปประมวลผล และข้อมูลที่ถูกใช้ในการวิเคราะห์ Pattern หรือแบบแผนการใช้ชีวิตของผู้คนซึ่งข้อมูลประเภทนี้มันถูกเอามา Commodify หรือทำให้เป็นสินค้าได้ มีมูลค่า นอกจากนี้มันยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลอื่น ๆ อีก เช่น ข้อมูลทางการค้า ข้อมูลที่อยู่บนเส้นบาง ๆ ระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลกับข้อมูลที่เผยแพร่ได้ และเราให้ข้อมูลกับภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ ตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศเล็ก ๆ ประเทศหนึ่ง ชื่อ ประเทศเอสโตเนีย (Estonia) เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการอนุวัติดิจิทัลในภาครัฐและในสังคมโดยรวมสูงมาก (Highly Digitalize) และถ้าเรามองภาพให้กว้างขึ้น เราจะเห็นการอนุวัติดิจิทัลผ่าน 3 คอนเซปตามยุคสมัยที่สำคัญ ตั้งแต่ช่วงต้น 90 จนมาถึงใกล้ 2020 ช่วงแรกคือ McDonaldisation (1993) ช่วงที่สองคือ Googlisation (2010) และช่วง Platformisation (2018)”

ตั้งแต่ 1990 เป็นต้นมา การอนุวัติดิจิทัลมันถูกขับเคลื่อนด้วยตรรกะ 3 ชุด ตรรกะแต่ละชุดก็มีคุณลักษณะทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรรม รวมไปถึงมี Implication ด้านสังคม ด้านการเมืองด้วย ซึ่งผมอยากจะพูดถึงพอสังเขป ดังนี้

  • McDonaldisation 1990s

ดิจิตัลช่วง McDonaldisation 1990sทำงานอยู่บนตรรกะของความมีเหตุมีผล มีวิธีการบรรลุเป้าหมายแบบ Means-Ends มีคุณลักษณะทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมชัดเจนในเรื่องของความมีประสิทธิภาพ เรื่องของการทำนาย การคำนวณได้ การควบคุมได้ และที่สำคัญคือเชื่อใน Non-human Technology ด้วย เพราะว่า Non-human Technology ได้ไปตอบโจทย์เรื่องการควบคุมได้ ตัวอย่างเช่น อาหารของ McDonald แฮมเบอร์เกอร์ของ McDonald ไม่ว่าที่ไหนก็รสชาติเหมือนกัน

  • Googlisation 2000s

ในช่วง 2000 มีคนเสนอแนวคิด Googlisation ซึ่งผมคิดว่ามันทำงานบนตรรกะของการแทรกซึมลงไปในระดับจุลภาคของสังคม หมายความว่า ทุก ๆ คน สามารถที่จะเข้าถึง Google ได้ตราบเท่าที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ เพียงแค่พิมพ์ Google เข้าไป เป็น Search Engine แล้วก็หาข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ เกิดการ Commercialize และCommodify  กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนตลาดข้อมูล แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลต่าง ๆ ที่เราใช้ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราทำบน Google มันก็ถูก Record และมันสามารถ Trace Back หรือว่าสืบย้อนไปได้ ในแง่หนึ่งมันก็เลยสะท้อนไอเดียเรื่อง Cryptopticon ซึ่งเขาเอาไอเดียมาจาก Panopticon ของ Foucault เหมือนเราถูกควบคุม ตรวจตา แล้วพฤติกรรมต่าง ๆ ของเราก็ถูกมองเห็นจากที่แห่งหนึ่ง แต่มันถูก Visible ขึ้นมา มันถูกมองเห็นขึ้นมา แล้วเราก็ต้องมี Discipline ตัวเอง นี่ก็เป็นตรรกะที่มันดำเนินไปควบคู่แทรกซึมไปใน Googlisation

  • Platformisation 2010s

มาถึงปัจจุบันเป็น Platformisation 2010s มีคำที่ฮิตมากที่สุดตอนนี้ ก็คือ Platform ทำทุกอย่างบน Platform Platform มันเกิดขึ้นแล้วก็ดำเนินไป ถูกขับเคลื่อนด้วยตรรกะ ซึ่งผมก็เรียกของผมเองว่า Granularity ก็คือมันเป็นตรรกะที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่มันเล็กกระจัดกระจายมาก ๆ แต่ว่าความกระจัดกระจายนั้น มันก็ถูกเชื่อมโยง แต่เชื่อมโดยไม่มีศูนย์กลางซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันสะท้อน Logic of Granularity ที่ผมเสนอไป คุณลักษณะทางเทคโนโลยีและสังคมของยุคนี้คือ Personalized Connectivity กล่าวคือ บน Platform เรา Personalized มันได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็ Connect หรือ เชื่อมโยงร้อยไปกับ Platform อื่น ๆ เวลาเราใช้เทคโนโลยีมันจะต้องสื่อสารกันได้เพื่อที่ให้การใช้มัน Seamless เพราะฉะนั้นมันก็นำมาสู่อีกคุณลักษณะหนึ่งก็คือ Convergence (IoTs) โปรแกรมต่าง ๆ คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ Device ต่าง ๆ จะต้องสื่อสารกันได้ แล้วมันก็เป็นฐานของ Digitalization เช่น ในประเทศเอสโตเนีย ประชาชนก็สามารถที่จะเข้าไปใช้บริการสาธารณะของภาครัฐได้ถึงร้อยละ 99 ผ่านช่องทางออนไลน์ มีแค่ไม่กี่อย่างที่ยังทำออนไลน์ไม่ได้ เช่น จดทะเบียนสมรส การหย่าร้าง และซื้ออสังหาริมทรัพย์ 3 อย่างนี้ยังต้องไปดำเนินการยังที่ทำการอยู่ แต่นอกจากนั้นทำออนไลน์ได้แทบทุกอย่างเลย ซึ่งการที่ประเทศเอสโตเนียทำแบบนี้ได้มีที่มาจากการมีฐานข้อมูลที่สื่อสารกันได้แบบ Convergence นั่นเอง และประชาชนแต่ละคนก็เข้าไปใช้บริการแบบ Personalized ได้ เพราะว่ามี Medical Record ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ ทะเบียนราษฎรของเขาก็อยู่ตรงนั้น ก็ใช้มันแบบ Personalized ได้เช่นเดียวกัน อันนี้ก็เป็นบริบทของโลกยุคปัจจุบันที่ผมมองเห็น ผ่านเรื่องของการอนุวัติดิจิทัล” อาจารย์วศินคุยอย่างออกรสออกชาติ

จุดร่วมของตรรกะทั้ง 3 ในพัฒนาการของการอนุวัติดิจิตัล

“ทั้ง McDonaldisation Googlisation หรือ Platformisationผมคิดว่าทั้ง 3 แนวคิดมีองค์ประกอบร่วมกันอยู่ 3 ประการ ประการแรกก็คือทั้ง 3 แนวคิดเชื่อในเรื่อง Informationaire (Info+Billionaire) คือ ต้องการข้อมูลเยอะ ๆเชื่อในการบริหารจัดการข้อมูลมหาศาล และมองหาประโยชน์ มองเห็นช่องทางในการทำมาหากินจากการมีอยู่ของข้อมูลมหาศาล (Big Data) ประการที่ 2 แนวคิดทั้ง 3 เชื่อในเรื่อง Market Economy Advocate หรือเศรษฐกิจแบบตลาด คือ เชื่อในเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า เชื่อว่าข้อมูลจะต้องถูกไหลเวียน โดยที่มีข้อจำกัดทั้งเชิงกฎระเบียบหรือพรมแดนต่าง ๆ น้อยที่สุด และ ประการสุดท้าย คือ เป็นแนวคิดแบบ Tech Savvy คือ เข้าใจ เข้าถึง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี” อาจารย์วศินชี้ให้เห็นจุดร่วม จากนั้นอาจารย์วศินเล่าต่อถึงความท้าทายที่พบ

The AC/DC Challenge

“จากการอนุวัติดิจิตัล ผมร้อยเรียงเป็นโจทย์ความท้าทาย ผมใช้คำว่า “The AC/DC  Challenge” AC มีประเด็น Algorithmic Politics หรือ เรื่องของการอภิบาลควบคุม Algorithm และ เรื่องของ Computational Propaganda หรือที่เรารู้จักในชื่อของ Disinformation/ Fake News หรือความปั่นป่วนเชิงข้อมูล ทั้งหมดรวมอยู่ในคำว่า Computational Propaganda เพื่อให้มันโยงกับเรื่องของ AI และ Machine Learning ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นพวก Fake News หรือว่าปั่นข้อมูลที่กึ่งจริงกึ่งเท็จและเพื่อหวังประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง โจทย์ความท้าทายที่ 2 ก็คือ Dataveillance คือการ Surveillance บนพื้นที่ออนไลน์ โดย Surveillance จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่มันปรากฏอยู่ และความท้าทายที่สามก็คือ Cybersecurity หรือว่าความมั่นคงทางไซเบอร์และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ

ความท้าทายที่ 1: AC
A-Algorithmic Politics

Challenge ที่ 1 A-Algorithmic Politics กับ C-Computational Propaganda เราทราบกันดีว่าสิ่งหนึ่งที่ AI ทำได้ก็คือสามารถวิเคราะห์แบบแผนข้อมูลซึ่งการวิเคราะห์แบบแผนนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ใช้พื้นที่ออนไลน์ ผู้ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ การใช้โดยผู้ใช้ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การช่วงชิงทรัพยากรข้อมูล ข้อมูลของผู้ใช้อย่างเราจึงกลายเป็นสิ่งที่ทั้งบริษัทหรือบรรษัทเอกชนข้ามชาติใหญ่ ๆ ต้องการ รวมถึงภาครัฐก็ต้องการเช่นเดียวกัน เพราะทั้งบริษัทและภาครัฐต้องการเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แบบแผน ในกรณีของภาครัฐอาจจะต้องการวิเคราะห์เพื่อจัดบริการสาธารณะให้มันดีขึ้น ให้มันสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการทำแบบนี้มันก็ขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองการปกครองด้วย อย่างเช่น ถ้าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราก็อาจจะมองเห็นว่าข้อมูลต่าง ๆ เหล่านั้นมีความโปร่งใสในการตรวจสอบได้ ในประเทศที่อยู่ในระบอบเผด็จการ เมื่อข้อมูลของประชาชนจะถูกเอาไปใช้มักถูกตั้งเป็นคำถาม อย่างเช่น กรณีของประเทศจีน ซึ่งเป็นเคสที่พูดถึงกันเยอะ ทั้งนี้ Algorithmic โดยตัวมันเอง หรือ Algorithm มันอาจจะไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่พอสัมพันธ์กับคำว่า Politics ก็มักจะมีปัญหาและมันนำมาสู่อย่างที่สองที่ผมจะกล่าวถึงก็คือเรื่องของการใส่ Code ให้ Algorithm แล้วมันสามารถจะสร้าง ‘prioritize certain social category’ แบบหนึ่งได้ กล่าวคือ การที่เราจะสร้าง Social Category อย่างหนึ่งได้ เราจะต้อง Include Certain Element ต้องเอาองค์ประกอบบางอย่างเข้ามา แล้วก็ต้อง Exclude องค์ประกอบบางอย่างออกไป มันเป็นเรื่องของการ Inclusion กับ Exclusion การนำเข้ามา แล้วก็การกีดกันออกไปของ Entity ของสิ่งบางอย่างซึ่งผมคิดว่าตรงนี้มันเป็นเรื่องที่การเมืองมาก ๆ เพราะว่ามันโยงไปสู่โจทย์ที่ว่า ปกติเวลาเราจะสถาปนา Social Category อย่างหนึ่งมันจะต้องมีทั้งถ้าพูดแบบ Foucault ก็คือมันต้องถูก Underpin ด้วยทั้งความรู้ ทั้งอำนาจ คราวนี้ถ้า AI ทำ มันก็น่าสนใจ ว่าชุดความรู้ แล้วก็ชุดอำนาจแบบไหน แล้วก็ความสัมพันธ์ของทั้งสองสิ่งที่มันสถาปนา Social Category แบบหนึ่งขึ้นมา แล้วมัน Exclude อะไรออกไป มัน Include อะไรเข้ามา แล้วการ Exclude แล้วก็ Include ในตัวมันเองมันก็เป็นเหมือนการ Prioritize Social Category แบบหนึ่งด้วย อย่างเช่น ถ้าเราให้ AI จัดว่าบุคคลที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนพรรค Democrat ในทางตรงกันข้ามมีลักษณะดังต่อไปนี้สนับสนุน Republican จะทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า Code กับ Algorithm อะไรที่เอาข้อมูลของคนเหล่านี้ไปจัดให้อยู่ใน Social Category ที่เรียกว่ากลุ่มคนสนับสนุน Democrat กับกลุ่มคนสนับสนุน Republican

ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ เรื่องอคติและความรับผิดชอบของสมองกล (Automation-related/Machine bias and accountability) ว่าถ้ามันสามารถที่จะสถาปนา Social Category ได้ แล้วถ้ามันทำจากฐานอคติ เราจะจัดการมันอย่างไร แล้วมันจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบในลักษณะแบบไหน อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรื่อง Googlisation ที่ผมได้เกริ่นไป หากมองไปที่ตัว Search Engine เราจะเห็นชัดเจนว่าใน Search Engine ที่มันมี AI หรือ Machine Learning อยู่ข้างหลังมันตัวแสดงแต่ละตัวมี Visibility ไม่เท่ากัน ถ้าเราเข้าไปใน Google เราจะเห็นว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะแสดงขึ้นเป็นลำดับแรกแรก เป็นต้น อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงตัวแสดงที่เราเห็นใน Search Engine ว่ามีอิทธิพลในพื้นที่ไม่เท่ากัน อีกอย่างหนึ่งเวลาเราใช้ Search Engine เรานึกว่าเราใช้ของฟรีอยู่ แต่เอาเข้าจริง ผมคิดว่าเราจ่ายด้วยข้อมูลส่วนตัวของเรา ซึ่งเขาก็เอาไป Commercialize ได้อีก Commercialize ก็ยังพอเข้าใจได้ ถ้าถูกเอาไปใช้โดยมิชอบ เช่น Hacker มันก็กลายเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง”

 
 “ดังนั้น ยิ่งถ้าเรามีข้อมูลมาก ในโลกปัจจุบัน ในสังคมที่มันมีการอนุวัติดิจิทัลสูง ๆ
ถ้ามีข้อมูลมาก ก็เหมือนมีอำนาจต่อรองมาก อำนาจต่อรองมาก ก็ครอบงำได้มาก”
๏

วศิน ปั้นทอง

“ผมมีตัวอย่างหนึ่งมาเล่าให้ฟังถึงความมหัศจรรย์ของ AI  มีสตูดิโอหนึ่งชื่อ Studio XO โดย Studio XO ได้สร้าง XOX Platform ขึ้นมา ซึ่ง XOX Platform เป็นเหมือนกำไลข้อมือที่ทำมาจากซิลิโคน ให้ผู้ทดลองใช้ใส่ พอใส่กำไลข้อมือจะวัดอารมณ์ วัดความรู้สึก พอวัดเสร็จเขาก็ให้ผู้ทดลองใช้ไปดูคนเดินแฟชั่นโชว์ ตัวกำไลข้อมือก็จะจับอารมณ์ระหว่างที่ผู้ทดลองใช้ดูแฟชั่นโชว์ แล้วในที่สุดมันประมวลผล แสดงอารมณ์ของคนที่อยู่ในสถานที่แสดงแฟชั่นวันนั้น ผมคิดว่าอันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะ Studio XO ใช้ในเรื่องที่เป็นเรื่องแฟชั่น แต่ว่าถ้าเราลองเปลี่ยนเป็นให้คนทั้งหมดใส่กำไลข้อมือแล้วไปฟังนักการเมืองปราศรัย แล้วก็ดูว่าอารมณ์เป็นอย่างไร ผมว่าอันนี้มันจะเปลี่ยนแปลงเรื่องของการทำ Political Campaign อย่างมากเลย อย่างในกรณีนี้เขายังใช้ในพื้นที่ของแฟชั่นโชว์ เรื่องการค้าอยู่ ถ้ามันเข้ามาในพื้นที่การเมือง ก็เป็นโจทย์การทำ Political Campaign” อาจารย์วศินยกตัวอย่าง

  • C- Computational Propaganda

อาจารย์วศินเล่าต่อ “ความท้าทายต่อไปก็เรื่อง Computational Propaganda หรืออีกคำหนึ่งที่ตอนนี้เริ่มอินเทรนด์ คือ Political Astroturfing ซึ่งจริง ๆ ก็พูดถึงเรื่องเดียวกัน เรื่องของการใช้ข้อมูลใน Social Media  ในการเอามาทำวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) เอามา Manipulate หรือว่าควบคุมอารมณ์สาธารณะ เป็นต้น ฟังก์ชันของ Computational Propaganda ก็คือการจงใจใช้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจผิด (the deliberate creation of pseudo journalistic disinformation) ซึ่งเราเห็นมากขึ้น ๆ ในพื้นที่ออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือว่า Twitter แล้วพอมันมีเรื่องของการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเข้าใจผิด มันเลยทำให้การแปะป้าย Fake News ไปใส่สำนักข่าวหรือแหล่งข่าวใด ๆ ก็ตาม มันเลยกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายความชอบธรรมไปด้วย (the instrumentalization of the term to delegitimize news media) อีกอย่าง Computational Propaganda มันเป็นเหมือนวิธีการสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองและทำให้ความแตกแยกทางการเมืองมันแย่ลง (the means to strategically foment political disorder/accelerate political divide) สิ่งที่พูดมาทั้งหมดปรากฏอยู่ทั้งใน Facebook ทั้งใน Twitter และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เรื่องหนึ่งใน Computational Propaganda  ที่ผมสนใจเป็นเรื่องโมเดลการใช้ข่าวลวง เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ state-sponsored computational propaganda เป็นการทำ Computational Propaganda ต่อรัฐอื่น เป็นวิธีการที่รัฐรัฐหนึ่งเผยแพร่ข้อมูลจำนวนมากและหลายช่องทาง (High-volume and multichannel) ไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ทำให้เกิดการกระจายที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง ข่าวปลอมต่าง ๆ จะถูกเสนอย้ำ ๆ จนกระทั่งดูราวกับเป็นเรื่องจริง (Rapid, Continuous, and Repetitive) หลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นว่าการนำเสนอข่าวจะไม่สนข้อเท็จจริง (Lacks commitment to objective reality) และที่สำคัญมันสร้างข่าวลวงทางเลือกให้หลากหลาย (Lacks commitment to consistency)”

  • ความท้าทายในการอภิบาล Algorithm

“ผมคิดว่าเวลาเราพูดถึงการบริหารจัดการ Algorithm เป็นโจทย์เรื่องการบริหารจัดการที่มันยืดหยุ่นเพียงพอหรือเปล่า เพราะ Algorithm มันมาพร้อมกับ Machine Learning มาพร้อมกับความสามารถในการคล้าย ๆ วิวัฒนาการตัวเอง คราวนี้ประเด็นคือเหมือนเรากำลังจัดการกับ Moving Target ที่เป้ามันเคลื่อนไปตลอด เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะใช้กลไกเชิงสถาบัน กฎหมาย นโยบายก็ตามแต่ ต้องยืดหยุ่นเพียงพอ ผมคิดว่าตอนนี้ภาครัฐทั่วโลกก็กำลังให้ความสนใจประเด็นนี้ เนื่องมาจากเราได้ยินคำว่า Gov Lab เราได้ยินคำว่า Open Government เราเห็นรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทำศูนย์ Foresight สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเราจะต้องทำงานกับเป้าที่มันเคลื่อนตลอดเวลา อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องมาตรการตรวจสอบความโปร่งใสของ Algorithm (Algorithmic Transparency) ที่ภาครัฐกับเอกชนจะต้องยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งอันนี้เป็นประเด็นที่ในสหภาพยุโรปกำลัง Debate กันเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน อีกประเด็นที่ผมสนใจคือ ถ้านโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐมันไปทำงานร่วมกันกับเรื่องความมั่นคงและการป้องกันประเทศมันจะเกิดอะไรขึ้น ผลที่เกิดขึ้นก็จะชื่อว่า AI Race ก็คือ มันก็จะมีการแข่งกันในการที่จะสร้าง AI หรือว่าเขียนโปรแกรม AI ที่เข้ามาป้องกันประเทศ ป้องกันประเทศมันมีทั้ง Offensive แล้วก็ Defensive สามารถที่จะตั้งรับก็ได้ หรือทำเชิงรุกก็ได้ ผมว่าตรงนี้ AI Race มันต้องกลายเป็นเหมือน Star Wars ช่วงสงครามเย็น ตอนนี้ถ้ามันเป็น The New Cold War มันก็จะเป็น AI Race และผมก็คิดว่ามันกำลังเกิดขึ้นอยู่ ผมประเมินจากสิ่งที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นความพยายามของสหรัฐอเมริกา และของจีนในตอนนี้”

“เวลาเราพูดถึงการบริหารจัดการ Algorithm … เหมือนเรากำลังจัดการกับ Moving Target
ที่เป้ามันเคลื่อนไปตลอด เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการ
ไม่ว่าจะใช้กลไกเชิงสถาบัน กฎหมาย นโยบายก็ตามแต่ ต้องยืดหยุ่นเพียงพอ”
๏

วศิน ปั้นทอง

ความท้าทายที่ 2: DC

“DC มาจาก Dataveillance กับ Cybersecurity เวลาเราพูดถึงการตรวจตรา Surveillance ในการตรวจตราพื้นที่ Cyber และ Cybersecurity เราจะเห็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งเลยคือภัยคุกคามไซเบอร์มันไร้ตัวตน มันไร้พรมแล้ว มันไร้เวลา มันสามารถถูกโปรแกรม และทำงานปฏิบัติการได้ด้วยตัวของมันเอง เป็น 3 อย่าง ที่มัน Built-in มากับ Cyber Threats ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในบริบทของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภัยคุกคามไซเบอร์มันมาในรูปของการโจมตี Cyber ที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการรบก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะได้ยินเรื่องนี้บ่อยขึ้น คือ สงครามลูกผสม (Hybrid Warfare) และผู้โจมตีก็จะเกี่ยวข้องกับรัฐด้วย ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับรัฐโดยตรง ก็เป็นรัฐไป Sponsor ให้กลุ่มหนึ่งทำการโจมตีแทน เป็นต้น เราเห็นเรื่องของการก่อการร้ายไซเบอร์ ภัยคุกคามไซเบอร์ที่มาในรูปของการโจมตีโดยผู้ก่อการร้าย และอีกอย่างหนึ่งใกล้ตัวพวกเรามาก ๆ เลย คือ อาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งมันยึดโยงอยู่กับความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจ ประเภทของการโจมตีไซเบอร์ที่ศึกษามา ได้แก่ Cybercrime เป็นการโจมตีด้านมิติทางเศรษฐกิจ Cyber Warfare จะเป็นมิติทางการเมือง ส่วนCyberterrorism ก็อยู่กึ่งกลางระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางการเมือง”

การเสนอทางออกของความท้าทาย The AC/DC Challenge

“เราเห็นแล้วว่ามันมีปัญหา AC/DC เกิดขึ้น แล้วเราจะบริหารจัดการปัญหานี้อย่างไร ผมก็เลยคิดว่ามันมีคนเสนอหลายแนวคิดมาก แนวคิดแรก Tentative Governance เป็นแนวคิดที่จะจัดการบริหาร จัดการเทคโนโลยี โดยการอภิบาลขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะเรียนรู้หมายความว่าทำให้การอภิบาลเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง แล้วก็ไม่ได้มีเป้าหมายหรือ Telos สุดท้ายที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่อง Digital Governance , IT Governance และOpen Approach ทั้ง 3 แนวคิดหลังนี้ เป็นการกล่าวถึงการที่ให้ตัวแสดงหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการบริหารจัดการและอภิบาล เทคโนโลยีสมัยใหม่

อย่างไรก็ตามผมว่า Tentative Governance น่าสนใจ แต่ผมก็คิดว่าในขณะเดียวกัน Conclusive หรือว่า Decisive mode of governance ที่มันเคยมีอยู่แบบเดิมก็ไม่ควรจะหายไป ผมก็เลยคิดว่าในการอภิบาลเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทางที่ดีที่สุดควรเป็น Mixed Mode Governance ผมหมายถึง การ Mixed Exploratory mode of  governance ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การใช้ Foresight ในภาครัฐ การทำ Forecast การมองภาพอนาคต การ Explore ทางเลือกต่าง ๆ การทำ Sandbox ของพวกนี้ผมจะจับมันมารวมกันภายใต้คำว่า Exploratory mode of  governance แต่ในขณะเดียวกันมันต้องมีบางอย่างที่ Conclusive โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราพูดถึงประเด็นที่มันจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อย่างเช่น เรื่องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล ผมว่าเรื่องอย่างนี้มันต้อง Conclusive หมายถึงว่ามันต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งในที่นี้คือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น” อาจารย์วศินเสนอ

จากนั้นอาจารย์ธีรพัฒน์สลับเวทีมาหาอาจารย์พบสุขเพื่อเสนอประเด็นที่น่าสนใจ ชวนอาจารย์พบสุขแลกเปลี่ยนความเห็น “จากที่อาจารย์พบสุขอยู่ในแวดวงของการทำวิจัยเกี่ยวกับมุมมองของการใช้เทคโนโลยีในเชิงสร้างสรรค์ของรัฐ จากมุมมองของอาจารย์พบสุขหากถามว่า ภาครัฐใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในทางสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง? อาจารย์จะตอบว่าอย่างไร?”

“สิ่งที่จะนำเสนอในวันนี้ดิฉันแบ่งเป็น 3 เรื่อง เป็นเรื่องของระบบวิจัยและนวัตกรรมในต่างประเทศ เรื่องของนวัตกรรมในการบริหารจัดการภาครัฐและเทคโนโลยีที่รัฐเอามาใช้ ไปเริ่มกันทีเรื่องแรก” อาจารย์พบสุขกล่าวนำ จากนั้นก็เล่าต่อ

“เรื่องแรก ระบบวิจัย และนวัตกรรมในต่างประเทศ จะขอกล่าวถึงงานวิจัยที่ SPP ทำให้กับ สกสว. ก็คือเรื่องการปรับดูแนวทางการทบทวนระบบวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในต่างประเทศ ตอนนี้ได้โจทย์มาว่าให้ไปศึกษาประเทศต่าง ๆ ประเทศที่เลือกมาก็พยายามดูว่าประเทศที่เลือกมามีอะไรบ้างที่เราเอามาเรียนรู้ได้กับไทย ที่คัดเลือกมามีทั้งหมด 7 ประเทศ ใช้เกณฑ์ 3 อย่าง เกณฑ์แรก คือความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถด้านศักยภาพของนวัตกรรม เกณฑ์ที่สอง ดูที่ตัวนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ศึกษาจากเอกสาร เกณฑ์ที่สาม คือ ความสามารถในการเอามาเปรียบเทียบกับไทย

จากการวิจัยพบว่าบางประเทศที่เลือกมามีระบบวิจัยที่ให้ความสำคัญกับทุกศาสตร์ ที่เช่น ประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) เขาเรียกตัวเองว่าเป็น UKRI ที่ตั้งขึ้นใหม่ ก่อนหน้านี้เมื่อปี ค.ศ. 2018 Landscape ของการวิจัย อังกฤษเชื่อว่าตนเองมีจุดแข็งจากการมีระบบวิจัยที่เข้มแข็ง ทำให้อังกฤษอยู่ใน Rank ของ GII ระดับโลก Global Competitiveness อันดับสูง อังกฤษให้เหตุผลว่าตนเองมีสภาวิจัยเฉพาะศาสตร์ เฉพาะสาขาองค์ความรู้ ที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง พูดง่าย ๆ ก็คือ แทนที่จะมีสภาวิจัยเหมือนของเราที่เป็นแบบดูแลหมดทุกศาสตร์อยู่ อังกฤษจะมีสภาวิจัยเฉพาะทางเลย เช่น ESRC เป็นสภาวิจัยเรื่องของเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะเห็นว่าทุกสาขาถูกให้ความสำคัญ มีการมอบรางวัลให้กับสาขาต่าง ๆ ในการวิจัย ทำให้สาขาวิจัยแต่ละสาขามีความเข้มแข็ง ต่อมาหลังปี ค.ศ. 2018 มีการตั้งองค์กรใหม่ที่นำเอา 7 สภาวิจัยเดิมทุกสาขาเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มที่เรียกว่า UKRI (United Kingdom Research and Innovation) เป็นผลมาจากการที่อังกฤษมองเห็นถึงอิทธิพลของประเด็นความท้าทายทางสังคมศาสตร์ อังกฤษวิเคราะห์และมองว่า โลกเรานับวันยิ่งเผชิญกับประเด็นทางสังคมเป็นสำคัญและมีสลับซับซ้อนกันมากขึ้น ทั้งเรื่องของ Climate Change เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เรื่องของความมั่นคงทางการเมือง ความมั่นคงทางอาหาร Cybersecurity และอื่น ๆ ด้วย อังกฤษเห็นว่าแม้ว่าจะมีความเข้มแข็งของแต่ละสาขาก็ดี แต่ต้องการการบูรณาการหรือการทำงานข้ามศาสตร์กันมากขึ้นจึงเกิดการเอาแต่ละสภามาอยู่ภายใต้ร่มของ UKRI รวมถึงให้มีหน่วยงานที่ชื่อว่า Innovate UK มาทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องของการสร้างนวัตกรรมซึ่งจะไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชนแล้ว แต่จะความเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐด้วย ลักษณะเช่นนี้นับว่าเป็นภูมิทัศน์ใหม่ที่เกิดขึ้น ที่อยากจะฉายภาพให้เห็น และอังกฤษยังให้ความสำคัญด้านนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของการส่งเสริมนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ช่วงปี ค.ศ. 2009 อังกฤษมีการปฏิรูปกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างด้าน IT เพื่อที่จะเปิดโอกาสและช่วยส่งเสริมให้ Tech Company หรือ Startup ที่มันเกิดขึ้นใหม่ได้มีโอกาสในการเข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น จากการแก้กฎหมายใหม่และใช้จนถึงปัจจุบัน ทำให้พบว่ามีบริษัทที่สามารถเข้ามาสู่ในการเป็นบัญชีที่เป็น Supplier ให้รัฐได้ 6000 กว่าราย แล้ว 92 % ก็คือเป็น SME ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับการปรับภูมิทัศน์ทั้งหมดจริง ๆ

“ระบบวิจัยและนวัตกรรมในต่างประเทศ …
จะเห็นไดว่าต่างประเทศตั้งโจทย์วิจัยโดยใช้ประเด็นสังคมศาสตร์เป็นตัวนำ
เป็นตัวกำหนด Priority ของการให้ทุนและการกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ”
๏

พบสุข ช่ำชอง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ระบบวิจัยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของต่างประเทศ อยากจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าเวลาที่พูดถึงระบบวิจัยก็จริง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก็จริง แต่ต่างประเทศตั้งโจทย์วิจัยโดยใช้ประเด็นสังคมศาสตร์เป็นตัวนำ เป็นตัวกำหนด Priority ของการให้ทุนและการกำหนดทิศทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตัวอย่างเช่น อังกฤษมีงานด้านสังคมผู้สูงอายุแน่และการพัฒนาที่สะอาด และเรื่องของ Mobility ในอนาคต ทางสิงค์โปร์มีงานศึกษาเรื่องของการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน พอพูดถึงสิงคโปร์ ขอเล่าต่อนิดนึงว่าสิงค์โปร์เป็นประเทศอันดับหนึ่งที่ได้ Ranking ของ Global Competitiveness Index จากการที่เป็นประเทศที่ภาครัฐบริหารจัดการดีมาก ระบบวิจัยของสิงค์โปร์ในตัวบอร์ดของผู้ตัดสินใจด้านนโยบาย ไม่ได้มีเพียงชาวสิงคโปร์ที่ตัดสินใจ เนื่องจากสิงคโปร์เปิดรับ Foreigner ดึงดูด Talent ให้ความสำคัญกับความเป็น Global Citizen และสิงคโปร์ก็รู้ตัวเป็นประเทศขนาดเล็ก ประชากรไม่มาก สิงคโปร์จึงมองว่าทุกคนคือ Global Citizen ที่จะมาช่วยทำงาน บอร์ดก็จะมีคนที่เป็น Well-Known ระดับโลกเข้ามาช่วยคิดเรื่องของระบบวิจัยและนวัตกรรม การทำเช่นนี้ทำให้สิงคโปร์เชื่อมโยงอยู่กับโลกเสมอ เป็นต้น

ประเด็นสุดท้ายในหัวข้อนี้ คือ เรื่องระบบวิจัย ต่างประเทศนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้คนและสังคมในการนำมากำหนดทิศทางด้วยการทำ Foresight เช่น ประเทศอิสราเอล เวลาเรามองเข้าไปบังตัวอิสราเอลเราจะพูดถึงอิสราเอลว่าเป็น Tech Nation มาก ๆ มีการผลิต Startup เยอะ ทำเป็น Digital Company ต่าง ๆ เต็มไปหมดเลย แต่ปรากฏเมื่อรัฐบาลอิสราเอลไปพูดคุยกับประชาชนและพลเมือง พบว่าพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ได้รู้สึกเลยว่าตนอยู่ในประเทศแบบ Technological Country หมายความว่าประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าเขาได้ประโยชน์อะไรจากการที่ประเทศพัฒนาไปในทิศทางนั้น และอีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะการส่งเสริมเรื่องของนวัตกรรมมันกระจุกอยู่แค่ภาคส่วนหนึ่ง ไม่ได้กระจายให้กับทุกภาคส่วน ส่วนที่ประเทศเกาหลี เราจะเห็นว่าประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีสูง ภาคเอกชนบริษัทต่าง ๆ ที่เป็น Big Company ก็เข้ามามีบทบาทเยอะมาก ๆ และเช่นเดียวกันคนเกาหลีไม่ได้เห็นภาพตัวเองเลยว่าการไปลงทุนที่ว่านี้ไปส่งผลอะไรกับวิถีชีวิตเขา เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดการทำ Foresight เป็น Vision 2040 คือรูปที่ได้มาอาจจะไม่ชัด เพราะได้มาจากการประชุมอันหนึ่ง ทางออกคือการทำ Foresight ทำหลายรูปแบบมาก มีทั้ง Survey Online มีทั้งจัดประชุม Focus Group ทำให้สุดท้ายแล้วคนในประเทศเห็นภาพตัวเอง เห็นภาพของการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี เรื่องของนวัตกรรม และเห็นตัวเองอยู่ในนั้นด้วยซึ่งครอบคลุมไปถึงทั้งด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการจ้างงาน ประชาชนเห็นประโยชน์ว่ารัฐและเอกชนที่ลงทุนไปในทิศทางดังกล่าว ประชาชนได้ผลประโยชน์อะไรในอนาคต แต่จุดอ่อนของเกาหลี คือ ผู้คนในปัจจุบันยังมีวัฒนธรรมความเป็นผู้ประกอบการไม่พอ ไม่กล้าเสี่ยง อย่างซีรีย์เรื่อง Startup ออกมา ก็เป็นการสร้างความเชื่อทางอ้อมให้คนในเกาหลีซึ่งเป็นวิธีแยบยลมาก สิ่งที่อยากจะเน้นคือภาคสังคมศาสตร์มันเชื่อมโยงกับการคิดเรื่องของการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม”

อาจารย์พบสุขเริ่มประเด็นถัดมา “ในเรื่องของนวัตกรรมในการบริหารจัดการภาครัฐ ประเด็นแรกคือเรื่องของ City Lab และการเกิดขึ้นของตำแหน่งงานใหม่ในอังกฤษ เรียกว่าเป็น Policy Designer หรือ Service Designer ในหน่วยงานภาครัฐ สำหรับหน้าที่ของ Policy Designer ในระดับส่วนกลางและระดับกระทรวง คือ ออกแบบนโยบายการจัดบริการสาธารณะแบบใหม่ ในระดับเมืองและระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นเหมือนที่ปรึกษา เหมือนเป็นคนที่มีความรู้มาช่วยเราออกแบบการจัดบริการสาธารณะแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น เรื่องการจัดการขยะด้วยการรีไซเคิล City Labใช้เทคโนโลยี ใช้ข้อมูล เปรียบเทียบการจัดการกับประเทศอื่น

ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองที่เป็นประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่องของการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในเมืองด้วย เช่น เมือง Montréal ประเทศแคนนาดา รองนายกเทศมนตรีประจำเมือง แนวคิดผลักดัน Street Arts จนทำให้ Montréal เป็นเมืองที่ถูกนำมาจัดเป็น Festival Street Arts เป็นประจำ ทำให้คนรู้สึกว่า Montréal  เป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ น่าอยู่ รู้สึกว่าเมืองมันมีชีวิตชีวา จนทำให้ Tech Company สนใจที่จะเข้าไปลงทุน ไปตั้งฐานบริษัท หรืออย่างสิงค์โปร์ เขามี Message หนึ่งที่ทำจนสำเร็จ จากการที่สิงคโปร์สร้างประเทศให้ Green City แล้วขยับมาสู่การเป็น City in the Garden จะเห็นว่าเมืองให้ความสำคัญการดูแลภูมิทัศน์ต่าง ๆ ความสำเร็จของทั้ง 2 ตัวอย่างมีที่มาจากการที่ผู้นำหรือผู้มีอำนาจของรัฐมีการสื่อสารที่ดีจนทำให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือทำตามจนสำเร็จ”

“ความสำเร็จของการใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองมีที่มาจากการที่ผู้นำหรือผู้มีอำนาจของรัฐ
มีการสื่อสารที่ดีจนทำให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือทำตามจนสำเร็จ”
๏

พบสุข ช่ำชอง

ประเด็นสุดท้ายในหัวข้อนวัตกรรมภาครัฐจะขอกล่าวถึง Article ของ Peter John ที่มีเนื้อหาเสนอว่า การสร้างนวัตกรรมเป็นความพยายามในการอยู่รอด หรือกล่าวได้ว่านวัตกรรมมีที่มาจากวิกฤตหรือปัญหาอะไรบางอย่างและนวัตกรรมอาจเทียบได้กับความพยายามในการยืดหยุ่นปรับตัว Resilient ขององค์กรนั้น ๆ ด้วย ขอยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ มีช่วงหนึ่งที่อังกฤษเผชิญหน้ากับการเป็นยุคของ Austerity ที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด ตัดลดค่าใช้จ่าย ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายส่งผลลงไปสู่ท้องถิ่น กรณีศึกษานี้มีความคล้ายกับไทยมาก ๆ ตรงที่การจัดการท้องถิ่นจำเป็นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐส่วนกลางอยู่ค่อนข้างสูง การที่รัฐต้องรัดเข็มขัด ส่วนท้องถิ่นจึงเกิดเดือดร้อนไปด้วย ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมีความรุนแนงมาถึงขั้นต้องตัดหรือลดบริการสาธารณะบางอย่างกับประชาชน เช่น ปิดห้องสมุดวันเสาร์-อาทิตย์ซึ่งคนอังกฤษส่วนมากใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่ทำทุกอย่างในชีวิต ทั้งเลี้ยงลูกหรือพาลูกไปสันทนาการ การปิดห้องสมุดที่เป็นหนึ่งใน Frontline Service ต่าง ๆ นำมาสู่นวัตกรรมตัวหนึ่งที่เรียกว่าเป็น Shared Services หรือการจัดบริการสาธารณะร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การ Shared Services หากพูดอย่างง่าย คือ การทำบริการสาธารณะร่วมกัน หรือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่อยากให้เห็นวถึงความพยายามในการเป็นแบบ Resilient ของเขาในการที่จะสู้กับเรื่องของ Austerity การเกิดวิกฤติบางอย่างทำให้ต้องคิดนวัตกรรมขึ้นมา ทั้งหมดที่อยากเล่าก็ประมาณนี้”

เรียกได้ว่าการเสวนาในครั้งนี้มีทั้งความตื่นเต้นกับประเด็นที่ท้ายทายของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมความถึงการจัดการภาครัฐสมัยใหม่ไปพร้อมกับความรู้ทางวิชาการที่อัดแน่นสมเป็นของขวัญส่งท้ายปี 2563 จาก STS Cluster Thailand สำหรับการเสวนาครั้งต่อไปจะเป็นการเสวนาเรื่องอะไรนั้น STS Cluster Thailand ฝากให้ทุกคนติดตามดังเช่นเคย รับรองว่าสนุกไม่แพ้การเสวนาครั้งที่ผ่านมาอย่างแน่นอน.

ดูคลิปเสวนาได้ที่ >>> https://fb.watch/3K2Tm9F3RQ/

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s